bih.button.backtotop.text

การรักษาลิ้นหัวใจไมทรัลรั่วโดยการซ่อมลิ้นผ่านสายสวนด้วย MitraClip

การรักษาลิ้นหัวใจไมทรัลรั่วโดยการซ่อมลิ้นผ่านสายสวน คือ กระบวนการทำหัตถการเพื่อรักษาภาวะลิ้นหัวใจไมทรัลรั่วชนิดรุนแรงโดยการซ่อมลิ้นผ่านสายสวนด้วย MitraClip

ประโยชน์ในการทำหัตถการ

การรักษาด้วย MitraClip นี้เป็นทางเลือกสําหรับผู้ที่มีอาการและอาการแสดงจากการรั่วของลิ้นหัวใจไมทรัลชนิดรุนแรงที่ไม่สามารถทําผ่าตัดหัวใจแบบเปิดได้ หรือในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงที่อาจเกิดอันตรายจากการผ่าตัด เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคร่วมหลายโรค เป็นต้น ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เนื่องจากการรักษาด้วยวิธีนี้ลดอัตราเสี่ยงการเสียชีวิต นอกจากนี้ยังช่วยลดอาการที่เกิดจากลิ้นหัวใจรั่วและทําให้ภาวะสุขภาพโดยรวมของผู้ที่มีความเสี่ยงสูงดีขึ้น โดยอายุรแพทย์หัวใจและศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอกจะเป็นผู้พิจารณาว่าผู้ป่วยมีความเหมาะสมหรือไม่

ระดับความรุนแรงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังทำหัตถการขึ้นอยู่กับภาวะสุขภาพของแต่ละบุคคลก่อนการผ่าตัด ซึ่งความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนจากการที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่
  • มีเลือดออกจากตำแหน่งที่ใส่สายสวน (ร้อยละ 3.4)
  • ภาวะติดเชื้อของแผลตำแหน่งที่ใส่สายสวน (ร้อยละ 0)
  • มีภาวะหัวใจห้องบนเต้นสั่นพลิ้วถาวร (ร้อยละ 0.3)
  • ภาวะไตวาย (ร้อยละ 1.7)
  • ภาวะแทรกซ้อนในทางเดินอาหารที่ต้องได้รับการผ่าตัด (ร้อยละ 0.3)
  • ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย (ร้อยละ 1.1)
  • ต้องได้รับการผ่าตัดลิ้นหัวใจฉุกเฉิน (ร้อยละ 0)
  • การอุดตันของเส้นโลหิตที่ไปเลี้ยงสมอง (major stroke) (ร้อยละ 3.4)
  • อัตราการเสียชีวิตจากหัตถการ (น้อยกว่าร้อยละ 1)
 
 
โปรดแจ้งแพทย์หากมีอาการผิดปกติ เช่น
  • แผลบริเวณขาหนีบที่ใส่สายสวนมีเลือดออก ปวดและบวมนูนมากขึ้น รอยช้ำกระจายเป็นบริเวณกว้างมากขึ้น ขา หรือปลายเท้าข้างที่ใส่สายสวนมีลักษณะเย็นหรือสีคล้ำลง
  • เจ็บหน้าอก
  • หายใจเหนื่อย หายใจลำบาก
  • ใจสั่น วิงเวียนศีรษะ
  • หน้ามืด จะเป็นลม
  • มีอาการชาตามร่างกายหรือพูดไม่ชัด
  1. ผู้ป่วยควรอยู่ในประเทศไทยประมาณ 2-3 สัปดาห์ตลอดระยะเวลาการรักษาแนะนำให้พักโรงแรมใกล้โรงพยาบาลเพื่อความสะดวกในการเดินทางมาโรงพยาบาลทั้งก่อนและหลังผ่าตัดจนถึงวันนัดพบแพทย์
  2. ในการเดินทางกลับประเทศโดยเครื่องบินหากผู้ป่วยนั่งชั้นประหยัด (economy class) แนะนำให้เลือกที่นั่งแถวหน้า และลุกเดินบ่อยๆ ทุก 15-30 นาที รวมถึงกระดกข้อเท้า (foot ankle pump) บ่อยๆ เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่ขา
  3. รับประทานยาตามแพทย์สั่ง ผู้ป่วยควรพกพายาประจำตัวอย่างเพียงพอไว้ในสัมภาระถือขึ้นเครื่องสำหรับการเดินทาง และสำรองปริมาณยาเพิ่มเติมสำหรับอีกหนึ่งหรือสองวัน รวมถึงควรพกใบสั่งยาติดตัวไว้ตลอดเวลาเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นที่จุดตรวจของศุลกากร
อัตราการประสบความสำเร็จของหัตถการนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์
 
หากไม่ผ่าตัดจะเป็นอย่างไร
ลิ้นหัวใจไมทรัล (mitral valve) เป็นลิ้นหัวใจที่กั้นอยู่ระหว่างหัวใจห้องบนและล่างซ้าย เป็นชนิดที่มีลิ้น 2 ใบลิ้น โดยมี สายคล้ายกับเชือกร่มยึดลิ้นหัวใจไว้กับกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้การเปิด-ปิดของลิ้นทำงานได้ตามปกติทำให้เลือดไหลจากหัวใจห้องบนไปห้องล่างซ้ายโดยไม่มีเลือดไหลย้อนกลับเข้ามาที่ห้องบนซ้ายเมื่อมีการบีบตัวของหัวใจ เมื่อสายคล้ายกับเชือกร่มเกิดการฉีกขาดหรือถูกยืดออก หรือระยะประกบของลิ้นผิดปกติจากการที่มีการทำงานของห้องหัวใจผิดปกติ จะทำให้ลิ้นไมทรัลปลิ้น ส่งผลให้การปิดของลิ้นหัวใจไม่สนิทหรือเรียกว่าการรั่ว การรั่วของลิ้นหัวใจไมทรัลชนิดรุนแรงเป็นสาเหตุทำให้เลือดไหลย้อนกลับซึ่งทำให้หัวใจห้องบนซ้ายได้รับเลือดมากกว่าปกติและเกิดการคั่งของเลือดในระบบหัวใจ เกิดการคั่งของเลือดในปอดเช่นกัน มีผลทำให้ความดันในปอดสูงขึ้นจนเกิดภาวะน้ำท่วมปอดและภาวะหัวใจล้มเหลวตามมา ผู้ป่วยมักมีอาการไอ มีเสมหะปนเลือด เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก เหนื่อยหอบ นอนราบไม่ได้ เท้าบวม ขาบวมกดบุ๋ม ท้องมาน ไม่มีเรี่ยวแรง หรือเดินขึ้นบันไดแค่ 1 ชั้นก็เหนื่อยมากกว่าคนปกติ ดังนั้นเมื่อเกิดภาวะลิ้นหัวใจไมทรัลรั่วรุนแรงที่ไม่สามารถบรรเทาอาการของภาวะหัวใจล้มเหลวด้วยยารักษาตามมาตรฐานได้แล้ว จึงทำให้อัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสูงขึ้น ส่งผลให้คุณภาพชีวิตลดลง และอาจเสียชีวิตได้
 
แพทย์จะแนะนำการรักษาด้วยยา การทําผ่าตัดหัวใจแบบเปิดเพื่อซ่อมหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจ
แก้ไขล่าสุด: 03 กุมภาพันธ์ 2565

Related conditions

Doctors Related

Related Centers

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต NaN of 10, จากจำนวนคนโหวต 0 คน

Related Health Blogs