การเตรียมตัวเพื่อเข้ารับการผ่าตัด
- หากอยู่ระหว่างการรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดเนื่องจากโรคประจำตัว เช่น ยา Aspirin, Persantin, Ticlid, Plavix, Warfarin, Heparin, Fraxiparine ให้หยุดยาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ก่อนการผ่าตัดโดยการพิจารณาจากแพทย์
- แพทย์จะประเมินสุขภาพของท่านโดยการตรวจร่างกาย เจาะตรวจเลือด เอกซเรย์ และตรวจคลื่นหัวใจตามความเหมาะสม
- นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ควรสูบบุหรี่หรือดื่มสุรา เนื่องจากอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการทำผ่าตัด
- หากมีอาการป่วย มีไข้ก่อนวันผ่าตัด 1 วัน ควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่พยาบาลหรือแพทย์ผู้ให้การรักษา
- ควรงดน้ำและอาหารทุกชนิดก่อนการผ่าตัด 6-8 ชั่วโมง
- ผู้ป่วยอาจต้องปรึกษานักกายภาพบำบัดซึ่งจะช่วยวางแผนการฟื้นฟูร่างกายหลังจากผ่าตัดและเพื่อที่จะได้เริ่มต้นการฟื้นฟูได้ทันที การได้พบกับนักกายภาพบำบัดก่อนการผ่าตัดมีวัตถุประสงค์เพื่อบันทึกข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็น นักกายภาพจะประเมินระดับความเจ็บปวด ความสามารถในการทำกิจกรรม การเคลื่อนไหว และความแข็งแรงของหัวเข่าแต่ละข้าง วัตถุประสงค์อีกประการของการพบนักกายภาพก่อนการผ่าตัดคือเพื่อการเตรียมตัวก่อนการผ่าตัด นักกายภาพจะสอนให้ผู้ป่วยฝึกเดินอย่างปลอดภัยโดยใช้ไม้ค้ำหรืออุปกรณ์ช่วยฝึกเดิน ผู้ป่วยจะได้เรียนรู้ท่าการออกกำลังกายที่จะช่วยในการฟื้นฟูร่างกายอีกด้วย
- ในวันผ่าตัด ผู้ป่วยอาจต้องมาถึงโรงพยาบาลแต่เช้าเพื่อลงทะเบียนผู้ป่วยใน ห้ามมิให้รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำตั้งแต่หลังเที่ยงคืนของคืนก่อนวันผ่าตัด
ขั้นตอนการทำหัตถการ
ก่อนการผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้รับยาดมสลบหรือการบล็อกหลัง จากนั้นแพทย์จะทำการเจาะรูที่หัวเข่า 2-3 รู หรือที่เรียกว่า portal ซึ่ง portal นี้เองจะใช้ในการใส่กล้องและอุปกรณ์ผ่าตัดเข้าไปในหัวเข่า การผ่าตัดเพื่อการนำหมอนรองกระดูกเฉพาะส่วนที่เสียหายออกไปนั้นเรียกว่า partial meniscectomy แพทย์จะเริ่มต้นการผ่าตัดโดยการใส่กล้องเข้าไปใน portal รูที่หนึ่ง จากนั้นใส่สาย probe เข้าไปใน portal อีกรู แพทย์จะดูบนหน้าจอขณะที่ใส่สาย probe เข้าไปยังหมอนรองกระดูก ซึ่งทำให้สามารถตรวจภายในข้อเข่าได้ทั้งหมด เมื่อพบบริเวณที่มีการฉีกขาดแล้ว แพทย์จะทำการบ่งชี้ลักษณะของการขาดและบริเวณที่แน่นอน จากนั้นแพทย์จะใส่อุปกรณ์การผ่าตัดเข้าไปใน portal อีกรูหนึ่ง ซึ่งจะเป็นรูที่ใช้นำชิ้นส่วนหมอนรองกระดูกที่ขาดออกมา
เมื่อนำส่วนที่เสียหายออกมาได้แล้ว แพทย์จะตรวจสอบหัวเข่าอีกครั้งด้วย probe เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีส่วนที่เสียหายหลงเหลืออยู่อีก จากนั้นแพทย์จะใช้คัตเตอร์ขนาดเล็กในการตัดแต่งให้หมอนรองกระดูกมีรูปทรงที่เหมาะสมและล้างข้อต่อด้วยน้ำเกลือเพื่อล้างเศษเนื้อเยื่อจากการผ่าตัดให้หลุดออกไป และทำการเย็บปิด portal
