bih.button.backtotop.text

เมื่อการรักษาไม่คืบหน้า มาทำความรู้จักข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดกัน

โรคของกระดูกสันหลังส่วนใหญ่สามารถหายได้ด้วยวิธีการไม่ผ่าตัด หากใช้วิธีรักษาที่เหมาะสมและไม่ทิ้งไว้นานจนเกินไป แต่เมื่อพยายามเต็มที่แล้วอาการก็ไม่ดีขึ้น อาจจะถึงเวลามองหาทางเลือกเช่นการผ่าตัดดูบ้าง วันนี้ผมเลยจะมาชวนคุยเรื่องข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดกันครับ
 
ข้อบ่งชี้การผ่าตัดคืออะไร
ข้อบ่งชี้การผ่าตัดก็คือหลักเกณฑ์ อาการ หรือผลการตรวจที่แพทย์ใช้ช่วยในการตัดสินใจว่าการผ่าตัดมีความจำเป็นแล้ว เพราะถึงจุดหนึ่งหากทิ้งไว้นานอาจแก้ไม่หายหรืออาจมีอันตรายอย่างอื่นตามมาได้

ข้อบ่งชี้สำคัญของการผ่าตัดกระดูกสันหลังที่พบได้บ่อยมีอยู่หลักๆ สองอย่างครับ อย่างแรกคือเมื่อเส้นประสาทโดนกดทับจนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติแล้ว โดยอาการสำคัญที่บ่งบอกมักจะแสดงให้เห็นเป็นอาการอ่อนแรงกล้ามเนื้อแขนขา ยกไม่ค่อยขึ้นหรือมีอาการชาตลอดเวลา

องค์ประกอบสำคัญของการตัดสินใจผ่าตัดมีอยู่ 3 อย่าง อย่างแรกคืออาการที่คนไข้เล่า อย่างที่สองคือผลการตรวจร่างกายด้วยมือ และอย่างสุดท้ายคือผลการตรวจเอ็กซเรย์หรือ MRI ซึ่งจะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปไม่ได้เลย แพทย์จะใช้ข้อมูลเหล่านี้มาประกอบกันแล้วจึงจะตัดสินใจว่าจำเป็นจะต้องผ่าตัดหรือไม่ ถ้าต้องผ่าตัดแล้วจะผ่าอย่างไรดีให้ประสบความสำเร็จที่สุด และเสี่ยงน้อยที่สุด

อาการเจ็บปวดรุนแรงไม่ได้แปลว่าจำเป็นต้องผ่าตัดเสมอไป

iStock-1320869219.jpg
การฉีดสเตียรอยด์เข้าโพรงประสาทเป็นตัวเลือกที่ดีในการระงับปวดเมื่อยังไม่มีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด


อาการปวดจากโรคกระดูกสันหลัง โดยเฉพาะโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทในช่วงเริ่มต้น มักมีอาการปวดที่รุนแรงมากเนื่องจากหมอนรองกระดูกอยู่ชิดกับเส้นประสาท เมื่อเกิดอาการอักเสบขึ้นอาการเจ็บจะรุนแรงกว่าอาการเจ็บแผลทั่วไปมาก ถึงขั้นที่ว่าลุกก็ลุกไม่ไหว คลานก็ยังลำบาก บางรายอาจถึงกับต้องเรียกรถพยาบาลกันเลย แต่ใจเย็นๆ ก่อนนะครับ การอักเสบที่ว่านี้ส่วนใหญ่แล้วหายไปได้เองตามธรรมชาติ โดยทั่วไปไม่เกิน 1-2 เดือน และหากได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมก็อาจหายได้เร็วกว่านั้นอีก ดังนั้นเมื่ออาการปวดเพิ่งเริ่มมาไม่นานและไม่มีข้อบ่งชี้ที่ต้องผ่าตัดเร่งด่วน เราจะเริ่มต้นการรักษาแบบที่ไม่ต้องผ่าตัดก่อนเสมอนะครับ
 

อาการแบบไหนจำเป็นต้องผ่าอย่างแน่นอน ยิ่งรอยิ่งเสียโอกาส

spine.jpg
กระดูกสันหลังที่แตกจนไปกดทับไขสันหลังเป็นข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดอย่างเร่งด่วนอันหนึ่ง ยิ่งทิ้งไว้นานโอกาสสำเร็จจะน้อยลงเรื่อยๆ
 
spine-2.jpg

โรคหมอนรองกระดูกทับไขสันหลังในผู้ใหญ่แบบที่เป็นอย่างช้าๆ มักไม่มีอาการปวดแต่ทำให้เดินเซ รายนี้เนื่องจากตรวจพบเร็วและได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูกผ่านกล้องจุลทรรศน์จึงสามารถกลับบ้านได้ทันทีในวันรุ่งขึ้น


โรคที่เกิดอย่างปุบปับฉับพลัน จนทำให้เกิดการทับเส้นประสาทที่รุนแรงรวดเร็วจนไม่มีเวลาให้มันปรับตัว อาการก็จะแย่ลงอย่างรวดเร็วได้ เช่น กระดูกสันหลังหักจากอุบัติเหตุจราจรจนเกิดการทับไขสันหลัง หรือโรคหมอนรองกระดูกปลิ้นทับเส้นประสาทที่ก้อนใหญ่มากๆ จนทำให้เกิดอาการชารอบก้น และขับถ่ายปัสสาวะอุจจาระไม่ได้ อาการพวกนี้จัดเป็นข้อบ่งชี้การผ่าตัดที่เร่งด่วนเพราะอาการเหล่านี้หากปล่อยทิ้งไว้อาจนำไปสู่ภาวะอัมพาต หรือทุพพลภาพที่ส่งผลต่อชีวิตประจำวันได้มากนั่นเอง

อาการอีกแบบที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ อาการชา แขนขาเกร็ง เดินเซ ทรงตัวไม่อยู่ อาการเหล่านี้จริงๆ แล้วร้ายกว่าอาการปวดเพราะคนไข้มักจะไม่ค่อยทรมาน และมักจะรอจนอาการเป็นหนักเสียก่อนจึงมาพบแพทย์ กรณีนี้หากตรวจยืนยันจาก MRI แล้วว่ามีไขสันหลังกดทับ ก็ควรตัดสินใจผ่าตัดเช่นกันแม้จะไม่เร่งด่วนเช่นกรณีอุบัติเหตุรุนแรง หรือกรณีปัสสาวะอุจจาระไม่ออก เพราะหากทิ้งไว้นานก็เสี่ยงที่จะเกิดอัมพาตได้เช่นกัน
 

อาการแบบไหนพอรอได้

อาการปวดเส้นประสาทร้าวลงแขนหรือขาจากโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หรืออาการปวดหลังจากกระดูกสันหลังหักยุบจากภาวะกระดูกพรุน โรคเหล่านี้หากเป็นมาไม่นานผมจะให้ลองการรักษาแบบไม่ผ่าตัดก่อนเสมอเพราะมีโอกาสที่จะหายเองตามธรรมชาติสูง หากไม่หายแล้วจึงค่อยมาคิดรักษาด้วยการส่องกล้องแผลเล็กกัน
 

อย่ารอให้สายไป
 

iStock-1276561999.jpg
แม้โรคกระดูกสันหลังไม่ใช่โรคที่อันตรายถึงชีวิต แต่ก็สามารถลดทอนคุณภาพชีวิตได้อย่างมาก จนอาจทำให้หมดสนุกกับกิจกรรมที่เคยรักได้ การเริ่มการรักษาอย่างตรงจุดตั้งแต่เนิ่นๆ ช่วยทำให้การกลับคืนสู่ชีวิตปกติเป็นไปได้ง่ายขึ้น


การผ่าตัดช่วยรักษาโรคด้วยการที่หมอเข้าไปเอาสิ่งที่กดทับเส้นประสาทหรือไขสันหลังออก หรือเข้าไปยึดตรึงกระดูกด้วยสกรูเพื่อให้กระดูกที่แตกหักเกิดความแข็งแรงไม่เคลื่อนไปทับเส้นประสาท แล้วรอให้เส้นประสาทได้ฟื้นตัวเองตามธรรมชาติ ดังนั้นเมื่อเกิดการทับเส้นประสาทขึ้น ยิ่งเราไปคลายการกดทับเส้นประสาทได้เร็วเท่าไรก็ยิ่งเพิ่มโอกาสให้เส้นประสาทได้ฟื้นตัวดีขึ้นเท่านั้น

อาการปวดเรื้อรังถึงแม้ไม่อันตรายมากมาย แต่ก็สามารถลดทอนคุณภาพชีวิต และทำให้สุขภาพจิตเสียได้เหมือนกัน หากคุณหรือคนใกล้ตัวมีอาการปวดที่เรื้อรังจะสามารถสังเกตได้ว่าอาการปวดส่งผลกระทบต่ออารมณ์ ทำให้หงุดหงิดง่าย การตัดสินใจเรื่องต่างๆ ไม่เฉียบขาด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคนใกล้ตัวหรือครอบครัวได้เช่นกัน
 

ภาพ MRI ผิดปกติ ผ่าเพื่อป้องกันดีหรือไม่
 
iStock-1205789521.jpg
ตัดสินใจผ่าตัดเราจะใช้การเชื่อมโยงข้อมูลที่คนไข้เล่า, ผลการตรวจร่างกายด้วยมือแพทย์
และผล x-ray หรือ MRIประกอบกันเสมอเพื่อให้แน่ใจว่าการผ่าตัดมีความจำเป็นและจะได้ผลสำเร็จจริงๆ


