เมื่อบุตรหลานเริ่มไปโรงเรียน อาจเผชิญกับโรคภัยไข้เจ็บที่ติดต่อได้ง่ายขึ้น โรคมือ เท้า ปาก เป็นอีกโรคหนึ่งที่พบการแพร่กระจายได้โดยง่าย และมักพบในเด็กเล็ก บทความนี้จะช่วยให้ท่านรู้จักกับโรคและวิธีป้องกันโรคนี้ได้ เพื่อให้บุตรหลานอันเป็นที่รักยิ่งของท่าน ห่างไกลจากโรคมือ เท้า ปาก
โรคมือ เท้า ปาก คืออะไร?
โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส มักพบในเด็กทารก และเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี อย่างไรก็ตาม โรคนี้สามารถพบในเด็กโต และผู้ใหญ่ได้ อาการที่เกิดขึ้น เช่น มีไข้ แผลตุ่มพองในปาก ผื่นตามร่างกาย เป็นต้น
โรคมือ เท้า ปาก มีระยะฟักตัวประมาณ 1 สัปดาห์ จึงสามารถติดต่อกันได้โดยที่ยังไม่มีอาการแสดง
อะไรคือสาเหตุของโรคมือ เท้า ปาก?
จากที่กล่าวไปข้างต้น โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่ม Enteroviruses โดยส่วนใหญ่มักเกิดจากเชื้อ Coxsackievirus A16 (คอกซากีไวรัส เอ16) และ Enterovirus 71 (เอนเทอโรไวรัส 71) มักพบการระบาดได้บ่อยในช่วงฤดูฝน
อาการของโรคมือ เท้า ปาก มีอะไรบ้าง?
อาการแสดงของโรคในระยะเริ่มแรกนั้น พบได้ดังนี้
- มีไข้
- เบื่ออาหาร
- เจ็บคอ
- ไม่สบายตัว
หลังจากมีไข้ 1-2 วัน จะเริ่มมีอาการเจ็บในปาก ต่อมาเริ่มมีจุดแดงบริเวณด้านหลังของปาก และเกิดแผลตุ่มพอง ซึ่งทำให้เกิดอาการเจ็บ เกิดผื่นบนฝ่ามือและฝ่าเท้า ซึ่งจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น อาจพบผื่นแบบเรียบ จุดแดง หรืออาจพบเป็นแผลตุ่มพองได้ ในบางครั้งอาจแพร่กระจายไปยังหัวเข่า ข้อศอก ก้น และอวัยวะเพศ เป็นต้น
ในเด็กโตอาจเกิดการสูญเสียน้ำจากร่างกายได้ ถ้าไม่สามารถรับประทานอาหารหรือกลืนได้เนื่องจากเจ็บแผลในช่องปาก ควรปรึกษาแพทย์ทันทีเพื่อรักษาอาการดังกล่าว
อาการที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น สามารถพบได้ในผู้ป่วยเด็กเป็นส่วนใหญ่ ในกรณีเกิดการติดเชื้อไวรัสนี้ในผู้ใหญ่ อาจเกิดอาการเพียงเล็กน้อย หรือไม่แสดงอาการออกมาเลย และมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีอาการรุนแรง อย่างไรก็ตาม ยังสามารถแพร่กระจายเชื้อไวรัสไปสู่ผู้อื่นได้
โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส โดยเชื้อไวรัสสามารถแพร่กระจายได้ง่าย ทั้งผ่านทางระบบทางเดินหายใจ จากการสัมผัสน้ำลาย เสมหะ น้ำมูก และระบบทางเดินอาหาร จากการสัมผัสอุจจาระของผู้ป่วย นอกจากนี้ ยังสามารถติดต่อผ่านการสัมผัสของเล่น น้ำและอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสได้อีกด้วย
โรคมือ เท้า ปาก สามารถป้องกันได้อย่างไร?
ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคมือ เท้า ปาก นักวิจัยกำลังพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคนี้อยู่ อย่างไรก็ตาม ท่านสามารถลดความเสี่ยงและป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ได้ดังนี้
- ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ อย่างน้อย 20 วินาที โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเปลี่ยนผ้าอ้อมและหลังการใช้ห้องน้ำ หากกรณีไม่มีสบู่ล้างมือ สามารถใช้แอลกฮอล์เจล ล้างมือแทนได้ในเบื้องต้น
- ทำความสะอาดพื้นที่และสิ่งของให้สะอาดบ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ของเล่นเด็ก
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสอย่างใกล้ชิด เช่น การจูบ กอด เป็นต้น
- ไม่ใช้อุปกรณ์ร่วมกับผู้ติดเชื้อ โดยเฉพาะจาน ชาม ช้อน แก้วน้ำ
- เนื่องจากโรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคระบาด สำหรับเด็กควรหยุดเรียนเพื่อไม่ให้โรคแพร่กระจาย รอจนกระทั่งหายไข้และไม่มีในแผลในปาก
โรคมือ เท้า ปาก รักษาได้อย่างไร?
ไม่มีการรักษาอย่างเฉพาะเจาะจงสำหรับโรคมือ เท้า ปาก มีเพียงการรักษาตามอาการเท่านั้น ท่านสามารถบรรเทาอาการโรคมือ เท้า ปาก และลดความรุนแรงของโรคได้ ดังนี้
- ใช้ยาแก้ปวด Paracetamol หรือ Ibuprofen หลีกเลี่ยงการใช้ยา Aspirin ในเด็ก
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มร้อน โซดา อาหารที่เป็นกรด อาหารรสเค็ม และอาหารรสเผ็ดจัด
- บ้วนปากหลังรับประทานอาหาร หรือใช้สเปรย์พ่นคอเพื่อลดอาการเจ็บในปาก
- สามารถรับประทานไอศกรีม หรือดื่มเครื่องดื่มเย็น เพื่อลดอาการเจ็บแผลในปาก
- ควรรับประทานอาหารเหลว ที่ไม่ต้องเคี้ยวมาก เพื่อลดการใช้ช่องปากในการบดเคี้ยวอาหาร
ถ้ามีแผลในปาก เจ็บจนไม่สามารถกลืนได้ ควรดื่มน้ำอย่างเพียงพอเพื่อป้องกันการเสียน้ำออกจากร่างกาย แต่ถ้ายังไม่สามารถกลืนหรือดื่มน้ำได้เลย อาจจะต้องพิจารณาให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดต่อไป
หากท่านต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตลอด 24 ชั่วโมง
Reference:
1. Centers for Disease Control and Prevention.Hand Foot Mouth Disease. Available from:
https://www.cdc.gov/hand-foot-mouth/index.html [Accessed 19 July 2019].
2. Joanne Murren-Boezam,MD. KidsHealth from Nemours.Hand Foot Mouth Disease. Available from:
https://kidshealth.org/en/parents/hfm.html[Accessed 19 July 2019].
3. Mayo Clinic Staff.Mayo Clinic.Hand Foot Mouth Disease.
https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hand-foot-and-mouth-disease/symptoms-causes/syc-20353035 [Accessed 19 July 2019].
4. WebMD.Facts About Hand-Foot-and-Mouth Disease.
https://www.webmd.com/children/guide/hand-foot-mouth-disease#1 [Accessed 19 July 2019].
Contact information: Drug Information Service ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
Tel: +66(0) 2 011 3399
Email:
[email protected]
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: