bih.button.backtotop.text

มะเร็งเต้านมกับการตรวจยีนเพื่อป้องกัน

มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่ในปัจจุบันแพทย์ทราบว่ามีสัดส่วนของการเป็นกรรมพันธุ์สูงกว่ามะเร็งชนิดอื่นๆ


การตรวจพันธุกรรมเพื่อป้องกันมะเร็งเต้านม มีประโยชน์อย่างไรบ้าง

มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่ในปัจจุบันแพทย์ทราบว่ามีสัดส่วนของการเป็นกรรมพันธุ์สูงกว่ามะเร็งชนิดอื่นๆ
ผู้ที่ถูกประเมินว่ามีความเสี่ยงปานกลางถึงสูง อาจจะได้รับคำแนะนำว่าสมควรตรวจเรื่องของกรรมพันธุ์ ซึ่งการตรวจเป็นการตรวจโดยเจาะเลือดหนึ่งหลอดไปตรวจ ผลการตรวจจะทำให้รู้ว่า จริงๆ แล้วมะเร็งเต้านมเกิดโดยบังเอิญ คือไม่มีกรรมพันธุ์ใดที่ก่อมะเร็งเลย กรณีเช่นนี้ ก็จะมั่นใจได้ว่า หากการรักษาเสร็จสิ้น โอกาสที่มะเร็งจะกลับมาก็คงจะน้อย
 
หรือจริงๆ แล้วเป็นมะเร็งเต้านมเพราะเป็นกรรมพันธุ์ ในกรณีเช่นนี้ หากมีเต้านมเหลืออยู่ เต้านมส่วนที่ปกติก็อาจจะกลายเป็นมะเร็งในอนาคต
 

เมื่อไหร่ที่ควรตรวจพันธุกรรม และใครที่ควรตรวจ

การตรวจทำเมื่อมีประวัติครอบครัวหรือประวัติส่วนตัวที่ทำให้เกิดความเสี่ยง ก็ต้องทราบประวัติของตนเองและประเมินประวัติของตนเองว่าเสี่ยงหรือเปล่า หากเสี่ยงเราจะยังไม่รีบบุ่มบ่ามตรวจ แต่เราจะให้การประเมินความเสี่ยงก่อนว่าท่านเสี่ยงสูงจริงและเหมาะกับการตรวจ กับแบบที่สอง คือ ไม่ได้มีความเสี่ยงใด แค่สนใจที่จะดูแลสุขภาพของตนเองให้ดีที่สุด ทั้งสองกลุ่มนี้เหมือนกัน คือ ผมแนะนำให้พูดคุยกับบุคลากรที่มีความชำนาญเพื่อที่จะประเมินความเสี่ยง หากเห็นประโยชน์ของข้อดีของการตรวจในแง่ป้องกัน และรับทราบข้อจำกัดและยอมรับมันได้ ก็เหมาะที่จะทำการตรวจ
 

เมื่อตรวจแล้วทราบผล ต้องทำอย่างไร

หากทราบผลตรวจแล้ว ควรจะเดินต่อไปข้างหน้า หาโอกาสที่จะป้องกันมะเร็งให้กับตนเอง ถ้าเป็นคนที่แข็งแรงเราจะแนะนำให้ท่านทำเอกซเรย์เต้านม คือ แมมโมแกรม บ่อยครั้งขึ้น และเร็วขึ้น อายุอาจจะ 25 - 30 ปี แต่เราแนะนำให้เริ่มทำแล้ว การตรวจที่ผมกล่าวมาจะทำเป็นระยะ อาจจะทุก 6 เดือน หรือ ทุก 1 ปี อยู่ในความควบคุมของแพทย์อย่างใกล้ชิด
 

การตรวจพันธุกรรมเพื่อป้องกันมะเร็งเต้านม ต่างกับวิธีแมมโมแกรมหรืออัลตราซาวด์และ MRI อย่างไร

การตรวจทางกรรมพันธุ์เป็นการทำนายความเสี่ยง ไม่ได้บอกว่าเป็นมะเร็ง ดังนั้นหากตรวจเจอ เราจึงไม่แนะนำให้ตื่นตระหนก แต่จะเพิ่มโอกาสการเฝ้าระวัง
 
การตรวจแมมโมแกรม การตรวจ MRI แม้แต่การตัดชิ้นเนื้อนั้น เป็นการวินิจฉัยมะเร็ง ไม่ได้ตรวจกรองมะเร็งด้วยซ้ำไป
 

ถ้าเคยรักษามะเร็งเต้านมหายแล้ว การตรวจกรรมพันธุ์สามารถตรวจเพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งซ้ำได้หรือไม่

กรรมพันธุ์เป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อมะเร็ง ดังนั้นหาก มะเร็งเต้านมที่เป็นแล้วเกิดจากกรรมพันธุ์ แปลว่าจริงๆ แล้วเสี่ยงสูงที่จะเป็นซ้ำอีก เพราะฉะนั้นในความเห็นผม สุภาพสตรีที่เป็นมะเร็งแล้วทุกคน จริงๆรวมทั้งสุภาพบุรุษที่เป็นมะเร็งเต้านมด้วย ทุกคนควรได้รับการประเมินทางพันธุกรรมว่าโอกาสที่มะเร็งเต้านมนั้นเกิดจากพันธุกรรมนั้นสูงหรือต่ำ หากว่าโอกาสนั้นสูง และสูงพอ ควรเริ่มพูดคุยเรื่องการตรวจทางพันธุกรรมถึงข้อดีและข้อจำกัด
 


 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:



แก้ไขล่าสุด: 24 พฤษภาคม 2565

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs