bih.button.backtotop.text

Cardiac Electrophysiology Lab (EP Lab)

Cardiac Electrophysiology Lab (EP Lab) โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ให้บริการตรวจวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือมีความผิดปกติของระบบไฟฟ้าหัวใจทุกชนิด โดยคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาระบบไฟฟ้าหัวใจโดยเฉพาะ ห้องปฏิบัติการระบบไฟฟ้าหัวใจนี้เพียบพร้อมด้วยอุปกรณ์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูง วิเคราะห์หาต้นเหตุและรักษาไฟฟ้าหัวใจด้วยระบบ CARTO (CARTO system) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สามารถแสดงภาพเสมือนจริง ทำให้เห็นตำแหน่งของความผิดปกติได้ชัดเจน จึงช่วยเพิ่มความแม่นยำในการตรวจวินิจฉัยและรักษา ส่งผลให้ประสิทธิผลของการรักษาดีขึ้นและผู้ป่วยได้รับผลแทรกซ้อนลดลง

การบริการของ Cardiac Electrophysiology Lab
  • Electrophysiology Study หรือการตรวจวินิจฉัยทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ เป็นการตรวจประเมินสัญญาณไฟฟ้าหัวใจและทางเดินไฟฟ้าหัวใจ เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและตำแหน่งที่ระบบไฟฟ้าในหัวใจผิดปกติส่งผลให้หัวใจเต้นผิดปกติ แสดงผลเป็นกราฟ 2 มิติ ช่วยให้แพทย์พิจารณาทางเลือกในการรักษาที่เหมาะสม ด้วยวิธีการนี้หากแพทย์พิจารณาให้การรักษาโดยการจี้ด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง ก็สามารถให้การรักษาได้ต่อเนื่องทันทีหลังจากการตรวจวินิจฉัยทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจแล้ว
การจี้จุดกำเนิดการเต้นผิดปกติในหัวใจโดยคลื่นวิทยุความถี่สูง คือการใช้สายสวนสอดไปตามหลอดเลือดถึงห้องหัวใจ ที่ปลายสายจะมีขั้วปล่อยพลังงานคลื่นวิทยุ ณ ตำแหน่งที่มีกระแสไฟฟ้าหัวใจผิดปกติเพื่อทำลายตำแหน่งที่มีการนำไฟฟ้าผิดปกติ
 
  • การรักษาโดยการจี้จุดกำเนิดการเต้นผิดปกติในหัวใจโดยอาศัยเครื่องค้นหาตำแหน่งการเกิดความผิดปกติของระบบไฟฟ้าหัวใจ (CARTO system) เป็นการรักษาโดยการหาตำแหน่งความผิดปกติของระบบไฟฟ้าหัวใจซึ่งสามารถแสดงเป็นภาพ 3 มิติแบบ real-time และใช้สายสวนจี้ที่จุดที่ผิดปกตินั้นด้วยคลื่นวิทยุ วิธีนี้สามารถใช้ในการรักษาความผิดปกติของระบบไฟฟ้าหัวใจที่มักมีจุดกำเนิดผิดปกติในบริเวณกว้าง อาทิ
 
  • การฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ (pacemaker) เป็นการฝังเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์เล็ก ๆ ไว้ใต้ผิวหนังบริเวณใต้กระดูกไหปลาร้าเชื่อมกับสายนำไฟฟ้าไปยังหัวใจ เครื่องจะทำการตรวจจับจังหวะการเต้นของหัวใจ สายนำไฟฟ้าจะเป็นตัวควบคุม และกระตุ้นให้หัวใจเต้นตามอัตราที่กำหนด ใช้ในการรักษาภาวะหัวใจมีจังหวะช้าผิดปกติ
 
  • การฝังเครื่องกระตุกหัวใจ (implantable cardioverter defibrillator; ICD) เป็นการฝังเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์คล้าย pacemaker เชื่อมกับสายนำไฟฟ้าไปยังหัวใจ ซึ่งนอกจากช่วยกระตุ้นหัวใจกรณีเต้นช้าแล้ว ยังสามารถกระตุกหัวใจในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะชนิดร้ายแรงถึงชีวิต ใช้ป้องกันการเสียชีวิตกะทันหัน
 
  • การฝังเครื่องกระตุ้น/กระตุกไฟฟ้าหัวใจชนิดปรับการทำงานกล้ามเนื้อหัวใจให้บีบตัวประสานงานกัน (cardiac resynchronization therapy; CRT) เป็นการฝังเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์คล้าย pacemaker หรือ ICD ใช้รักษาภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรังที่รักษาด้วยยาเต็มที่แล้วแต่ยังมีภาวะหัวใจล้มเหลวอยู่ ให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานได้ดีขึ้น
ห้องปฏิบัติการระบบไฟฟ้าหัวใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ประกอบด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงสำหรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ได้แก่
  • ระบบ CARTO (CARTO system) เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการสร้างภาพ 3 มิติ เพื่อให้ได้ภาพโครงสร้างของหัวใจและคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ชัดเจน ซึ่งจะแสดงเป็นสีต่างๆ กันตามความซับซ้อนของการนำไฟฟ้า สามารถสร้างภาพได้หลากหลายและจำเพาะเจาะจงมากขึ้น ช่วยให้แพทย์สามารถระบุตำแหน่งที่เกิดความผิดปกติและเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุด แพทย์สามารถทำการรักษาโดยการจี้ที่หัวใจได้อย่างถูกต้องแม่นยำ เพิ่มประสิทธิผลของการรักษาได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ระบบ CARTO จะทำงานร่วมกับอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ ประกอบด้วย
 
    • CARTOSOUND เป็นระบบอัลตราซาวนด์ที่สามารถทำงานร่วมกับซอฟต์แวร์ในการสร้างภาพกราฟฟิค 3 มิติ ทำให้แพทย์เห็นโครงสร้างของหัวใจและตำแหน่งที่เกิดความผิดปกติได้อย่างชัดเจน
    • เอกซเรย์คอมพิวเตอร์
    • ระบบการระบุตำแหน่งของสายสวนคล้าย GPS เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัยและรักษา
    • ซอฟต์แวร์ มีหลากหลายชนิด สามารถใช้ในการสร้างภาพที่หลากหลายและจำเพาะเจาะจงกับชนิดของภาวะหัวใจผิดปกติที่ผู้ป่วยเป็นได้มากขึ้น เช่น CFAEs (complex fractionated atrial electrocardiograms) ใช้ในการหาตำแหน่งคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ซับซ้อน เป็นต้น
ในระหว่างการวินิจฉัยหรือรักษา ระบบ CARTO ซึ่งแสดงภาพ 3 มิตินี้จะแสดงแบบ real-time เพื่อให้แพทย์สามารถทำการรักษาได้ตรงตำแหน่งที่ตรวจพบความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
 
  • เครื่องจี้ความถี่วิทยุ ที่สามารถกำหนดพลังงานและอุณหภูมิในการจี้หัวใจ รวมทั้งระบบการหล่อเย็นที่ปลายสายเพื่อให้การจี้หัวใจมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ห้องปฏิบัติการระบบไฟฟ้าหัวใจได้รับการออกแบบให้สามารถใช้เป็นห้องผ่าตัดได้เมื่อต้องการ โดยมีการควบคุมสิ่งแวดล้อมให้ปลอดเชื้อเช่นเดียวกับห้องผ่าตัด คือ มีการใช้ระบบการถ่ายเทอากาศแบบ laminar airflow และใช้ระบบการกรองอากาศด้วย HEPA filter เพื่อขจัดเชื้อต่างๆ ให้ได้มากที่สุด ทำให้สามารถผ่าตัดผู้ป่วยในห้องปฏิบัติการระบบไฟฟ้าหัวใจได้ทันทีในกรณีที่มีความจำเป็น
 
คณะแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ประจำห้องปฏิบัติการระบบไฟฟ้าหัวใจจะทำงานร่วมกันและประสานกันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดผลในการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วย ประกอบด้วย
  • แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบไฟฟ้าหัวใจ
  • พยาบาลวิชาชีพซึ่งผ่านการอบรมด้านระบบไฟฟ้าหัวใจโดยเฉพาะ
  • นักรังสีการแพทย์
  • นักเทคนิคการแพทย์ประจำห้องปฏิบัติการระบบไฟฟ้าหัวใจ
แก้ไขล่าสุด: 18 มีนาคม 2565

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์รักษาที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์หัวใจเต้นผิดจังหวะ

ดูเพิ่มเติม

สถาบันโรคหัวใจ (Heart Institute)

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 9.62 of 10, จากจำนวนคนโหวต 111 คน

บทความที่เกี่ยวข้อง