bih.button.backtotop.text

การให้ฮอร์โมนทดแทน

ในกรณีที่สตรีวัยทองมีอาการต่างๆ มาก หรือตรวจพบความผิดปกติ เช่น กระดูกบาง หรือกระดูกพรุน และมีความจำเป็นจะต้องได้รับฮอร์โมนเพิ่มเติม แพทย์จะพิจารณาให้ฮอร์โมนทดแทนตามความเหมาะสม

การให้ฮอร์โมนทดแทนมีประโยชน์อย่างไร
การให้ฮอร์โมนทดแทน คือ การให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนชนิดสกัดจากธรรมชาติ (Bio-identical Hormone) ที่มีโครงสร้างเดียวกับฮอร์โมนเพศหญิงในร่างกาย การให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนนั้นอาจให้ร่วมกับฮอร์โมนเพศหญิงอีกตัวหนึ่งคือ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ที่มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับฮอร์โมนเพศตามธรรมชาติ
  • ลดการซึมเศร้า เหนื่อยง่าย ใจสั่น นอนไม่หลับ
  • ทำให้ผิวหนังเต่งตึงและชุ่มชื้น ลดอาการผิวหนังอักเสบ ผมจะหนาและดกดำขึ้น
  • ช่วยเพิ่มระดับของความจำ มีสมาธิมากขึ้น
  • เพิ่มความหนาแน่นของกระดูกเมื่อได้รับร่วมกับแคลเซียมและมีการออกกำลังกายที่เหมาะสมร่วมกัน ผลของการได้ฮอร์โมนทดแทนจะแตกต่างกันไปในสตรีวัยทองแต่ละคนซึ่งมีปัจจัยทางด้านสุขภาพที่แตกต่างกัน
  • ฮอร์โมนทดแทนสำหรับผู้ที่ผ่าตัดมดลูกออกไปแล้ว จะเป็นฮอร์โมนที่ประกอบด้วยเอสโตรเจนเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยบรรเทาอาการของวัยทอง มีทั้งชนิดรับประทาน ชนิดทาบริเวณผิวหนัง ชนิดแผ่นแปะ

    ฮอร์โมนทดแทนสำหรับผู้หญิงที่ยังมีมดลูกอยู่ เป็นฮอร์โมนที่ประกอบด้วยเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนธรรมชาติ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดปกติหรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ฮอร์โมนชนิดนี้สามารถแบ่งเป็น

  • ชนิดที่ใช้เป็นรอบๆ (Cyclic regimen): เป็นการให้เอสโตรเจน 21 วันและใน 12 วันหลังจะมีโปรเจสเตอโรนร่วมด้วย จะมีช่วงที่ไม่ต้องใช้ฮอร์โมน 7 วัน ทำให้มีประจำเดือนสม่ำเสมอ ชนิดนี้เหมาะสำหรับใช้กับผู้ที่อยู่ในวัยเปลี่ยนหรือวัยหมดประจำเดือนช่วงต้น
  • ชนิดที่ต้องใช้ต่อเนื่อง (Continuous combined regimen): เป็นการให้เอสโตรเจนร่วมกับโปรเจสเตอโรนในปริมาณที่เท่ากันทุกวันเพื่อให้ไม่ต้องมีประจำเดือน ชนิดนี้เหมาะสำหรับผู้ที่หมดประจำเดือนมานานมากกว่า 1 ปีขึ้นไป
ฮอร์โมนทดแทนอื่นๆ เป็นฮอร์โมนที่ไม่ใช่เอสโตรเจน แต่สามารถป้องกันและรักษาการเปลี่ยนแปลงในวัยทองได้

ฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำหน้าที่หลักควบคุมอวัยวะในระบบเจริญพันธุ์ ทำให้เด็กหญิงเติบโตเป็นสาว มีประจำเดือน และมีบุตร นอกจากนั้นฮอร์โมนเอสโตรเจนยังมีผลต่ออวัยวะอื่นๆ คือ กระดูก เส้นโลหิต หัวใจ และสมอง ฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายส่วนใหญ่สร้างมาจากรังไข่ ส่วนน้อยสร้างจากไขมันที่ผิวหนัง รังไข่ผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนตั้งแต่เริ่มเข้าวัยสาวรุ่น ในวัยเจริญพันธุ์ฮอร์โมนเอสโตรเจนอยู่ในระดับสูง รังไข่จะผลิตฮอร์โมนลดลงเมื่ออายุย่างเข้าสู่วัย 40 ปีขึ้นไป และหยุดผลิตเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน อายุเฉลี่ยของวัยหมดประจำเดือนในหญิงไทยคือ 45-51 ปี ถ้ารังไข่ทั้งสองข้างได้รับการผ่าตัดออกตั้งแต่ยังไม่เข้าวัยหมดประจำเดือนก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เช่นเดียวกับการหมดประจำเดือนตามปกติ แต่อาการจะรุนแรงกว่าเพราะฮอร์โมนเพศหญิงหมดไปจากร่างกายทันที เอสโตรเจนที่ใช้ในฮอร์โมนทดแทนมีหลายชนิด ส่วนใหญ่นิยมใช้ชนิดที่ได้มาจากธรรมชาติหรือ Bio-Identical Hormone การให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทนนั้นอาจใช้ในรูปแบบต่างๆ เช่น รับประทาน เจล แผ่นแปะ หรือสอดช่องคลอด ซึ่งแต่ละรูปแบบแพทย์จะพิจารณาการใช้ตามความเหมาะสมเป็นรายๆ ไป

ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน การให้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในสตรีวัยหมดประจำเดือนที่ได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อป้องกันภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวและมะเร็งของเยื่อบุโพรงมดลูก โดยมีกลไกสำคัญ คือ โปรเจสเตอโรนสามารถยับยั้งการสังเคราะห์ดีเอ็นเอ ลดการแบ่งตัวของเซลล์ และลดจำนวนตัวรับต่อฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เซลล์เป้าหมาย ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนธรรมชาติมีหลายชนิด ในการป้องกันการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกในผู้ที่ได้รับเอสโตรเจนนั้น ขนาดและระยะเวลาของการให้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเป็นสิ่งสำคัญ และจะได้รับตามความจำเป็นและเหมาะสม
  • เลือดออกทางช่องคลอด พบได้บ่อย และทำให้ไม่อยากใช้ฮอร์โมนทดแทน ส่วนใหญ่พบได้ในช่วง 3-6 เดือนแรกที่เริ่มใช้ฮอร์โมนทดแทน และเมื่อใช้ฮอร์โมนทดแทนอย่างสม่ำเสมอ เลือดที่ออกทางช่องคลอดจะหายไปเอง
  • อาการเจ็บเต้านม อาการนี้จะเป็นเฉพาะช่วงแรกที่ได้รับฮอร์โมนทดแทนเท่านั้น หลังจากนั้นจะลดลงและหายไป
  • อาการปวดศีรษะไมเกรน
  • น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น สตรีวัยทองส่วนใหญ่จะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นง่ายอยู่แล้ว ฮอร์โมนทดแทนไม่ได้ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอีก สาเหตุของการที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมาจากการดำเนินชีวิตประจำวันโดยเฉพาะความไม่สมดุลระหว่างอาหาร การออกกำลังกาย และอัตราการเผาผลาญอาหารในร่างกายที่ลดลง อย่างไรก็ตาม การให้ฮอร์โมนทดแทนจะให้ในปริมาณต่ำเท่ากับระดับปกติเท่านั้น ไม่มีการให้เกินขนาด ดังนั้นอาการข้างเคียงจึงมีน้อย
แก้ไขล่าสุด: 13 พฤษภาคม 2565

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์รักษาที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์สูติ-นรีเวช

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 9.14 of 10, จากจำนวนคนโหวต 236 คน

บทความที่เกี่ยวข้อง