bih.button.backtotop.text

การผ่าตัดเชื่อมกระดูกผ่านผิวหนัง (Percutaneous Transforaminal Lumbar Interbody Fusion)

การผ่าตัด percutaneous TLIF หรือการผ่าตัดเชื่อมกระดูกผ่านผิวหนัง คือการผ่าตัดที่แพทย์จะยึดตรึงกระดูกสันหลังเข้าด้วยกันผ่านทางแผลผ่าตัดขนาดเล็กบนผิวหนัง (key-hole surgery)

Overview

การผ่าตัดกระดูกสันหลังในอดีต แพทย์จำเป็นต้องเปิดแผลยาวที่กลางหลัง และต้องทำการเลาะกล้ามเนื้อออกจากกระดูกเป็นบริเวณกว้างเพื่อให้ทำการผ่าตัดได้สะดวก ซึ่งการเลาะกล้ามเนื้อนี้เองเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยมีความเจ็บจากการผ่าตัดมากและทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวจากการผ่าตัดได้ช้า 

ด้วยเทคโนโลยีการผ่าตัดปัจจุบันแพทย์จะเปิดแผลเล็กๆ เพียง 4-5แผล เพื่อทำการสอดอุปกรณ์เข้าไปยึดตรึงกระดูกสันหลัง และทำการผ่าตัดแทรกผ่านเส้นใยของกล้ามเนื้อ โดยไม่ต้องเลาะกล้ามเนื้อออกจากกระดูกอีกต่อไป 
 
นอกจากการเชื่อมกระดูกผ่านผิวหนังแล้ว สถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์ยังใช้เครื่องคอมพิวเตอร์นำวิถี (O-arm) เข้ามาช่วยระหว่างผ่าตัดอีกด้วย  โดยหลักการทำงานของเครื่องมือตัวนี้มีส่วนคล้ายอุปกรณ์ GPSในรถยนต์ ศัลยแพทย์จะเห็นภาพ 3มิติตลอดเวลาที่ทำการผ่าตัด ซึ่งทำให้ความแม่นยำในการใส่เครื่องมือเพิ่มมากถึง 99% ด้วยเทคโนโลยีการผ่าตัดแบบใหม่นี้ทำให้ลดความเจ็บปวดจากการผ่าตัดลงอย่างมากและผู้ป่วยสามารถกลับคืนสู่ชีวิตประจำวันปรกติได้เร็วขึ้นมาก
การผ่าตัดชนิดนี้แพทย์จะแนะนำให้ทำเมื่อกระดูกสันหลังมีความเสื่อมระดับรุนแรง หรือมีการเสียความมั่นคงของกระดูกสันหลังเกิดขึ้นแล้ว
SNAP1387406222_Edit-1.jpg
TLIF-x-ray-ap-and-lat_Edit-1.jpg
หลังจากที่ผู้ป่วยหลับและได้รับการจัดท่าบนเตียงผ่าตัดแล้ว เครื่อง O-arm จะถูกใช้เพื่อสร้างภาพสามมิติของกระดูกสันหลัง จากนั้นแพทย์จะทำการยึดตรึงกระดูกผ่านทางช่องเปิดเล็กๆทางผิวหนัง และจะทำการคลายการกดทับของเส้นประสาทผ่านอุปกรณ์คล้ายท่อโดยการมองผ่านกล้องจุลทรรศน์ เมื่อเสร็จสิ้นแล้วก็จะสอดอุปกรณ์ซึ่งมีส่วนกระดูกของผู้ป่วยเองอยู่ด้านในเข้าไปเพื่อให้กระดูกเชื่อมติดกันในภายหลัง การผ่าตัดทั้งหมดใช้เวลาราวๆ 3-4 ชั่วโมง

 

IMG_2161-3-(2).jpg

  • ระยะเวลานอนรพ.สั้นกว่าเดิมมาก
  • ลดการเจ็บปวดหลังผ่าตัดลงอย่างมาก
  • ไม่จำเป็นต้องได้รับเลือดหลังผ่าตัด
  • ความแม่นยำในการใส่เครื่องมือสูงถึง 99%
  • เดินภายใน 24ชม.หลังผ่าตัด
การผ่าตัดย่อมมีความเสี่ยงในการเกิดอาการต่างๆ ดังต่อไปนี้
  • รากประสาทถูกทำลาย และทำให้เส้นประสาทฉีกขาดจนมีอาการอ่อนแรงหรือมีอาการผิดปกติของระบบปัสสาวะและมีการติดเชื้อ
  • มีเลือดไหลออกหลังจากการผ่าตัด
  • น้ำไขสันหลังรั่ว
  • แผลติดเชื้อ
  • ร่างกายได้รับรังสี
  • อาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการยึดสกรูบริเวณผ่าตัด เช่น การวางตำแหน่งไม่เหมาะสม การแตกหักของสกรู ก้านโลหะ ชิ้นหรือกระดูกเทียมที่ใช้
  • อาการลิ่มเลือดอุดตันที่ขา ซึ่งลิ่มเลือดนี้อาจจะเคลื่อนไปอุดตันบริเวณปอดได้ (pulmonary embolism)
  • ในบางราย อาการข้างเคียงอาจจะเกิดหลังจากผ่าตัดไปแล้วภายใน 1 ปี
ผู้ป่วยที่ควรใช้วิธีการรักษาแบบนี้คือผู้ป่วยที่มีอาการกระดูกสันหลังเคลื่อน เช่น มีอาการปวดหลังเมื่อมีการเคลื่อนไหว หรือปวดแบบตุบๆ แต่ไม่เหมาะกับผู้มีอาการกระดูกสันหลังเคลื่อนรุนแรงจนเกินไป ผู้ป่วยที่มีอาการกระดูกพรุนรุนแรงจะมีความเสี่ยงต่อการตรึงสกรูในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม จึงไม่ควรใช้วิธีการรักษาด้วยการยึดตรึงกระดูกสันหลัง
ก่อนการผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจเช็คร่างกายด้วยการเอกซเรย์ การเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI scan) และการตรวจเช็คร่างกายทั่วไป ผู้ป่วยจะต้องบอกถึงประวัติการรักษา อาการแพ้ยา หรือการรักษาอื่นๆ ที่ได้รับอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ยากลุ่มที่มีฤทธิ์ต้านการจับตัวของเกล็ดเลือดหรือยาต้านการจับตัวของลิ่มเลือด (antiplatelets and anticoagulants) เช่น แอสไพรินและวาร์ฟาริน ผู้ป่วยควรหยุดใช้ยาดังกล่าวเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ก่อนเข้ารับการผ่าตัด หลังจากการผ่าตัดแล้ว ผู้ป่วยจะสามารถเดินได้ในวันรุ่งขึ้นและจะพักรักษาตัวไม่เกิน 1 สัปดาห์
แก้ไขล่าสุด: 26 มีนาคม 2563

Related conditions

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์รักษาที่เกี่ยวข้อง

สถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 9.83 of 10, จากจำนวนคนโหวต 46 คน

บทความที่เกี่ยวข้อง