อย่างที่กล่าวไปข้างต้น องค์ประกอบ 3 อย่างในการพิจารณาการผ่าตัดทั้งอาการ, ผลการตรวจร่างกายและภาพ MRIเป็นเรื่องสำคัญมาก หากข้อมูลทุกอย่างสอดคล้องกันเป็นอย่างดี โอกาสผ่าตัดสำเร็จก็จะสูงตามไปด้วย  ดังนั้นการผ่าตัดตามภาพ MRIที่ผิดปกติเพียงอย่างเดียวโดยที่ไม่มีอาการเลยจึงเป็นเรื่องไม่จำเป็นและไม่สมควรอย่างยิ่ง
  

ความเสี่ยงของการผ่าตัดเป็นอย่างไรมีเทคโนโลยีการผ่าตัดอะไรที่ช่วยลดความเสี่ยงในการผ่าตัดบ้าง
 
spine-3.jpg
ห้องผ่าตัดที่ผ่านมาตรฐานระดับโลกด้วยคะแนนสูงลิ่ว ทีมผ่าตัดที่มีความชำนาญเฉพาะทางกระดูกสันหลัง รวมถึงอุปกรณ์ล้ำหน้าอย่างเครื่องคอมพิวเตอร์สามมิติและกล้องส่องผ่าตัดเป็นองค์ประกอบสำคัญงที่ทำให้การผ่าตัดที่บำรุงราษฎร์เป็นไปอย่างราบรื่น

ยังต้องย้ำกันเสมอครับว่าสิ่งที่สำคัญกว่าอะไรทั้งหมด ก็คือการตัดสินใจผ่าตัดในช่วงเวลาที่เหมาะสมและเมื่อมีข้อบ่งชี้ที่จำเป็น นั่นจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้การผ่าตัดประสบความสำเร็จนะครับ

โรคกระดูกสันหลังและการผ่าตัดมีความหลากหลายมาก ดังนั้นเรื่องจะได้คุ้มเสียหรือไม่จะต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป แต่ในภาพรวมแล้วการผ่าตัดที่บำรุงราษฎร์นี้เรามีเทคโนโลยีมากมายที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยเช่น กล้องเอ็นโดสโคป, กล้องจุลทรรศน์ หรือ เครื่องคอมพิวเตอร์นำวิถี 3 มิติ ห้องผ่าตัดที่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยระดับโลก รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็จะเป็นทีมที่ชำนาญในการผ่าตัดกระดูกสันหลังทั้งหมดด้วย 
 

การขอความเห็นที่สองจากแพทย์ท่านอื่นเป็นเรื่องดี
การตัดสินใจผ่าตัดหากไม่ใช่กรณีเร่งด่วนมากๆ มักจะมีความซับซ้อนในการตัดสินใจและมีหลายมิติให้พิจารณาเสมอ จึงเป็นเหตุผลที่แพทย์แต่ละท่านให้ความเห็น และตัดสินใจรักษาโรคเดียวกันไม่เหมือนกันได้ ดังนั้นการขอความเห็นที่สองจากแพทย์อีกท่าน (หรืออีกหลายท่าน) อาจได้มุมมองใหม่ๆ ทางเลือกใหม่ๆ ให้พิจารณาได้นะครับ การขอความเห็นที่สองเป็นเรื่องที่ทำกันอยู่เป็นปกติไม่ต้องกังวลว่าหากแพทย์ท่านแรกทราบจะไม่สบายใจนะครับ
การตัดสินใจผ่าตัดนอกจากเราจะต้องพิจารณาข้อบ่งชี้ของการผ่าตัดแล้ว เราจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยแวดล้อมต่างๆ อีกหลายประการด้วย ที่บำรุงราษฎร์ผู้ป่วยที่จะเข้ารับการผ่าตัดจะได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มแพทย์ที่ชำนาญทั้งการผ่าตัดและไม่ผ่าตัด เพื่อช่วยเพิ่มความปลอดภัยและมั่นใจได้ว่าคนไข้จะได้รับการรักษาที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุดจริงๆ ผมหวังว่าบทความวันนี้จะช่วยให้ท่านผู้อ่านมีความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับเรื่องการตัดสินใจผ่าตัดบ้างนะครับ

 

เกี่ยวกับผู้เขียน

  DrWithawin.jpg

หมอเข้ม หรือ น.พ. วิธวินท์ เกสรศักดิ์ เรียนจบเฉพาะทางทางด้านประสาทศัลยศาสตร์ ที่ร.พ. รามาธิบดี และได้ไปเรียนต่อยอดด้านการผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยการส่องกล้องเอ็นโดสโคปที่ประเทศเยอรมนี และประเทศอังกฤษ ปัจจุบันนอกจากหมอเข้มจะทำงานเป็นศัลยแพทย์ด้านกระดูกสันหลังประจำที่ร.พ.บำรุงราษฎร์ แล้วยังเป็นแพทย์ผู้ฝึกสอนการผ่าตัดด้วยเทคนิคเอ็นโดสโคปในประเทศเยอรมนี และเป็นผู้บรรยายอิสระให้กับ AOspine ซึ่งเป็นองค์กรการศึกษาแบบไม่แสวงผลกำไรในระดับนานาชาติอีกด้วย


 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แก้ไขล่าสุด: 21 มิถุนายน 2565

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs