อะไรเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก
กว่า 99 เปอร์เซ็นต์ของมะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อเอชพีวี (Human papilloma virus infection) สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง และผู้หญิง 4 ใน 5 คนมีโอกาสติดเชื้อเอชพีวีในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งของชีวิต เอชพีวีสายพันธ์ที่มีความเสี่ยงสูงในการก่อให้เกิดโรคมะเร็งมีอยู่ประมาณ 14 สายพันธุ์ด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายพันธุ์ 16 และสายพันธุ์ 18 ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูกถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ผู้หญิงที่ติดเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ 16 และ 18 จะมีโอกาสพัฒนาเป็นมะเร็งปากมดลูกได้มากกว่าคนที่ไม่ติดเชื้อเอชพีวีถึง 35 เท่า
ป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกได้อย่างไร
การติดเชื้อมะเร็งปากมดลูกเป็นหนึ่งในมะเร็งไม่กี่ชนิดที่สามารถป้องกันได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์โดยหลีกเลี่ยงไวรัสเอชพีวีที่ติดต่อทางการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งสามารถทำได้โดยการฉีดวัคซีนเอชพีวีเพื่อป้องกันการติดเชื้อและการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเพื่อหาเชื้อและทำการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆก่อนที่จะลุกลามกลายเป็นมะเร็ง โรคมะเร็งปากมดลูกนี้จะไม่แสดงอาการจนกว่าโรคจะพัฒนาไปถึงขั้นร้ายแรง โดยระยะเวลาตั้งแต่ติดเชื้อจนเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็งนั้นอาจใช้เวลา 10-15 ปี ดังนั้นผู้หญิงจึงควรตรวจคัดกรองเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์
วิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทำได้อย่างไรบ้าง
ในปัจจุบันทางโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอยู่ 2 วิธีด้วยกัน ดังนี้
- Liquid Based Pap test วิธีการนี้ใช้ทดแทนการตรวจ Pap Smear แบบดั้งเดิม เพราะมีความไวในการตรวจเจอโรคมากกว่า หลังจากแพทย์เก็บเซลล์บริเวณปากมดลูกแล้ว จะส่งตัวอย่างเซลล์ไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อกำจัดมูกเลือดด้วยน้ำยาก่อนที่จะป้ายตัวอย่างลงบนแผ่นสไลด์เพื่อตรวจหาเซลล์ผิดปกติ ทำให้มีความไวในการตรวจเจอโรคถึง 74 เปอร์เซ็นต์ แนะนำให้มาตรวจซ้ำทุก 1-2 ปี
- HPV DNA Test เป็นวิธีการตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวีที่ลงลึกถึงระดับดีเอ็นเอ สามารถระบุได้ถึงสายพันธุ์ของเชื้อเอชพีวีที่เสี่ยงสูงทั้ง 14 สายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ 16 และสายพันธุ์ 18 ทำให้สามารถป้องกันและรักษาเชื้อเอชพีวีได้ วิธีนี้มีความแม่นยำสูง ยิ่งหากมีการตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวีร่วมกับการทำ Liquid Based Pap Test จะเพิ่มความแม่นยำในการตรวจเจอรอยโรคได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ และสามารถเว้นการตรวจซ้ำได้ถึง 3 ปี
เรียบเรียงโดย
ผศ.นพ.พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์ สูตินรีแพทย์ ศูนย์สูตินรีเวช โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 11 พฤษภาคม 2565