bih.button.backtotop.text

การผ่าตัดต่อมลูกหมากด้วยเลเซอร์พีวีพี

การผ่าตัดต่อมลูกหมากด้วยเลเซอร์พีวีพี (Photoselective Vaporization of Prostate: PVP) เป็นวิธีการรักษาโดยการใช้เลเซอร์เพื่อตัดต่อมลูกหมาก โดยอาจตัดเพียงบางส่วนหรือทั้งหมด วิธีนี้ใช้ในการรักษาต่อมลูกหมากโต (benign prostatic hyperplasia: BPH)

ขั้นตอนการรักษา
ผู้ป่วยอาจได้รับยาชาเฉพาะที่ ยาชาเข้าทางไขสันหลัง หรือยาสลบก็ได้ โดยระหว่างการผ่าตัดแพทย์จะใช้สายเอ็นโดสโคปส่องเลเซอร์ไปที่ต่อมลูกหมากเพื่อละลายเนื้อเยื่อส่วนเกิน การผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 20-50 นาที แต่หากต่อมลูกหมากใหญ่มากก็อาจใช้เวลาในการผ่าตัดนานขึ้น
 
หลังการผ่าตัดผู้ป่วยบางท่านอาจต้องใส่สายสวนปัสสาวะเป็นเวลา 24 ชั่วโมง แต่ในกรณีที่ต่อมลูกหมากใหญ่มาก อาจต้องใส่สายสวนปัสสาวะเป็นเวลาหลายวัน
แพทย์มักแนะนำการผ่าตัดด้วยวิธีพีวีพีให้กับผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งเกิดจากอาการพองโตของต่อมลูกหมาก เช่น
  • ปัสสาวะไม่ออก
  • มีเลือดออกจากท่อปัสสาวะ
  • ไตเสื่อมเนื่องจากการสะสมของปัสสาวะเพราะอุดตัน
  • ทางเดินปัสสาวะอักเสบและติดเชื้อ
  • นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
 
อย่างไรก็ดี หากผู้ป่วยมีอาการอื่น เช่น ปัสสาวะออกช้า ปัสสาวะบ่อยครั้ง หรือปัสสาวะมากกว่า 2 ครั้งต่อคืน แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าสมควรเข้ารับการผ่าตัดหรือไม่
แม้การผ่าตัดด้วยวิธีนี้จะมีภาวะแทรกซ้อนน้อย แต่ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากยาสลบ เช่น ระบบการหายใจและระบบหัวใจทำงานผิดปกติ รวมถึงภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น
  • มีเลือดออกเล็กน้อยในปัสสาวะ
  • มีอาการแสบเล็กน้อยหรือปัสสาวะถี่ขึ้นบ่อยครั้ง
  • อาการปล่อยน้ำอสุจิลงในกระเพาะแทนที่จะออกทางท่อปัสสาวะ
 
ดังนั้น ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ทั้งก่อนและหลังการผ่าตัดเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัด
ในบางครั้งแพทย์อาจอธิบายถึงแนวทางการรักษาอื่นๆ เช่น
  • การใช้ยาเพื่อช่วยให้การขับถ่ายปัสสาวะดีขึ้นหรือช่วยให้ต่อมลูกหมากมีขนาดเล็กลง
  • การใช้ท่อสั้นๆ (stent) สอดเข้าไปในท่อปัสสาวะเพื่อช่วยให้ปัสสาวะไหลออกได้ดีขึ้น
  • การใช้ความร้อนจากคลื่นไมโครเวฟ อัลตราซาวนด์ หรือกระแสไฟฟ้า เพื่อตัดเนื้อเยื่อต่อมลูกหมากส่วนที่โต
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายที่อาการไม่ได้รบกวนชีวิตประจำวันมากเกินไป อาจเลือกที่จะไม่รับการรักษา เนื่องจากในบางครั้งอาการของโรคนี้สามารถดีขึ้นได้เองโดยไม่ต้องรักษา
ผู้ที่สมควรเข้ารับการรักษาด้วยวิธีนี้คือ ผู้ป่วยชายที่มีอาการตั้งแต่ปานกลางถึงรุนแรง เช่น มีการอุดตันของกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งเกิดจากการขยายตัวของต่อมลูกหมาก
 
ผู้ป่วยที่มีขนาดของต่อมลูกหมากในปริมาณรวมกันมากกว่า 250 ลบ.ซม. ไม่ควรได้รับการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ แต่อาจต้องใช้เทคนิคการผ่าตัดวิธีอื่น ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาถึงวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
แก้ไขล่าสุด: 19 มีนาคม 2566

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์รักษาที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์ทางเดินปัสสาวะ

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 9.85 of 10, จากจำนวนคนโหวต 66 คน

Related Health Blogs