bih.button.backtotop.text

เครื่องกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อการรักษาโรคระบบประสาท (TMS)

เครื่องกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อการรักษาโรคระบบประสาท (Trans Cranial Magnetic Stimulation System: TMS) เป็นเครื่องที่ใช้ในการกระตุ้นสมองและระบบประสาทด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดไม่ต้องผ่าตัด (non-invasive magnetic stimulation) องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (The US Food and Drug Administration: FDA) ได้อนุญาตให้มีการใช้ transcranial magnetic stimulation (TMS) ในทางการแพทย์เพื่อใช้ในรักษาโรคต่างๆ เช่น โรคไมเกรนชนิดมีออร่า โรคซึมเศร้า โรคย้ำคิดย้ำทำ ปัจจุบันได้มีการศึกษาวิจัยและนำมาใช้ในการรักษาในหลายๆ กลุ่มโรค ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) การบาดเจ็บของไขสันหลัง (spinal cord injury) กล้ามเนื้อหดเกร็ง (spasticity) ตลอดจนกลุ่มโรคทางจิตเวช เช่น กลุ่มอาการพฤติกรรมการรับประทานผิดปกติ (eating disorder) โรคจิตเภท (schizophrenia) เป็นต้น

หลักการทำงานของเครื่องกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นการกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า treatment coil โดยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าดังกล่าวจะมีลักษณะใกล้เคียงกับเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (magnetic resonance imaging: MRI) ซึ่งเป็นการใช้กระแสแม่เหล็กไฟฟ้าขนาดอ่อนๆ กระตุ้นให้วงจรกระแสประสาทสมองทำงาน ไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวดและมีความปลอดภัยสูง

กลไกการออกฤทธิ์ของเครื่องกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ายังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาวิจัย แต่มีรายงานว่าการกระตุ้นสมองซ้ำๆ ด้วย repetitive pulse transcranial magnetic stimulation (rTMS) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของวงจรกระแสประสาท ลดการทำงานของระบบต่อมใต้สมองและต่อมหมวกไต (hypothalamic-pituitary-adrenocortical system) เกิดการปรับเปลี่ยนของสารสื่อประสาท โดยในกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง สมองส่วนที่มีพยาธิสภาพจะทำงานลดลง สมองส่วนปกติจะทำงานมากขึ้น (hyperactive) ดังนั้นจึงมีการนำเครื่องกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามาใช้ในการรักษา เพื่อกระตุ้นให้สมองส่วนที่มีพยาธิสภาพเกิดการทำงานเพิ่มขึ้น ตลอดจนกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนที่สำคัญ เช่น growth hormone, brain-derivated neurotopic factor ในขณะเดียวกันก็ลดการทำงานของสมองข้างที่ปกติในการส่งสัญญาณไปควบคุมสมองข้างที่มีพยาธิสภาพ

ปัจจุบันมีการนำเครื่องกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (transcranial magnetic stimulation: TMS) มาใช้ในการฟื้นฟูอาการของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจำนวนมาก เช่น ภาวะอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขนและขา อาการพูดลำบาก อาการกลืนผิดปกติ พบว่ามีความปลอดภัย ผู้ป่วยสามารถทนต่อการรักษาได้และมีประสิทธิภาพสูงเมื่อทำควบคู่กับการทำกายภาพบำบัด

ประโยชน์และประสิทธิภาพของการรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
ประโยชน์ของการกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละบุคคล ผู้ป่วยบางรายอาจตอบสนองได้ดีต่อการรักษา ทำให้การฟื้นฟูสภาพเป็นไปอย่างรวดเร็ว ในทางตรงข้ามผู้ป่วยบางรายอาจตอบสนองได้ค่อนข้างช้าหรือไม่พบการเปลี่ยนหลังการรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า แต่จากการศึกษาวิจัยในหลายๆ กลุ่มโรค โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง พบประสิทธิภาพจากการรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ดังนี้
  • ช่วยเพิ่มความสามารถในการใช้มือ ลดเวลาในการตอบสนอง (reaction time) ของการเคลื่อนไหว และเพิ่มแรงบีบนิ้วมือในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีความทุพพลภาพระดับน้อยถึงปานกลาง
  • ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบประสาทสั่งการของกล้ามเนื้อขาข้างที่อ่อนแรงในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีความทุพพลภาพระดับน้อยถึงปานกลาง
  • ช่วยเพิ่มความสามารถในการสื่อสารในผู้ป่วยที่มีภาวะสูญเสียความสามารถในการใช้หรือการเข้าใจภาษา (aphasia)
  • ช่วยเพิ่มความสามารถในการกลืนในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีภาวะกลืนลำบาก (dysphagia)
นอกจากนี้แล้วยังมีการศึกษาในหลายๆ กลุ่มโรคทางระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน พบว่าช่วยลดความผิดปกติด้านการเคลื่อนไหวเพิ่ม ความเร็วในการเดิน อาการเคลื่อนไหวช้า (bradykinesia) ลดลง  และช่วยให้การเคลื่อนไหวของรยางค์ส่วนบนดีขึ้น แต่ไม่มีผลต่อระดับความสามารถโดยรวม
 
การรักษาฟื้นฟูด้วยกายภาพบำบัดและกิจกรรมบำบัด แต่การรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (transcranial magnetic stimulation: TMS) ร่วมกับกายภาพบำบัดและกิจกรรมบำบัดจะช่วยกระตุ้นให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
 

Related conditions

Doctors Related

Related Centers

ศูนย์โรคระบบประสาท

ดูเพิ่มเติม

แผนกผู้ป่วยวิกฤตระบบประสาทและไขสันหลัง

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต NaN of 10, จากจำนวนคนโหวต 0 คน

Related Health Blogs