ทำความรู้จักตับอ่อนและโรคของตับอ่อน
ถ้าพูดถึงตับทุกคนคงร้องอ๋อ แต่ถ้าพูดถึงตับอ่อน อาจฟังแล้วไม่คุ้นหูทั้งๆที่ตับอ่อนเป็นอวัยวะสำคัญที่แพทย์มักเปรียบเปรยว่าเป็นเสมือนหัวใจของช่องท้อง
ตับอ่อนคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร
ตับอ่อนเป็นอวัยวะที่อยู่ตรงช่องท้องส่วนบนค่อนไปทางหลัง ลักษณะยาวๆแบนๆ ขนาดประมาณ 6 นิ้ว มีลักษณะคล้ายปลาทู โดยที่ส่วนหัวของปลาทู อยู่ทางด้านขวาของร่างกาย และอยู่ต่อกับลำไส้เล็กและท่อน้ำดี อยู่ใกล้กับตับ ไตข้างขวา และถุงน้ำดี ส่วนคอของปลาทูถูกล้อมรอบด้วยเส้นเลือดใหญ่จำนวนมาก ส่วนตัวของปลาทูอยู่ด้านหลังของกระเพาะอาหาร และส่วนหางของปลาทูอยู่ระหว่างม้ามและไตข้างซ้าย ค่อนไปทางด้านซ้ายบนของช่องท้องด้านหลัง ด้านหลังของตับอ่อนจะเป็นกลุ่มเส้นประสาท เส้นเลือดแดงใหญ่ และกระดูกไขสันหลัง ตับอ่อนมีหน้าที่หลักอยู่ 2 อย่าง คือหลั่งน้ำย่อยและสร้างฮอร์โมน น้ำย่อยในตับอ่อนทำหน้าที่ย่อยโปรตีน คาร์โบไฮเดรตและไขมัน รวมไปจนถึงวิตามินต่างๆที่ต้องดูดซึมร่วมกับไขมันเช่นวิตามินเอ ดี อี และเค นอกจากนี้ตับอ่อนยังมีหน้าที่สร้างฮอร์โมนที่สำคัญหลายชนิด เช่น อินซูลิน ดังนั้นตับอ่อนจึงช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือดด้วย
โรคของตับอ่อนมีอะไรบ้าง
โรคที่เกิดกับตับอ่อนมีหลายโรค โรคที่คุ้นเคยและพบได้บ่อยคือโรคตับอ่อนอักเสบ มะเร็งตับอ่อนและถุงน้ำในตับอ่อน
- ตับอ่อนอักเสบ แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดคือ อักเสบแบบเฉียบพลันและอักเสบแบบเรื้อรัง
- ตับอ่อนอักเสบแบบเฉียบพลัน สาเหตุใหญ่มี 2 อย่างคือ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับนิ่วในถุงน้ำดีที่ปลิวลงมาอุดท่อของตับอ่อน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดที่ท้องเหนือสะดืออย่างรุนแรง และในบางรายจะปวดร้าวไปข้างหลังจนต้องมาโรงพยาบาล ในรายที่เป็นรุนแรงอาจถึงแก่ชีวิตได้ นอกจากนี้ผู้ป่วย 1 ใน 5 รายยังอาจเกิดตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันซ้ำๆทำให้เป็นตับอ่อนอักเสบเรื้อรังได้
- ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง เกิดจากการที่ตับอ่อนอักเสบบ่อยๆเป็นเวลานานจนเกิดพังผืด ผู้ป่วยอาจปวดท้องไม่มากแต่มักมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ ท้องอืด ท้องเสียเรื้อรัง น้ำหนักลด หรือเป็นโรคกระดูกพรุนเนื่องจากขาดวิตามินดีมาเป็นเวลานาน
- มะเร็งตับอ่อน มะเร็งตับอ่อนเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 7 ของมะเร็งทั่วโลก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเสียชีวิตภายใน 1 ปี สาเหตุอาจมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ มีโรคอ้วน เป็นเบาหวานหรือทำงานเกี่ยวกับสารเคมีบางอย่าง ส่วนน้อยคือกรรมพันธุ์ในครอบครัว แรกๆมักไม่มีอาการและอาการขึ้นอยู่กับว่าก้อนมะเร็งไปกดเบียดอวัยวะใดที่อยู่ล้อมรอบ ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดท้องเรื้อรัง น้ำหนักลด ตัวเหลืองตาเหลือง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด ท้องเฟ้อและลำไส้อุดตัน
- ถุงน้ำในตับอ่อนหรือซีสต์ พบได้บ่อยประมาณ 7 ถึง 14 เปอร์เซ็นต์ในประชากรทั่วไป และพบได้มากถึง 40% ในคนที่มีอายุเกิน 70 ปี ถุงน้ำในตับอ่อนมีหลายชนิด ที่ต้องระวังคือถุงน้ำในตับอ่อนชนิดข้นและมีขนาดใหญ่มากกว่า 3 เซนติเมตรเพราะมีโอกาสมากกว่า 10% ที่จะกลายเป็นมะเร็งตับอ่อน
รักษาได้อย่างไร
การรักษาขึ้นอยู่กับโรคที่เป็น หากเป็นตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน แพทย์จะให้พักลำไส้โดยให้ผู้ป่วยงดน้ำ งดอาหารเพื่อไม่ให้ตับอ่อนหลั่งน้ำย่อยเพิ่มออกมา รวมถึงให้น้ำทางสายน้ำเกลือ ส่วนใหญ่ตับอ่อนจะกลับมาดีขึ้นภายใน 1-4 วัน ในกรณีที่มีการอักเสบมากจนเกิดการเน่าตายของเนื้อเยื่อตับอ่อน แพทย์อาจต้องทำการส่องกล้องเข้าไปทางปากเพื่อระบายหนองบริเวณตับอ่อนออกทางกระเพาะอาหาร หรือใส่สายระบายหนองออกทางด้านข้างของลำตัว สำหรับตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง ส่วนใหญ่ไม่มีสาเหตุหรือเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์เป็นระยะเวลานาน จึงรักษาได้ยาก แพทย์จะรักษาด้วยการลดอาการปวดโดยหลีกเลี่ยงยากลุ่มที่เป็นมอร์ฟีน ปรับพฤติกรรม และดูแลเรื่องโภชนาการ รวมไปจนถึงการเฝ้าระวังภาวะกระดูกพรุน และมะเร็งตับอ่อน ผู้ป่วยบางรายอาจต้องได้รับการส่องกล้องทางปากเพื่อเอานิ่วที่อยู่ในท่อตับอ่อนออก หรือการผ่าตัดตับอ่อนบางส่วนในกรณีที่มีอาการปวดมาก และไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นถุงน้ำในตับอ่อนที่อาจกลายเป็นมะเร็ง วิธีการรักษาที่ดีที่สุดคือการผ่าตัด
ตับอ่อนเป็นอวัยวะที่ควรเฝ้าระวังเช่นเดียวกับอวัยวะอื่นๆ การที่น้ำตาลในเลือดเปลี่ยนแปลงไปเพียงเล็กน้อย มีเบาหวานเกิดใหม่โดยเฉพาะในช่วงอายุ 70 ปีขึ้นไปหรือมีอาการปวดท้องส่วนบนร้าวไปทางหลัง น้ำหนักลดใน 6 เดือนที่ผ่านมาและมีท้องอืด รวมไปจนถึงผู้ที่มีโรคมะเร็งบางชนิดในครอบครัว เช่น มะเร็งตับอ่อน เต้านม รังไข่ ลำไส้ใหญ่ กระเพาะอาหาร ทางเดินปัสสาวะ มะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา อาจบ่งบอกถึงความผิดปกติของตับอ่อนได้ ควรรีบมาปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะทางในโรงพยาบาลที่มีความพร้อม เพราะโรคของตับอ่อน เช่น มะเร็งหรือถุงน้ำในระดับเริ่มต้นมักมีขนาดเล็กมากต้องอาศัยทีมแพทย์ผู้มีประสบการณ์สูงในการวินิจฉัยและรักษา รวมถึงมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยเฉพาะหากต้องผ่าตัด ควรเลือกแพทย์ที่มีความชำนาญและประสบการณ์ในการผ่าตัดตับอ่อนมาเป็นอย่างดี
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 03 กรกฎาคม 2566