bih.button.backtotop.text

การผ่าตัด Fontan’s Operation

Fontan’s Operation (การผ่าตัดฟอนแทนหรือการผ่าตัดทำทางเดินเส้นเลือดใหม่) คือ การผ่าตัดแบบประคับประคองเพื่อรักษาโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดประเภท “โรคหัวใจพิการจากหัวใจห้องล่างทำงานห้องเดียว” ซึ่งเป็นกลุ่มของโรคหัวใจพิการชนิดต่างๆ ที่มีลักษณะอาการของโรคแตกต่างกันไป แต่จะมีลักษณะที่เด่นชัดร่วมกันคือ หัวใจห้องล่างจะมีขนาดที่สามารถทำหน้าที่ตามปกติได้เพียงห้องเดียว ความพิการทางหัวใจเหล่านี้ได้แก่ ลิ้นหัวใจระหว่างห้องบนและห้องล่างขวาตีบตัน (tricuspid atresia) กลุ่มอาการหัวใจด้านขวาเจริญพร่อง (hypoplastic right heart syndrome) และหัวใจห้องล่างซ้ายมีทางเข้า 2 ช่อง (double inlet left ventricle) โดยทั่วไปความพิการทางหัวใจเหล่านี้จะใช้การผ่าตัดสร้างเสริมหลายๆ ระยะจนในที่สุดเกิดเป็น “การไหลเวียนกระแสเลือดแบบฟอนแทน” (Fontan circulation)

ในหัวใจที่เป็นปกติทั่วไป หัวใจห้องล่างแต่ละห้องทำหน้าที่แยกจากกัน หัวใจห้องล่างขวาจะสูบฉีดเลือดไปฟอกที่ปอดและหัวใจห้องล่างซ้ายจะสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย ในหัวใจที่มีห้องล่างทำงานเพียงห้องเดียว จะมีหัวใจห้องล่างเพียงหนึ่งห้องที่มีขนาดโตพอที่จะทำหน้าที่สูบฉีดเลือดตามปกติได้ ซึ่งจะมีภาระที่หนักขึ้นคือการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย ส่วนการพาเลือดไปฟอกที่ปอดจะเกิดขึ้นโดยที่ไม่มีการสูบฉีดเลือดจากหัวใจ การผ่าตัดหลากหลายรูปแบบอาจมีความจำเป็นในการบรรลุจุดประสงค์นี้โดยขึ้นอยู่กับตัวผู้ป่วยและความจำเป็นของผู้ป่วย

ประเภทของการผ่าตัดค่อนข้างผันแปรตามลักษณะความพิการของหัวใจ โดยทั่วไปแล้วจะใช้การผ่าตัด 3 ครั้งเพื่อทำให้เกิดเป็นการไหลเวียนกระแสเลือดแบบฟอนแทน โดยปกติการผ่าตัดครั้งแรกจะเกิดขึ้นภายในสัปดาห์แรกหลังการคลอดซึ่งจะเป็นการปรับปริมาณของเลือดที่ไปฟอกที่ปอดให้เหมาะสม ถ้าเลือดที่ไปปอดมีมากเกินไปจะใช้สายรัดรอบๆ หลอดเลือดแดงไปปอดเพื่อควบคุมปริมาณการไหลของเลือดและป้องกันการเกิดภาวะความดันสูงในปอด วิธีการนี้เรียกว่า “การผ่าตัดผูกรัดหลอดเลือดแดงไปปอด” (pulmonary artery banding) ถ้าในกรณีที่มีเลือดไปฟอกที่ปอดไม่เพียงพอจะใช้การผ่าตัดด้วยวิธี Blalock-Taussig Shunt โดยใช้หลอดเลือดของผู้ป่วยเองหรือใช้เส้นเลือดเทียมทำจากวัสดุสังเคราะห์ต่อเชื่อมระหว่างแขนงหลอดเลือดแดงใต้กระดูกไหปลาร้า (แขนงของหลอดเลือดแดงใหญ่) และหลอดเลือดแดงไปปอด

การผ่าตัดในครั้งถัดไปจะเริ่มเมื่ออายุประมาณ 4-12 เดือน เรียกว่า Glenn operation หรือ hemi-Fontan โดยตัดหลอดเลือดดำใหญ่ที่นำเลือดเสียจากส่วนศีรษะและส่วนบนของร่างกายกลับสู่หัวใจออกแล้วนำไปเย็บต่อเข้ากับหลอดเลือดแดงไปปอด เส้นเลือดเทียมและสายรัดที่ใส่ไว้ในการผ่าตัดครั้งก่อนอาจถูกถอดออกไปในครั้งนี้

การผ่าตัดในครั้งที่สามซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย เรียกว่า Fontan completion operation ซึ่งโดยปกติจะเริ่มเมื่ออายุประมาณ 2-3 ปี ในระหว่างการผ่าตัดนี้ หลอดเลือดดำใหญ่ที่นำเลือดเสียจากส่วนล่างของร่างกายกลับสู่หัวใจจะถูกตัดต่อเชื่อมเข้ากับหลอดเลือดแดงไปปอด ซึ่งก่อนหน้านี้เลือดส่วนนี้ไม่ได้ผ่านการฟอกที่ปอดและถูกสูบฉีดไปเลี้ยงร่างกายเป็นผลให้ระดับออกซิเจนในร่างกายต่ำกว่าปกติ เทคนิคการผ่าตัดในขั้นตอนของ Fontan completion operation ที่ใช้กันมากที่สุด 2 แบบคือ เทคนิคแบบ lateral tunnel และเทคนิคแบบ extra-cardiac ในกรณีของวิธี lateral tunnel นั้นจะใช้ผนังเทียมแผ่นรูปทรงคล้ายอุโมงค์เย็บติดไว้ภายในหัวใจห้องบนขวาบริเวณผนังด้านข้างแล้วเชื่อมต่อกับหลอดเลือดแดงไปปอดเพื่อเป็นทางเดินของเลือดเสียที่มาจากหลอดเลือดดำใหญ่ส่วนล่างเข้าสู่หลอดเลือดแดงไปปอด ส่วนวิธี extra-cardiac นั้นจะเชื่อมต่อหลอดสังเคราะห์เข้ากับด้านบนของหลอดเลือดดำใหญ่ส่วนล่าง และเย็บต่อหลอดสังเคราะห์อีกปลายหนึ่งเข้ากับหลอดเลือดแดงไปปอด ทำให้เกิดเป็นเส้นทางเดินเลือดด้านนอกหัวใจ

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัด
  • ดูแลความสะอาดร่างกายของผู้ป่วย ไม่สวมโลหะ สายสิญจน์หรือทาสีเล็บ
  • งดยาบางชนิดอย่างน้อย 7-10 วัน เช่น ยาแอสไพรินหรือยาหัวใจบางชนิดซึ่งแพทย์จะเป็นผู้แจ้งให้ทราบ
  • ถ้ามีประวัติเลือดออกง่าย หยุดยากผิดปกติ หรือมีจ้ำเลือดตามร่างกายของผู้ป่วยหรือญาติพี่น้องจะต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ
  • กรณีที่ผู้ป่วยเป็นหวัด มีไข้ อาจต้องงดทำผ่าตัด
  • กรณีมีฟันผุควรไปรักษาฟันก่อนการทำผ่าตัดเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจและหัวใจหลังผ่าตัด ยกเว้นในเด็กเล็กหรือเด็กที่มีอาการเขียวมากซึ่งอาจเกิดปัญหาขณะทำฟัน
  • ดูแลให้ผู้ป่วยงดน้ำงดอาหารตามแผนการรักษาของวิสัญญีแพทย์
ภายหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจะพักฟื้นในหออภิบาลผู้ป่วยหนัก โดยมีระบบต่างๆ คอยช่วยวัดและบันทึกอัตราการเต้นและจังหวะการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต อุณหภูมิของร่างกายและอัตราการหายใจ การติดตามผลจะค่อยๆ ลดน้อยลงเมื่อผู้ป่วยเริ่มฟื้นตัว ก่อนออกจากโรงพยาบาล ครอบครัวผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำวิธีดูแลผู้ป่วยเด็กที่บ้าน ตั้งแต่ข้อมูลในการให้ยา การดูแลแผลผ่าตัด และกิจกรรมที่ควรหลีกเลี่ยง

ผู้ป่วยเด็กต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง แพทย์จะกำหนดตารางเวลาการตรวจร่างกายเพื่อให้แน่ใจว่าการผ่าตัดได้ผลดีและเป็นการเฝ้าติดตามปัญหาใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้น การผ่าตัด Fontan operation เป็นการรักษาแบบประคับประคอง มิใช่การบำบัดให้หายจากโรค ผู้ป่วยเด็กจะมีขีดจำกัดอันเนื่องมาจากความพิการทางหัวใจที่แตกต่างกันได้มาก เด็กๆ หลายคนที่ทำ Fontan circulations สามารถเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาได้ ในขณะที่เด็กคนอื่นๆ จะมีขีดความสามารถค่อนข้างจำกัดมากแม้แต่การออกกำลังกาย เด็กๆ ส่วนใหญ่จะทำได้ประมาณกลางๆ มีหลายรายที่ร่างกายมีการเจริญเติบโต มีพัฒนาการ มีความสามารถในการออกกำลัง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีในระดับปกติหรือใกล้เคียงระดับปกติได้ ให้รีบแจ้งแพทย์ถ้าผู้ป่วยเด็กเกิดมีปัญหาใหม่ขึ้น ตัวอย่างเช่น
  • อาการไข้
  • อาการแดง อาการบวม หรือมีเลือดออกจากแผลผ่าตัด
  • อาการหายใจถี่
  • มีอาการอ่อนเพลียหรืออาการเหน็ดเหนื่อยมากเกินไป
  • มีอาการเบื่ออาหารหรือไม่ยอมรับประทานอาหาร
  • มีอาการปวดเพิ่มขึ้น
  • การตกเลือด
  • การติดเชื้อ
  • ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา
  • ภาวะหัวใจล้มเหลว
  • การเกิดลิ่มเลือดซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะหลอดเลือดสมองอุดตัน หรือภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่ปอด
  • ภาวะน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอดและภาวะน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ
  • การเสียชีวิต
ก่อนทำหัตถการ
  • ผู้ป่วยควรอยู่ในประเทศไทยประมาณ 2-3 สัปดาห์ตลอดระยะเวลาการรักษา
  • แนะนำให้พักโรงแรมใกล้โรงพยาบาลเพื่อความสะดวกในการเดินทางมาโรงพยาบาลทั้งก่อนและหลังผ่าตัดจนถึงวันนัดพบแพทย์
หลังทำหัตถการ
  • ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจร่างกายและดูแลแผลผ่าตัดในวันนัด และได้รับเอกสารรายงานการผ่าตัดและเอกสารที่เกี่ยวข้อง
  • การดูแลแผล ทำความสะอาดด้วยการอาบน้ำฟอกสบู่ทุกวัน ซับแผลให้แห้ง งดการทาครีม โลชั่น หรือโรยแป้งที่แผล ติดต่อแพทย์ถ้าพบว่ามีอาการติดเชื้อที่แผล
  • ในการเดินทางกลับประเทศโดยเครื่องบินหากผู้ป่วยนั่งชั้นประหยัด (economy class) แนะนำให้เลือกที่นั่งแถวหน้าและลุกเดินบ่อยๆ ทุก 15-30 นาที รวมถึงกระดกข้อเท้า (foot ankle pump) บ่อยๆ เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่ขา
  • รับประทานยาตามแพทย์สั่ง ควรพกพายาประจำตัวอย่างเพียงพอไว้ในสัมภาระถือขึ้นเครื่องสำหรับการเดินทาง และสำรองปริมาณยาเพิ่มเติมสำหรับอีกหนึ่งหรือสองวัน รวมถึงควรพกใบสั่งยาติดตัวไว้ตลอดเวลาเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นที่จุดตรวจของศุลกากร
ความสำเร็จจากการทำหัตถการขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์
 
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าไม่รักษาด้วยวิธีนี้
Fontan’s operation เป็นการผ่าตัดเพื่อปรับปรุงการไหลเวียนของเลือดและออกซิเจนสู่หัวใจ หากไม่รักษาด้วยวิธีการผ่าตัด ผู้ป่วยจะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้
 
การใช้ยาและวิธีการรักษาแบบประคับประคองอื่นๆ จนกว่าจะทำการผ่าตัด Fontan’s operation
แก้ไขล่าสุด: 17 มกราคม 2566

Related conditions

Doctors Related

Related Centers

สถาบันโรคหัวใจ (Heart Institute)

ดูเพิ่มเติม

Related Packages

คะแนนโหวต 10.00 of 10, จากจำนวนคนโหวต 1 คน

Related Health Blogs