bih.button.backtotop.text

เคมีบำบัดความเจ็บปวดที่สวยงาม

 “ฉันรู้สึกดีค่ะ ถึงฉันจะเจ็บปวด ช่วงที่ทำนั้นแม้จะทรมาน ปวดหัว อาเจียน กินอะไรไม่ค่อยได้ก็ตาม แต่มีสิ่งที่ทำให้ฉันยังก้าวต่อไปได้ก็คือ การได้กลับไปหาลูกสาว กลับไปหาหลานชายของฉัน เขาคือทุกสิ่งในชีวิตแล้ว เลยอดทนและก้าวผ่านการรักษานั้นมาได้” คำพูดที่มาพร้อมกับน้ำตาและรอยยิ้มของคุณ Razia Nasreen Sultana ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม วัย 62 ปี ชาวบังคลาเทศ ที่อยากตื่นขึ้นมาและเห็นรอยยิ้มของคนในครอบครัวที่เธอรัก

จุดเริ่มต้นของการเป็นมะเร็งของเธอนั้น เริ่มเมื่อสามปีก่อน ซึ่งตอนนั้นเธอได้ไปเยี่ยมลูกสาวที่แคนาดา และเกิดไม่สบาย ต้องไปหาหมอ เมื่อหมอได้ตรวจร่างกายแล้วกลับไม่พบสิ่งผิดปกติ เพียงแค่แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันปอดบวม เพราะเธอนั้นมีอาการของหอบหืด “หลังจากที่กลับมาที่บ้านแล้ว ช่วงนั้นเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งในบังคลาเทศพอดี ฉันก็ได้ทำงานหนักมาก จนป่วยอีกครั้ง ซึ่งฉันไม่ทันได้คิดว่าอาการที่เกิดก่อนหน้านี้ มันจะเป็นเหมือนสัญญาณเตือนว่าฉันต้องพบเจอกับโรคร้าย” เธอเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นในการตรวจสุขภาพอย่างละเอียด “ฉันได้ตรวจสุขภาพ ตรวจหลายอย่างมาก จนได้พบกับแพทย์โรคหัวใจ ก็มีการตรวจหลายครั้งเพื่อความแน่ใจ ซึ่งเขาให้ฉันทำเมมโมแกรมและเอ็กซเรย์ด้วย ตอนนั้นก็เริ่มใจคอไม่ดีแล้วว่าทำไมต้องทำซ้ำหลายๆ รอบ พอหมอบอกให้ฉันไปพบศัลยแพทย์เต้านม และได้รับคำตอบว่า ฉันอาจจะเป็นมะเร็ง ซึ่งหมอก็บอกว่ายังไม่แน่นอน”


คุณ Razia ตัดสินใจที่จะนำเรื่องการป่วยของเธอกลับไปปรึกษาแผนกสุขภาพที่ World Bank สำนักงานประจำสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ ซึ่งเป็นที่ทำงานของเธอ ที่เธอทำงานมากว่า 25 ปี และได้ส่งรายงานการตรวจนี้ให้แผนกสุขภาพ  ในองค์กรที่เธอทำงานอยู่แนะนำถึงสิทธิ์ในการรักษาให้เธอเลือกระหว่างทำการรักษาที่ประเทศสิงคโปร์ หรือที่กรุงเทพฯ แต่สิงคโปร์มีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า และที่สำคัญจากประสบการณ์ของแผนกสุขภาพที่องค์กรของเธอ แนะนำว่าที่กรุงเทพฯ มีโรงพยาบาลที่เชี่ยวชาญและคนในองค์กรของเธอก็มาทำการรักษาที่นี้หลายเคสแล้ว ซึ่งภายใน 2 สัปดาห์ทางองค์กรฯ ก็ได้ส่งตัวเธอมารักษาที่กรุงเทพฯ ทันที “ฉันเดินทางมากรุงเทพ ที่ศูนย์มะเร็ง Horizon เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ และได้พบกับคุณหมอปิยวรรณ เกณฑ์สาคู ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเต้านม พอคุณหมอตรวจอาการก็ได้บอกว่า ฉันมีสิทธิ์ 98% ที่จะเป็นมะเร็ง ตอนนั้นฉันตกใจว่า สรุปนี่ฉันป่วยเป็นมะเร็งเต้านมจริงๆหรือ” เธอเล่าด้วยสีหน้าไม่ดีนัก และยิ่งทำให้เธอรู้สึกแย่ขึ้นไปอีกเมื่อรู้ว่าเชื้อมะเร็งนั้นได้ลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองอีกด้วย ซึ่งอันตรายมากสำหรับผู้ป่วย

 

แรกเริ่มการรักษาที่ศูนย์มะเร็ง Horizon

คุณหมอ ปิยะนุช จิตต์เที่ยง อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง แพทย์ที่เข้ามาดูแลฉันในการทำเคมีบำบัด การรักษานั้นให้เคมีบำบัดทั้งหมด 6 ครั้ง ซึ่งก็อดทนมาตลอด ในช่วงประมาณเคมีบำบัดครั้งที่ 4 นั้น ฉันรู้สึกอ่อนแอมาก รู้สึกท้อ แต่ก็ได้กำลังใจและการดูแลที่ดีมากจากคุณหมอ ฉันรู้สึกดีมาก ทีมคุณหมอทุกๆ คนล้วนให้สิ่งที่ดีๆ กับฉันมาตลอดการรักษา พวกเขาไม่เคยทำให้ฉันผิดหวังเลย” คุณ Razia เล่าถึงความประทับใจ

“ระหว่างการทำเคมีบำบัด ฉันไปกลับระหว่างโรงพยาบาลและบ้านที่ธากา และพยายามทำตัวเองให้ดูเป็นปกติ โดยเฉพาะเรื่องการทำงานที่บังคลาเทศนั้น ในสายงานที่ต้องทำงานเป็นทีม และต้องพูดคุยกันแบบเห็นหน้ากัน เพราะบางปัญหาต้องทำงานร่วมกัน ถึงจะแก้ปัญหาได้” เธอเล่าให้ฟังเรื่องการทำงาน ซึ่งช่วงการรักษาที่ศูนย์มะเร็ง Horizon ก็เช่นกันที่เธอได้เห็นถึงการทำงานของทีมหมอ พยาบาล ซึ่งเธอเล่าถึงรูปแบบการทำงานที่คล้ายกัน และทำให้งานนั้นราบรื่น ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี


ปลายทางแห่งรอยยิ้ม แม้เจ็บปวดแต่สวยงาม

ช่วงเดือนกรกฎาคม ซึ่งเธอต้องทำเคมีบำบัดครั้งสุดท้ายก่อนเข้ารับการผ่าตัด เธอรู้ตัวว่าเธออ่อนแอมาก เมื่อเธอเดินทางถึงกรุงเทพฯ ในวันอาทิตย์เพื่อมีนัดกับคุณหมอปิยะนุชในวันจันทร์ ระหว่างทางจากสนามบินเพื่อเข้าพักที่โรงแรม เธอบอกสามีว่าให้ตรงเข้าห้องฉุกเฉินเลย ซึ่งเป็นนาทีชีวิตที่จู่โจมเข้ามาในชีวิตอย่างรวดเร็ว “ฉันหายใจได้แค่สั้นๆ ฉันรู้สึกกลัว หลังจากที่มาถึงโรงพยาบาลฯ เจ้าหน้าที่ตรวจเลือดฉันหลายอย่าง และทำการติดต่อคุณหมออย่างรวดเร็ว คุณหมอบอกว่าห้ามทิ้งคนไข้คนนี้เด็ดขาด หมอจะรีบเข้ามา และหลังจากเหตุการณ์นั้นฉันก็ไม่รู้อะไรแล้ว ฉันจำไม่ได้ ฉันรู้สึกตัวและเห็นหมอคุณแจ้งกับสามีว่าฉันอยู่ในอาการที่ค่อนข้างหนัก หมออธิบายให้ฉันตรวจอะไรอีกหลายอย่าง ฉันได้ยินและรับรู้ทุกอย่างนะ แต่ฉันพูดไม่ได้ ฉันอ่อนแอเกินไป”

“ฉันรอเข้ารับการผ่าตัดในอีก 6 สัปดาห์ต่อมา ซึ่งการผ่าตัดก็ผ่านไปด้วยดี ทุกๆ คนทำงานแบบมืออาชีพมาก ฉันรอผลจากการตรวจชิ้นเนื้ออีกครั้ง ซึ่งคราวนี้มันทำให้ฉันรู้สึกไม่เชื่อ รู้สึกว่ามันผ่านพ้นไปแล้วจริงๆ หรือนี่ คุณหมอปิยะนุชจับมือฉันและบอกกับฉันว่า คุณไม่มีเชื้อมะเร็งอยู่แล้ว ... คุณเชื่อไหมว่า คุณหมอปิยะนุชพูดกับฉันว่า ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้องอกและเคมีบำบัด ทำงานได้ดีมาก ทำให้มะเร็งในร่างกายฉันหายไปหมด ฉันรู้สึกดีมากอย่างที่ไม่เคยรู้สึกแบบนี้มาก่อนตั้งแต่ป่วย” เธอกล่าวด้วยรอยยิ้มหลังจากได้รับข่าวดีก่อนการสัมภาษณ์นี้เพียงแค่วันเดียว


เคมีบำบัดเหมือนยาพิษ แต่เป็นสิ่งที่ทำให้ได้ชีวิตกลับคืนมา

“ถ้าถามฉันว่า รู้สึกยังไงกับการทำเคมีบำบัด ช่วงแรกที่ฉันรู้ตัวว่าเป็นมะเร็งและต้องทำเคมีบำบัด ก็ได้ค้นหาข้อมูลตามเว็บไซต์ ทำให้รู้ว่าเราไม่มีทางหนีมันพ้น เคมีบำบัดเหมือนยาพิษ ช่วงที่ทำนั้นแม้จะทรมาน ปวดหัว อาเจียน กินอะไรไม่ค่อยได้ก็ตาม แต่มีสิ่งที่ทำให้ฉันยังก้าวต่อไปได้ก็คือ การได้กลับไปหาลูกสาว กลับไปหาหลานชายของฉัน เขาคือทุกสิ่งในชีวิตแล้ว ฉันเลยอดทนและก้าวผ่านการรักษานั้นมาได้”

เธอเล่าด้วยความตื้นตันใจ และในวันพรุ่งนี้หลังจากที่เธอได้เล่าเรื่องราวให้เราฟังนั้น ลูกสาวของเธอจะเดินทางมาหาเธอที่กรุงเทพฯ นั่นเป็นสิ่งที่เธอร้องไห้ด้วยรอยยิ้มพร้อมกับพูดให้กำลังใจผู้ป่วยคนอื่นๆที่ต้องเผชิญโรคร้ายอย่างเธอ “ถ้าใครต้องป่วยแบบฉัน ก็อยากให้คิดถึงลูกหลานหรือครอบครัวที่มีอยู่ เพราะทุกคนล้วนอยากให้เราได้มาอยู่ร่วมกันอีกครั้ง ซึ่งฉันอาจจะโชคดีที่ลูกหลานคอยให้กำลังใจฉันเสมอ คอยบอกว่าแม่ต้องไม่ยอมแพ้ คุณยายต้องเข้มแข็ง และที่สำคัญที่อยากจะบอกคือ ถ้าหากรู้ตัวว่าเป็นมะเร็งแล้ว ก็ขอให้รีบไปรักษา อย่ารอเวลา เพราะมันอาจจะพรากชีวิตคุณออกจากครอบครัวที่คุณรักได้”


 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แก้ไขล่าสุด: 17 พฤษภาคม 2565

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs