bih.button.backtotop.text

หลงลืมแบบไหน สมองเสื่อมถามหา


คุณเป็นคนหนึ่งหรือไม่ที่มีอาการหลงๆ ลืมๆ อยู่เป็นประจำ ในบางครั้งอาการหลงลืมที่เกิดขึ้นกับคนเราบ่อยๆ อาจดูเป็นเรื่องธรรมดา แต่ในบางครั้งอาการหลงลืมนั้นอาจไม่ใช่เพียงแค่อาการหลงลืมปกติที่เกิดขึ้นได้กับทุกๆ คน แต่เป็นอาการที่เป็นผลมาจากภาวะสมองเสื่อม ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อตัวคนๆ นั้นและคนรอบข้าง รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวันด้วย
 
สมองเสื่อม (dementia) เป็นภาวะที่สมองมีการทำงานแย่ลงจนส่งผลต่อชีวิตประจำวัน ประกอบด้วยกลุ่มอาการหลายๆ อย่างรวมกัน เช่น หลงลืมง่าย คิดเงินไม่ถูก หาของไม่เจอ หลงทางในที่คุ้นเคย มีพฤติกรรมแปลกๆ เป็นต้น โดยสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมมีมากมาย ทั้งที่เป็นโรคของสมองและไม่ใช่โรคของสมอง เช่น เส้นเลือดสมองตีบ เนื้องอกในสมอง เลือดออกในสมอง ไทรอยด์ การขาดวิตามินบี 12 ยาบางชนิด (เช่น ยาแก้แพ้หรือ antihistamine) ภาวะซึมเศร้า และที่สำคัญ ได้แก่ อัลไซเมอร์ ซึ่งพบว่าเป็นโรคที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมได้บ่อยที่สุด ทั้งนี้สาเหตุของภาวะสมองเสื่อมที่ไม่ใช่อัลไซเมอร์อาจรักษาให้หายขาดได้โดยแก้ไขที่สาเหตุนั้น แต่หากสาเหตุเกิดจากโรคอัลไซเมอร์ การรักษาอาจเน้นการประคับประคองอาการ โดยอาจทำให้ดีขึ้นได้ในระยะหนึ่ง แม้ไม่หายขาดแต่ก็ทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
 
อัลไซเมอร์ เป็นโรคที่เกิดจากการเกาะกลุ่มของโปรตีนเบตาอะไมลอยด์ชนิดไม่ละลายน้ำที่มาจับที่เซลล์สมอง ทำให้ส่งผลต่อความจำ โดยส่วนใหญ่โรคอัลไซเมอร์จะมีโอกาสพบได้มากในผู้ที่สูงอายุ คือ อายุ 65 ปีพบประมาณ 8% อายุ 75 ปีพบ 15-20% และอายุ 85 ปีขึ้นไปพบประมาณ 30-50% ยกเว้นในกรณีที่เกิดจากพันธุกรรม อาจพบได้ตั้งแต่อายุไม่ถึง 60 ปี อย่างไรก็ดีโรคอัลไซเมอร์พบจากพันธุกรรมเพียง 5% เท่านั้น
 
อาการหลงลืมของโรคอัลไซเมอร์มีได้หลายรูปแบบ และผู้ป่วยอาจมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ซึมเศร้า คึกคัก ก้าวร้าว หรือแม้กระทั่งทำร้ายคนที่มาดูแล โดยอาการจะรุนแรงขึ้นตามระยะที่เป็น

 

หลงลืมแบบนี้...อาการของอัลไซเมอร์

ระยะแรก – อาการในระยะนี้จะเป็นอาการหลงลืม ได้แก่
  • ถามซ้ำๆ หรือถามอะไรที่เพิ่งผ่านมา เช่น ถามชื่อบ่อยๆ ทำให้มีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน หน้าที่การงาน หรือเข้าสังคม
  • ลืมเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่นาทีหรือชั่วโมงที่ผ่านมา
  • ลืมนัดบ่อยๆ
  • คิดช้าลง เริ่มคิดไม่ออก นึกคำพูดไม่ออกหรือพูดคำไม่ถูกต้องแต่ใกล้เคียง
  • หาของไม่เจอและมักคิดว่ามีคนมาขโมยไป
  • วางของผิดที่แบบแปลกๆ เช่น วางกระเป๋าเงินในตู้เย็น วางกุญแจรถในบ่อปลา
ระยะต่อมา
  • เริ่มมีการตัดสินใจไม่สมเหตุสมผล
  • อารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง เช่น ก้าวร้าว ซึมเศร้า ซึ่งอาจส่งผลต่อผู้ดูแล โดยเฉพาะพฤติกรรมก้าวร้าว
  • สับสนทิศทาง หลงทางในที่ที่คุ้นเคย ทำให้มีปัญหากลับบ้านไม่ถูก
  • คิดอะไรที่ซับซ้อนไม่ได้ ทอนเงินไม่ถูก
  • ทำอะไรที่ต้องวางแผนไม่ค่อยได้
  • ทักษะที่เคยทำได้ทำยากขึ้น เช่น เป็นแม่ครัวแต่ทอดไข่ไม่ได้
  • เดินไปเรื่อยๆ โดยไม่มีจุดหมายที่ชัดเจน

 

จะเห็นได้ว่าอาการต่างๆ ที่เกิดจากภาวะสมองเสื่อมส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยของผู้ป่วย ดังนั้นหากคุณหรือคนในครอบครัวมีอาการผิดปกติที่อาจเป็นสัญญาณของภาวะสมองเสื่อม ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อแพทย์จะได้หาสาเหตุที่ชัดเจนของภาวะสมองเสื่อม หากสาเหตุนั้นไม่ใช่โรคอัลไซเมอร์จะได้ทำการรักษาอย่างทันท่วงที ซึ่งโดยทั่วไปแพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกายของผู้ป่วยว่าสอดคล้องกับอาการสมองเสื่อมหรือไม่ ร่วมกับทำการตรวจอื่นๆ เช่น การตรวจร่างกายทางระบบประสาท การตรวจสมรรถภาพสมอง การตรวจเลือด และการตรวจสมองโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
 
แม้ว่าในปัจจุบันภาวะสมองเสื่อมบางชนิด เช่น อัลไซเมอร์ อาจยังไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่การดูแลรักษาสมองก็จะส่งผลต่อสุขภาพสมองที่ดีในระยะยาว
 

เคล็ดลับการดูแลรักษาสุขภาพสมอง

  • พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ควรเข้านอนเกินสี่ทุ่มถึงห้าทุ่ม และควรนอนให้ได้อย่างน้อย 7 ชั่วโมงต่อวัน ในสถานที่เงียบสงบ เพื่อให้การนอนมีคุณภาพมากที่สุด
  • ฝึกสมองโดยการเล่นเกมที่เกี่ยวกับความจำหรือคำนวณตัวเลข
  • ทำอะไรที่ขัดกับธรรมชาติที่เคยทำทุกวัน เช่น เคยติดกระดุมด้วยมือขวาให้เปลี่ยนมาติดด้วยมือซ้าย เคยกินข้าวด้วยมือขวาให้เปลี่ยนมากินด้วยมือซ้าย เปลี่ยนเส้นทางกลับบ้าน
  • พยายามทำกิจกรรม 2 อย่างให้ได้ในเวลาเดียวกัน เช่น ดูละครพร้อมกับอ่านตัววิ่งที่อยู่ด้านล่างจอโทรทัศน์
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยการออกกำลังกายที่ช่วยเรื่องสมองจะต้องเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิค หัวใจต้องเต้นเร็วขึ้น วันละ 20-30 นาที อย่างน้อย 4 วันต่อสัปดาห์
  • หลีกเลี่ยงความเครียด


 เรียบเรียงจาก การเสวนาความรู้เพื่อสุขภาพ เรื่อง “สมองใส ห่างไกลโรค” บรรยายโดย นายแพทย์เขษม์ชัย เสือวรรณศรี อายุรแพทย์ด้านประสาทวิทยา ศูนย์ประสาทวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แก้ไขล่าสุด: 17 มีนาคม 2566

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs