การล้างจมูกคืออะไร?
การล้างจมูก คือการทำความสะอาดโพรงจมูก โดยการใส่หรือหยอดน้ำเกลือเข้าไปในจมูก แนะนำให้ใช้น้ำเกลือความเข้มข้น 0.9% เนื่องจากมีคุณสมบัติช่วยลดความเหนียวของน้ำมูกและทำให้เชื้อโรคไม่เจริญเติบโต การล้างจมูกจะช่วยชะล้างมูก คราบมูก หนอง หรือสิ่งสกปรกบริเวณโพรงจมูกและหลังโพรงจมูกออกได้ ทำให้โพรงจมูกสะอาด
การล้างจมูกมีประโยชน์อย่างไรบ้าง?
ประโยชน์ของการล้างจมูกนั้นมีอยู่มากมาย ดังต่อไปนี้
- ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นแก่เยื่อบุจมูก
- บรรเทาอาการคัดแน่นจมูก ทำให้หายใจโล่งขึ้น
- บรรเทาอาการระคายเคือง และลดการอักเสบในจมูก
- ช่วยล้างน้ำมูกเหนียวข้นที่ไม่สามารถระบายออกได้เอง ทำให้โพรงจมูกสะอาด
- ช่วยให้อาการหวัดเรื้อรัง (คัดจมูก คัน จาม น้ำมูกไหล แสบจมูก ปวดจมูก) ดีขึ้น และช่วยลดน้ำมูก หรือเสมหะที่ไหลลงคอ
- ช่วยระบายหนองจากโพรงไซนัส โดยลดปริมาณน้ำมูก หรือหนองที่อุดบริเวณรูเปิดของโพรงไซนัสในโพรงจมูก ทำให้อาการไซนัสอักเสบหายเร็วขึ้น
- ป้องกันการลุกลามของเชื้อโรคจากจมูก และโพรงไซนัสขึ้นไปยังหูชั้นกลางหรือลงไปสู่ปอด
- ลดจำนวนเชื้อโรค มลพิษ สารก่อภูมิแพ้ สิ่งระคายเคือง และสารที่เกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายที่มีต่อสารก่อภูมิแพ้ในโพรงจมูก
- การล้างจมูก ก่อนการพ่นยาหรือหยอดยาในจมูก (ในกรณีแพทย์สั่งยาพ่นจมูก หรือยาหยอดจมูก) ช่วยให้ยาสัมผัสกับเยื่อบุจมูกได้มากขึ้น ทำให้ยาออกฤทธิ์และมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
- ชะล้างคราบสะเก็ดแข็งของเยื่อบุจมูกหลังการผ่าตัด หรือหลังการฉายแสง ทำให้แผลในโพรงจมูก และโพรงไซนัสหายเร็วขึ้น ป้องกันการเกิดพังผืดซึ่งทำให้รูจมูกหรือโพรงไซนัสตีบแคบ
- เพิ่มการทำงานของขนกวัด ซึ่งทำหน้าที่พัดโบก กำจัดสิ่งแปลกปลอมในโพรงจมูก
- ช่วยลดปริมาณยาที่ใช้ในการรักษาโรคจมูกหรือโพรงไซนัสลงได้
การล้างจมูก จำเป็นต้องทำเฉพาะคนที่เป็นโรคภูมิแพ้จมูก เท่านั้นหรือไม่?
คนที่มีสุขภาพแข็งแรง หรือผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นโรคภูมิแพ้ ก็สามารถล้างจมูกได้
การล้างจมูกมีวิธีการอย่างไร?
การล้างจมูกนั้นทำได้หลากหลายท่าทาง เช่น การตะแคงใบหน้า การก้มหน้า การเงยหน้า เป็นต้น แต่หากเป็นเด็กที่ยังไม่สามารถกลั้นหายใจ หรือสั่งน้ำมูกเองได้ ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับขั้นตอนการล้างจมูกที่เหมาะสม ก่อนทำการล้างจมูก
สำหรับวิธีการล้างจมูก (สำหรับเด็ก และผู้ใหญ่ที่สามารถกลั้นหายใจ และสั่งน้ำมูกเองได้) มีขั้นตอนง่าย ๆ ดังนี้
- ยืนที่อ่างล้างหน้า หรือหาผ้าสะอาดมารอง
- สอดปลายกระบอกฉีดยาที่มีน้ำเกลือเข้าไปในรูจมูก
- ค่อยๆ ฉีดน้ำเกลือเข้ารูจมูกข้างหนึ่ง โดยกลั้นหายใจหรือออกเสียง “อา” จนน้ำเกลือไหลออกทางปากหรือไหลย้อนออกทางจมูกอีกข้าง
- สั่งน้ำมูกและน้ำเกลือออกจากจมูกทั้งสองข้าง โดยไม่ต้องอุดจมูกข้างใดข้างหนึ่ง
- ล้างจมูกสลับกันไปมาทั้งสองข้าง ด้วยวิธีที่กล่าวข้างต้นจนไม่มีน้ำมูก
ข้อควรระวังในการล้างจมูก มีอะไรบ้าง?
หากล้างจมูกแล้วพบว่าอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงกว่าเดิม แนะนำให้สอบถามแพทย์อีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีอาการไข้ ปวดศีรษะหรือมีเลือดกำเดาไหลตามมา
ควรรักษาความสะอาดของอุปกรณ์ที่ใช้ โดยทำความสะอาดอุปกรณ์ทุกครั้งหลังใช้งานด้วยน้ำสบู่เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยเฉพาะในผู้มีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ทำงานไม่ปกติ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้วิธีนี้
หากท่านต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตลอด 24 ชั่วโมง
Reference:
Contact information: Drug Information Service ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
Tel:
02 011 3399
Email:
[email protected]
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 17 พฤษภาคม 2565