bih.button.backtotop.text

โรคไข้เลือดออกในเด็ก

เมื่อลูกป่วยเป็นไข้เลือดออก คุณพ่อคุณแม่หลายคนคงเกิดอาการใจเสียอยู่ไม่น้อย เพราะเคยได้ยินมาว่า โรคไข้เลือดออก ทำให้เสียชีวิตได้ อย่างไรก็ดีแม้จะฟังดูน่ากลัว แต่การได้รับการดูแลรักษาตั้งแต่เริ่มแรกอย่างใกล้ชิดในทุกช่วงของอาการก็จะช่วยให้พ้นจากระยะวิกฤติได้ 

โรคไข้เลือดออก (dengue hemorrhagic fever หรือ dengue shock syndrome) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกเดงกี (dengue virus) ซึ่งมีอยู่ 4 สายพันธุ์ จัดอยู่ในกลุ่ม flavivirus และสามารถแพร่ได้โดยมียุงลายเป็นพาหะ ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าสถานการณ์ระบาดของไข้เลือดออกในหลายประเทศโดยเฉพาะในเขตร้อนจะรุนแรงขึ้น โดยส่วนหนึ่งเนื่องมาจากภาวะโลกร้อนทำให้ยุงแต่ละชนิดสามารถแพร่พันธุ์ได้มากขึ้น

สิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรทราบเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกก็คือ อาการต่างๆ ที่ทำให้สงสัยว่าลูกอาจเป็นไข้เลือดออก โดยอาการของโรคแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ

  • ระยะแรก (ระยะไข้สูง) ระยะนี้มักไม่ค่อยมีอาการจำเพาะ เด็กจะมีไข้สูงและเป็นหลายวัน (ประมาณ 5-6 วัน) โดยอาจมีอาการหวัด ปวดเมื่อยตัว คลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย ในช่วงฤดูไข้เลือดออก หากลูกมีไข้สูงหลายวัน คุณพ่อคุณแม่ควรนึกถึงการติดเชื้อไข้เลือดออกด้วยเสมอ ควรพาลูกไปพบแพทย์ ไม่ควรพยายามรักษาเอง และควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาลดไข้ประเภทแอสไพรินและไอบูโพรเฟน ซึ่งอาจทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหารและเกิดปัญหาเลือดออกในกระเพาะอาหาร รวมถึงเลือดไม่แข็งตัวเมื่ออาการของไข้เลือดออกเป็นรุนแรงถึงขั้นระยะช็อกได้
  • ระยะวิกฤติ (ระยะ 3 วันอันตราย อาจเสี่ยงกับอาการช็อกได้) ผู้ป่วยมักมีไข้มาแล้วหลายวัน อาการทั่วไปจะดูเพลียมากขึ้น อาจมีอาการปวดเมื่อยตัวมากขึ้น รวมถึงมีอาการปวดท้อง ท้องอืด เบื่ออาหาร ผิวหน้า-ฝ่ามือ-ฝ่าเท้าดูแดงๆ ในช่วงนี้เด็กบางคนอาจพูดคุยได้ดี แต่ก็ยังต้องคอยตรวจวัดชีพจรและความดันโลหิตเป็นช่วงๆ บ่อยๆ ร่วมกับดูปริมาณน้ำและอาหารที่รับประทานเข้าไปเทียบกับปริมาณปัสสาวะที่ออกมาในแต่ละช่วงของวัน ในบางรายอาจมีอาการท้องอืดมากขึ้น กระสับกระส่าย ปลายมือปลายเท้าเย็น ร่วมกับไข้ที่ลดลงเป็นอุณหภูมิปกติ ซึ่งอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจผิดว่าเด็กกำลังจะหายจากไข้เลือดออกแล้ว ทั้งๆ ที่เด็กอาจกำลังเข้าสู่ระยะช็อกที่จะมีความรุนแรงตามมาในอีกไม่กี่ชั่วโมงนี้ก็ได้
  • ระยะฟื้นตัว เป็นระยะหลังไข้ลงโดยไม่มีอาการช็อก โดยเกล็ดเลือดจะเริ่มกลับสูงขึ้น ชีพจรและความดันโลหิตเริ่มคงที่ดีขึ้น ปัสสาวะเริ่มออกมากขึ้น การไหลเวียนของเลือดและน้ำเหลืองที่เคยซึมรั่วไปอยู่ในส่วนอื่นๆ ของร่างกายกลับเข้าสู่ระบบการไหลเวียนของเลือดเพิ่มขึ้น ทำให้อวัยวะต่างๆ เริ่มทำงานเป็นปกติ จากนั้นในอีก 48-72 ชั่วโมงต่อมาจะเข้าสู่ระยะที่เรียกว่าหายเป็นปกติ ผู้ป่วยจะเริ่มมีความอยากอาหารบ้าง อาการปวดท้องและท้องอืดจะดีขึ้น รู้สึกมีแรงมากขึ้น มักพบผื่นแดงและคันตามฝ่ามือและฝ่าเท้าโดยไม่มีการลอกตัวของผิวหนัง