การรักษาด้วยการเย็บ
Suture Repair
แพทย์จะทำการบ่งชี้ตำแหน่งที่มีการฉีกขาดด้วยกล้องและ probe และใช้ probe ในการยึดบริเวณที่ขาดออกจากกันเข้าด้วยกัน และใช้ rasp หรือ shaver เพื่อเกลาผิวที่ขรุขระของรอยฉีกให้เรียบขึ้น จากนั้นจะทำการสอดท่อที่เรียกว่า cannula เข้ามาใน portal และทำการเย็บผ่าน cannula นี้ และดึงไหมให้ตึงเพื่อให้รอยขาดติดกัน มัดปม 2-3 ครั้ง และทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเย็บรอยขาดได้ทั้งหมด
อีกวิธีหนึ่งคือการใช้เข็ม 2 เล่มแทงผ่านข้อเข่า เข็มจะเข้าจากริมด้านหนึ่งของหมอนรองกระดูกไปยังบริเวณที่มีการฉีกขาด และสอดไหมเย็บเข้าทาง portal ไปยังส่วนปลายของเข็ม หรือสนไหมเข้ากับเข็มจากด้านนอกหัวเข่า ทั้งสองวิธีจะสามารถทำการเย็บรอยฉีกขาดได้ และแพทย์สามารถเย็บขอบที่ฉีกขาดของหมอนรองกระดูกได้เช่นกัน
Suture Anchor Repair
อุปกรณ์เพื่อการเย็บติดอีกชิ้นหนึ่งคือ suture anchor มักใช้เพื่อเย็บรอยฉีกขาดให้ติดเข้าด้วยกัน อุปกรณ์ชนิดนี้จะถูกสลายไปตามธรรมชาติ ซึ่งหมายความว่าจะละลายและดูดซึมไปในร่างกาย สำหรับ suture anchor นี้จะมีขาชี้ออกมาลักษณะคล้ายธนู และทำหน้าที่เสมือนลวดเย็บกระดาษ
วิธีนี้จะได้ผลดีมากหากรอยฉีกขาดมีเพียงรอยเดียวและอยู่ใกล้บริเวณขอบ (red zone) ของหมอนรองกระดูก (ตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าส่วนนี้จะมีเลือดไปหล่อเลี้ยงมากที่สุด) จากนั้นแพทย์จะใช้ probe ในการจัดวางของรอยฉีกขาด และใช้อุปกรณ์การผ่าตัดขนาดเล็กในการวางตัว suture anchor ลงไปในบริเวณของหมอนรองกระดูกที่ฉีกขาด โดยปกติมักใช้เพียง 2–3 ชิ้นเท่านั้น แต่ถ้ารอยฉีกขาดขนาดใหญ่อาจต้องใช้ 6 ชิ้น ตัว anchor นี้จะยึดขอบของรอยฉีกเข้าด้วยกันเพื่อให้สมานตัว ซึ่ง anchor จะละลายและดูดซึมไปในร่างกายโดยใช้ระยะเวลา 6 เดือน
การปฏิบัติตนหลังทำหัตถการ
หลังการผ่าตัดหมอนรองกระดูกเข่า ผู้ป่วยจะได้รับการพักฟื้นที่โรงพยาบาล 1 คืน แพทย์จะปิดรู portal ไว้เป็นอย่างดีและพันทับด้วยผ้าพันแผลแบบยางยืด
ผู้ป่วยอาจต้องใช้ไม้ค้ำยันช่วยเดินหลังผ่าตัด ซึ่งอาจต้องใช้เพียง 1-2 วันหลังผ่าตัดในกรณีไม่ซับซ้อน แพทย์จะเป็นผู้กำหนดว่าผู้ป่วยจะสามารถทิ้งน้ำหนักลงบนขาข้างที่ผ่าตัดได้มากน้อยเพียงใด โดยปกติแล้วแพทย์จะสั่งไม่ให้ผู้ป่วยทิ้งน้ำหนักลงบนขาข้างนั้นเลยเป็นเวลา 4-6 สัปดาห์หลังผ่าตัด ผู้ป่วยอาจต้องใส่ knee brace อย่างน้อย 6 สัปดาห์ โดย knee brace จะช่วยให้เข่าอยู่ในลักษณะตรง ผู้ป่วยสามารถถอดออกระหว่างวันได้เมื่อต้องการบริหารขา
กรุณาปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ในเรื่องการลงน้ำหนักลงบนขาขณะยืนหรือเดิน พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ขามากๆ หรือเคลื่อนไหวเร็วเกินไป แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยประคบเย็นที่เข่าและยกเข่าให้สูงหรือหาอะไรรองเข่าเอาไว้