bih.button.backtotop.text

กลุ่มโรคไตเนฟโฟรติก

กลุ่มโรคไตเนฟโฟรติก หรือ Nephrotic syndrome เป็นคำที่ใช้อธิบายกลุ่มอาการรวมถึงความผิดปกติทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งเกิดกับผู้ป่วยที่มีโรคไตบางชนิด

โดยจะมีลักษณะเด่นๆ 3 ประการ
ได้แก่
1. อาการบวม (Swelling) ของอวัยวะต่างๆ เช่นใบหน้า ขา ข้อเท้า
2. โปรตีนในปัสสาวะมากกว่า 3.5 กรัม/วัน
3. ระดับอัลบูมินในเลือดต่ำ
 
ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคไตทุกคน ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็น Nephrotic syndrome
 
Nephrotic syndrome เป็นเพียงคำรวมๆที่ใช้อธิบายกลุ่มความผิดปกติ โดย Nephrotic syndrome นี้จะมีสาเหตุแยกย่อยได้อีกหลายๆโรคเช่น
  • โรคไตเรื้อรังจากเบาหวาน (แต่ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังจากเบาหวาน ก็ไม่จำเป็นต้องเป็น Nephrotic syndrome ทุกคน เพราะไม่ใช่ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังจากเบาหวานทุกคนจะมีอาการบวม โปรตีนในปัสสาวะมากกว่า 3.5 กรัมต่อวัน และอัลบูมินในเลือดต่ำ)
  • โรคไตลูปัส (Lupus nephritis จากโรค SLE) หรือที่คนไทยหลายคนคุ้นเคยในชื่อ "โรคพุ่มพวง" (โรคนี้ก็เช่นกัน ไม่ใช่ว่าทุกคนที่เป็น จะเข้ากับกลุ่มโรค Nephrotic syndrome)
  • โรค Minimal change disease, Focal segmental glomerulosclerosis, Membranous nephropathy, Light chain deposition disease เป็นต้น
จากที่กล่าวข้างต้น Nephrotic syndrome เป็นเพียงคำอธิบายกลุ่มอาการ/ความผิดปกติของผู้ที่มีโรคไตบางประเภท โดยที่บุคคลคนๆนั้นต้องมีลักษณะ 3 อย่างตามที่กล่าว
 
เพราะฉะนั้น เมื่อผู้ป่วยคนหนึ่งมีความผิดปกติทั้ง 3 ประการและได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น Nephrotic syndrome สิ่งสำคัญที่จะต้องทำลำดับต่อไปก็คือการหาสาเหตุ ว่าคนไข้มีโรคไตประเภทไหนกันแน่ ที่ทำให้เกิด Nephrotic syndrome
 
แน่นอนว่านอกจากอาการบวมแล้ว แพทย์ก็ต้องตรวจปัสสาวะเพื่อหาปริมาณโปรตีนที่รั่วออกมา รวมถึงเจาะเลือดเพื่อดูค่าอัลบูมินในเลือด เพื่อดูว่าคนไข้มีลักษณะ 3 ประการที่กล่าวไว้หรือไม่
 
นอกจากนี้ประวัติเพิ่มเติมก็มีส่วนช่วยในการวินิจฉัย ได้แก่ ประวัติโรคเบาหวาน (ในกรณีที่เป็น ข้อมูลอื่นที่เป็นประโยชน์ก็ได้แก่ระยะเวลาที่เป็นเบาหวาน ระดับน้ำตาลสะสมในอดีต การมีภาวะเบาหวานกระทบจอประสาทตา ฯลฯ) ประวัติอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับแต่ละโรคที่เป็นสาเหตุของ Nephrotic syndrome เช่น ผื่นผิวหนัง แผลในปาก อาการปวดข้อ ประวัติโรคลูปัสเดิม ประวัติที่ทำให้สงสัย/ประวัติเดิมของโรคมะเร็ง ประวัติโรคไวรัสตับอักเสบ ฯลฯ
 
สำหรับการตรวจทางห้องปฎิบัติการเพิ่มเติมที่มีส่วนช่วยในการวินิจฉัยและประกอบการสืบหาสาเหตุของ Nephrotic syndrome เพิ่มเติม ได้แก่ ค่าการทำงานของไต ระดับไขมันในเลือด (ผู้ป่วย Nephrotic syndrome มักมีระดับไขมันในเลือดสูง) รวมถึงการเจาะเลือดเพื่อหาสาเหตุของ Nephrotic syndrome ว่าเกิดจากโรคไตชนิดใด (เช่น ตรวจ ANA เพื่อหาโรค Lupus nephritis, ตรวจหาไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งถ้าพบ ก็อาจทำให้สงสัยโรคไตชนิด Membranous nephropathy เพิ่มขึ้น เป็นต้น)
 
สุดท้าย เพื่อการยืนยันการวินิจฉัยว่าเป็น Nephrotic syndrome จากโรคไตชนิดใดกันแน่ ก็อาจต้องทำการเจาะชิ้นเนื้อไตไปตรวจ (Kidney biopsy) นอกจากบางกรณีที่อาจมีข้อยกเว้น เช่น แพทย์แน่ใจว่าเป็น Nephrotic syndrome จากโรคเบาหวาน หรือเมื่อการตัดชิ้นเนื้อไตไปตรวจไม่น่าส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแผนการรักษา
 
ผู้ป่วยจะเสี่ยงต่อการที่จะมีค่าการทำงานของไตลดลง (creatinine ผิดปกติ) เสี่ยงต่อภาวะขาดโปรตีน (ถึงแม้ผู้ป่วยจะน้ำหนักขึ้น แต่น้ำหนักมักเกิดมาจากอาการบวม) ภาวะเลือดแข็งตัวง่าย เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดของอวัยวะต่างๆของร่างกาย ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เสี่ยงต่อการติดเชื้อง่ายขึ้น เป็นต้น
 
แพทย์จะมุ่งเน้นการรักษาทั้ง 2 ทิศทาง ได้แก่
  • รักษาตัวโรคที่เป็นสาเหตุของ Nephrotic syndrome
  • รักษาอาการอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับ Nephrotic syndrome ได้แก่ อาการบวม (แพทย์อาจใช้ยาขับปัสสาวะช่วย) โปรตีนรั่วในปัสสาวะ (แพทย์มักใช้ยาบางชนิดเพื่อช่วยลดปริมาณโปรตีนในปัสสาวะ) ยาลดระดับไขมันเพื่อช่วยลดระดับไขมันในเส้นเลือดและลดความเสี่ยงการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นต้น

Related Treatments

Doctors Related

Related Centers

ศูนย์โรคไต

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 10.00 of 10, จากจำนวนคนโหวต 1 คน

Related Health Blogs