ในส่วนของการรักษา แพทย์จะทำการประเมินอาการของผู้ป่วยบ่อยๆ และทำการตรวจเลือดแบบทั่วไป (complete blood count: CBC) และดูค่าความเข้มของเม็ดเลือดแดง (haematocrit: Hct) เพื่อดูว่าผู้ป่วยมีจำนวนเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดสูงต่ำมากน้อยแค่ไหน รวมถึงตรวจดูความผิดปกติของระดับเอนไซม์ตับ คือ AST และ ALT ซึ่งจะช่วยบ่งบอกถึงความรุนแรงของโรคได้พอสมควร หากผู้ป่วยมีเม็ดเลือดแดงเข้มข้นขึ้น มีจำนวนเกล็ดเลือดลดต่ำลงมาก (จากหลายแสนลดลงเหลือเพียงไม่กี่หมื่น) ร่วมกับมีชีพจรเบาเร็ว ความดันโลหิตต่ำ กระสับกระส่ายหรือซึมลง ปัสสาวะออกน้อยลง นั่นอาจเป็นตัวบ่งชี้ว่าผู้ป่วยมีโอกาสเข้าสู่ระยะช็อกได้ในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อจากนี้ แพทย์จะทำการย้ายผู้ป่วยไปยังห้องไอซียูเพื่อให้การดูแลอย่างใกล้ชิด และเตรียมการให้เลือดหรือสารน้ำเกลือที่จำเป็นเพื่อรักษาอาการช็อกจากการเสียเลือดภายในร่างกายที่เกิดจากภาวะไข้เลือดออกให้ทัน จนกว่าผู้ป่วยจะหายจากภาวะช็อก ซึ่งมักใช้เวลาอย่างน้อย 48-72 ชั่วโมงขึ้นไป

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกสาวอยู่ในช่วงวัยรุ่นที่มีประจำเดือนแล้วและป่วยเป็นไข้เลือดออก บางรายอาจมีประจำเดือนออกมามากได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนว่าลูกกำลังจะมีประจำเดือนหรือไม่ ในกรณีที่จำเป็นแพทย์อาจพิจารณาให้ฮอร์โมนเพื่อเลื่อนการมีประจำเดือนออกไปให้พ้นระยะวิกฤติจากไข้เลือดออกไปก่อน เช่นเดียวกับเด็กที่มีปัญหาด้านโรคเลือดบางอย่าง เช่น ภาวะเลือดออกง่าย เพิ่งได้รับการรักษามะเร็งเม็ดเลือด ก็เป็นกลุ่มที่ต้องดูแลรักษาด้วยความระมัดระวัง เพราะเมื่อเข้าสู่ระยะวิกฤติของไข้เลือดออกอาจเกิดความรุนแรงได้มาก

ทั้งนี้ในปัจจุบันยังไม่มียาที่สามารถกำจัดเชื้อไข้เลือดออกได้ การป้องกันไข้เลือดออกมีเพียงวิธีเดียวคือการป้องกันไม่ให้ยุงกัด แต่ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่อาจพอทำได้เพื่อลดประชากรยุงในบริเวณที่อยู่อาศัย ได้แก่ การหมั่นปราบยุง ลดแหล่งน้ำที่จะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุง ใช้มุ้งหรือติดตั้งมุ้งลวดกันยุง พ่นยาปราบยุง

อย่างไรก็ดี ในช่วงฤดูไข้เลือดออกหากลูกมีอาการไข้สูงหลายๆ วัน คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรพาลูกมาพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้อง เพราะหากล่าช้าเกินไป ผู้ป่วยอาจมีภาวะช็อกและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ในที่สุด


เรียบเรียงโดย นพ.ประสงค์ พฤกษานานนท์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อในเด็ก ศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กรุงเทพ

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แก้ไขล่าสุด: 18 พฤศจิกายน 2567

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs