bih.button.backtotop.text

มะเร็งเต้านม: รู้ไว้... ไกลโรค

คำว่า “มะเร็ง” นั้นเป็นคำที่น่ากลัวเสมอ แต่บรรดาสุภาพสตรีอาจจะหวาดกลัวคำว่า “มะเร็งเต้านม” เป็นพิเศษ เพราะถือเป็นมะเร็งที่บั่นทอนความเป็นสตรีโดยเฉพาะ ทว่าสุภาพบุรุษทั้งหลายก็มีโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมเช่นกัน แม้จะน้อยกว่ามากก็ตาม โดยโอกาสที่ผู้ชายสุขภาพดีจะเป็นมะเร็งชนิดนี้นั้น อยู่ที่ 1 คนจากทุกๆ 1,000 คน เทียบกับ 1 คนจากทุกๆ 8 คนในผู้หญิง

 
ด้วยความที่เต้านมอยู่ใกล้กับต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้และอวัยวะสำคัญอย่างปอด โอกาสแพร่กระจายอันนำไปสู่การเสียชีวิตจึงมีสูงมาก แต่การรณรงค์ให้ความรู้เรื่องการคลำหาก้อนเนื้อผิดปกติที่เต้านม และคำแนะนำให้ผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เข้ารับการตรวจแมมโมแกรมหรืออัลตราซาวด์มะเร็งเต้านมเป็นประจำทุกปี หรืออาจเริ่มตั้งแต่อายุ 30 ปีหากมีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านมก่อนวัยหมดประจำเดือน ก็ทำให้อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยสูงขึ้นมาก ตัวเลขจากสหรัฐฯ ระบุว่าอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมนั้นลดลงไปถึง 1 ใน 3 ในรอบยี่สิบปีที่ผ่านมา (จาก 29.4 ต่อผู้หญิง 100,000 คนต่อปีในค.ศ. 1996 เป็น 20.0 ต่อผู้หญิง 100,000 คนต่อปีในค.ศ. 2016)


ปัจจุบัน อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ระยะเวลาห้าปี (ถือว่ารักษาหายขาด) ถือว่าสูงเป็นอันดับต้นๆ ในบรรดาโรคมะเร็งชนิดต่างๆ คือมากถึงร้อยละ 89.9 เลยทีเดียว (สถิติจากปี 2009 – 2015) แม้วิธีการรักษาอันดับแรกจะยังคงเป็นการผ่าตัด ปัจจุบันนี้แพทย์ก็มักใช้วิธีผ่าตัดออกเพียงบางส่วนเพื่อสงวนเต้านมไว้ (lumpectomy) แทนที่จะตัดเต้านมทั้งหมด (mastectomy) และในกรณีที่จำเป็นต้องตัดเต้านมทั้งหมด ผู้ป่วยก็อาจสามารถเข้ารับการผ่าตัดเพื่อใส่เต้านมเทียมหรือปลูกถ่ายเนื้อเยื่อเพื่อแก้ไขได้ การฉายรังสีและเคมีบำบัดยังมีบทบาทสำคัญเช่นกัน โดยความก้าวหน้าทางการแพทย์ก็ช่วยลดผลข้างเคียงจากการรักษาให้น้อยกว่าแต่ก่อนมาก


สาเหตุหนึ่งที่ทำให้อัตราการหายขาดสูงขึ้น ก็คือการค้นพบว่าเซลล์มะเร็งเต้านมนั้นมีคุณลักษณะเฉพาะคือไวต่อฮอร์โมนและโปรตีนบางชนิด จึงมีการคิดค้นยาที่ไปขัดขวางกระบวนการดังกล่าว เพื่อลดโอกาสที่เซลล์มะเร็งจะกลับมาเจริญเติบโตใหม่ แต่คุณลักษณะเฉพาะที่ว่านั้นมีความหลากหลายแต่ต่างกันไปในเซลล์มะเร็งของผู้ป่วยแต่ละคน ทั้งยังเปลี่ยนแปลงได้เสมอ จึงต้องมีการตรวจยืนยันเพื่อเลือกใช้ยาให้เหมาะสมที่สุด โดยจะใช้ข้อมูลสองส่วนประกอบกันคือ

  1. มีตัวรับฮอร์โมนหรือไม่ (hormone receptor [HR]) เซลล์มะเร็งที่มีตัวรับฮอร์โมน (HR+) จะไวต่อการรักษาด้วยยาซึ่งเข้าไปขัดขวางไม่ให้เซลล์มะเร็งได้รับการกระตุ้นจากฮอร์โมน
  2. มีตัวรับโปรตีนกระตุ้นการเจริญเติบโตหรือไม่ (human epidermal growth factor receptor-2 [HER2]) เซลล์มะเร็งที่มีตัวรับดังกล่าว (HER2+) มักจะลุกลามได้รุนแรงกว่ากลุ่มที่ไม่มี


แพทย์จะพิจารณาข้อมูลทั้งสองร่วมกันในการรักษา ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่พบตัวรับฮอร์โมนแต่ไม่พบตัวรับโปรตีน (HR+/HER2-) ซึ่งเป็นรูปแบบที่พบมากที่สุดและมีโอกาสกลับเป็นซ้ำน้อยที่สุด ผู้ป่วยก็จะได้รับยากลุ่มฮอร์โมนบำบัด แต่หากไม่พบตัวรับฮอร์โมนแต่พบตัวรับโปรตีน (HR-/HER2+) การใช้ยาฮอร์โมนบำบัดก็จะไม่ได้ผล ในขณะที่ยารักษาแบบจำเพาะเจาะจง (targeted therapy) ซึ่งสามารถเข้าไปจับและขัดขวางไม่ให้โปรตีน HER2 ออกฤทธิ์ ก็จะเข้ามามีบทบาท หรือหากผู้ป่วยมีตัวรับทั้งสองชนิด (HR+/HER2+) ก็อาจได้รับยาทั้งสองกลุ่ม

สำหรับผู้ป่วยกลุ่มที่ไม่พบทั้งตัวรับฮอร์โมนและโปรตีน ([HR-/HER2-] หรือ triple negative) นั้น แต่ก่อนจะมีโอกาสหายน้อยมาก ทว่าพัฒนาการของยารักษาแบบจำเพาะเจาะจงในปัจจุบัน ได้กล่าวกันไปถึงขั้นอุดช่องโหว่ดังกล่าวได้แล้ว ทำให้อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ไม่ว่าจะมีคุณลักษณะของตัวรับสัญญาณบนเซลล์มะเร็งอย่างไร ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นไปอีก จนเรียกได้ว่าปัจจุบันนี้ โอกาสที่รักษามะเร็งเต้านมได้หายขาดและกลับมามีชีวิตตามปกตินั้นสูงกว่าโอกาสที่จะไม่หายหลายเท่า

แต่ไม่ว่าวิทยาการรักษาสมัยใหม่จะมีประสิทธิภาพสูงขึ้นเท่าใด หลักการดั้งเดิมที่ว่ายิ่งตรวจพบเร็ว ยิ่งรักษาง่ายขึ้นก็ยังคงเป็นจริง สุภาพสตรีจึงควรหัดตรวจเต้านมด้วยตัวเองด้วยการคลำเต้านม ซึ่งช่วงเวลาที่เหมาะสมคือ 7 วันหลังมีประจำเดือน และคอยสังเกตลักษณะของเต้านมอยู่เสมอ หากพบก้อนในเต้านม-ใต้รักแร้ ความผิดปกติที่หัวนม หรือที่ผิวเต้านม ควรรีบไปพบแพทย์ทันที การตรวจเช็คด้วยตัวเองนี้สามารถทำได้ทุกวัย จำเป็นต้องรอให้ถึงวัย 40 ปีอันเป็นอายุที่โอกาสในการเกิดมะเร็งเต้านมเพิ่มสูงขึ้นจึงแนะนำเริ่มทำแมมโมแกรม ไม่ว่าจะมีประวัติมะเร็งในครอบครัวหรือไม่

และสุดท้าย การดูแลสุขภาพโดยรวมให้แข็งแรงอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการขยันออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพิ่มกิจกรรมระหว่างวัน หรือการงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็จะช่วยลดปัจจัยเสริมของโรคมะเร็งได้ด้วยเช่นกัน และหากต้องประสบกับมะเร็งร้ายเข้าแล้ว การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเองตลอดจนกำลังใจจากคนใกล้ชิดก็จะเป็นส่วนสำคัญในการต่อสู้กับโรคมะเร็ง ให้สามารถรักษาสุขภาพกายใจให้แข็งแรง และได้อยู่กับคนที่รักให้นานที่สุด
 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:


แก้ไขล่าสุด: 17 พฤษภาคม 2565

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs