bih.button.backtotop.text

โรคไตเรื้อรังจากเบาหวาน

ผู้ป่วยโรคเบาหวาน มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆตามมา โดยเฉพาะกรณีที่ระดับน้ำตาลคุมได้ไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคปลายประสาทเสื่อมจากเบาหวาน หลอดเลือดสมองตีบ ฯลฯ อีกภาวะที่สำคัญและเป็นปัญหาสุขภาพใหญ่ของประชากรทั่วโลกก็คือโรคไตเรื้อรังจากเบาหวาน

โรคเบาหวานทำให้เกิดไตเรื้อรังได้อย่างไร
ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานและคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี จะทำให้ในเลือดมีการผลิตของสารเคมีบางชนิดที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆในระดับเซลล์ของเซลล์ที่เป็นส่วนประกอบของหน่วยไต เกิดภาวะการอักเสบรวมถึงการสร้างพังผืดของส่วนประกอบต่างๆของหน่วยไตตามมา ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ มักใช้เวลายาวนานเป็นปีๆ โรคไตเรื้อรังจากเบาหวานจึงเป็นโรคที่มีการดำเนินโรคแบบใช้เวลานาน
 
เมื่อไตค่อยๆถูกทำลายเป็นระยะเวลานาน โอกาสที่จะกลับมาทำงานได้เหมือนเดิมก็จะน้อยลงไปเป็นลำดับ สิ่งที่เราทำได้คือชะลอการเสื่อมของไตด้วยวิธีต่างๆ
 
อาการของโรคนี้มักจะคล้ายกับโรคไตเรื้อรังทั่วๆไป นั่นคือ ผู้ป่วยมักไม่ค่อยมีอาการแสดงออกมาให้เห็น จนกระทั่งการทำงานของไตเสียไปมากแล้ว การพบแพทย์เป็นประจำจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ขาดไม่ได้
 
สำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่เสี่ยงต่อการที่จะมีโรคไตเรื้อรังมากกว่าผู้ป่วยรายอื่น มักจะมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆร่วมด้วย เช่น มีการควบคุมระดับน้ำตาลที่ไม่ดี ความดันโลหิตสูง การสูบบุหรี่ อายุที่มากขึ้น เชื้อชาติบางเชื้อชาติ โรคอ้วน รวมไปถึงปัจจัยทางพันธุกรรม
 
สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน แพทย์มักจะมีการเจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาลอยู่ประจำ นอกจากนี้แพทย์มักจะมีการตรวจค่าการทำงานของไตจากการเจาะเลือดด้วย เรียกว่า Creatinine ซึ่งถ้ายิ่งสูง ยิ่งแปลว่าการทำงานของไตต่ำ
 
ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าถ้าค่า creatinine ปกติ แปลว่าไตยังไม่โดนกระทบจากเบาหวาน แต่ทว่าประโยคนี้ไม่ได้เป็นจริงเสมอไป เพราะสำหรับโรคไตวายเรื้อรังจากเบาหวาน ถ้าพบความผิดปกติของค่า creatinine แล้ว มักจะแปลว่าไตได้รับผลกระทบจากเบาหวานมาระยะหนึ่งแล้ว
 
วิธีที่จะตรวจหาผลกระทบทางไตจากโรคเบาหวานที่มีความไวกว่าการเจาะเลือดตรวจ ก็คือ การตรวจหาโปรตีนไข่ขาว (Albumin) ในปัสสาวะ
 
ในภาวะที่ไตทำงานปกติ ไตจะมีความสามารถในการกักเก็บโปรตีนไม่ให้รั่วออกมาในปัสสาวะ (หรือรั่วออกมาในปริมาณน้อยมากๆ ที่ไม่เกินเกณฑ์) แต่ถ้าหากพบโปรตีนรั่วออกมาในปัสสาวะในปริมาณที่เกินเกณฑ์ปกติ ก็อาจแปลว่าไตกำลังได้รับผลกระทบจากเบาหวานแล้ว
 
หลายๆคนเข้าใจผิด ว่าการตรวจปัสสาวะทั่วไป หรือที่เรียกว่า Urinalysis นั้น เพียงพอสำหรับการคัดกรองผู้ที่มีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ แต่ที่จริงแล้ว ผู้ป่วยต้องมีโปรตีนรั่วออกมามากระดับหนึ่งถึงจะแสดงให้เห็นความผิดปกติใน Urinalysis ได้ สิ่งที่ผู้ป่วยเบาหวานควรตรวจคือ การตรวจหา albumin ในปัสสาวะเชิงปริมาณ (urine microalbumin) ซึ่งการตรวจแบบนี้ ปริมาณโปรตีนที่ออกมาจะแสดงออกมาเป็นตัวเลขเลย เช่น 50 mg/gCr, 100 mg/gCr ซึ่งละเอียดกว่า Urinalysis ที่มักจะแสดงผลเพียงแค่ 1+, 2+, 3+
 
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีค่า creatinine ที่ผิดปกติไปแล้ว แพทย์ก็ต้องดูข้อมูลอื่นๆร่วมด้วยเพื่อจะวินิจฉัยว่าการทำงานของไตที่ลดลงนั้นน่าจะเป็นจากโรคเบาหวานหรือสาเหตุอื่น ตัวอย่างเช่น ความฉับพลันของค่า creatinine ที่ผิดปกติ (ถ้าผู้ป่วยเพิ่งมีค่า creatinine ที่ผิดปกติ ในขณะที่ไม่กี่วันที่แล้วยังปกติอยู่ ก็ไม่น่าจะเป็นจากโรคเบาหวาน เพราะไตเรื้อรังจากเบาหวาน เป็นโรคที่ใช้เวลานานในการเกิด) ระดับน้ำตาลที่คุมได้ในอดีต (ดูว่าระดับน้ำตาลในอดีตที่ผ่านมานั้นสูงสมเหตุสมผลกับค่าไตที่ผิดปกติหรือไม่) หรือผู้ป่วยมีภาวะเบาหวานกระทบจอประสาทตาร่วมด้วยหรือไม่ (ถ้ามี ก็ทำให้ความเป็นไปได้ของโรคไตเรื้อรังจากเบาหวานมีมากขึ้น) ทั้งนี้ถ้าข้อมูลที่ได้ ไม่ได้บ่งชัดเจนหรือฟังดูไม่เข้ากับภาวะไตเรื้อรังจากเบาหวาน แพทย์อาจจะต้องมีการพิจารณาหาสาเหตุอื่นๆของการทำงานลดลงของไตต่อไปด้วยวิธีอื่นๆ
 
ตามที่กล่าวข้างต้น ช่วงแรกไตอาจจะมีการกักเก็บโปรตีนไว้ไม่ได้ ทำให้โปรตีนรั่วออกมาในปัสสาวะก่อน จากนั้นเมื่อเวลาผ่านไป creatinine จะเริ่มสูงให้เห็น จนถึงระยะที่การทำงานของไตไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย 
 
เมื่อไตเสื่อมจนการทำงานของไตไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการออกมาให้เห็นในรูปแบบต่างๆ เช่น อ่อนเพลีย มีปัญหาการนอนหลับ บวม เหนื่อยง่าย ซีด ถ้าเจาะเลือดดู ก็อาจพบความผิดปกติอื่นๆเช่นเกลือแร่ในร่างกายไม่สมดุล โรคมักดำเนินไปเรื่อยๆ จนผู้ป่วยอาจต้องฟอกเลือด ล้างไตทางช่องท้อง หรือต้องมีการปลูกถ่ายไต
 
ถ้าโรคไตเรื้อรังจากเบาหวาน เป็นอยู่นานระดับหนึ่งแล้ว มักจะไม่สามารถทำให้เซลล์ของหน่วยไตกลับไปเป็นปกติได้ สิ่งที่แพทย์และผู้ป่วยสามารถทำได้คือการชะลอการเสื่อมของไต ซึ่งมีหลายวิธีได้แก่
  • ควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ ยาลดน้ำตาลบางประเภท ก็มีหลักฐานว่าช่วยเรื่องโรคไตในผู้ป่วยเบาหวานด้วย
  • ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาลดความดันกลุ่มที่ชะลอการเสื่อมของไต ได้แก่ angiotensin-converting enzyme inhibitor หรือ angiotensin receptor blocker
  • หยุดบุหรี่
  • ควบคุมปริมาณเกลือที่บริโภค
 
วิธีต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น นอกจากเป็นวิธีรักษา ก็ยังมีส่วนป้องกันโรคไตเรื้อรังจากเบาหวานอีกด้วย
 
สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือการพบแพทย์เป็นประจำ เพื่อให้แพทย์ช่วยดูแลเรื่องค่าน้ำตาล ตรวจเลือดอื่นๆ ตรวจปัสสาวะ รวมถึงเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนๆอื่นๆที่อาจเกิดจากเบาหวานและภาวะโรคไตเรื้อรังด้วย
แก้ไขล่าสุด: 02 ตุลาคม 2567

Doctors Related

Related Centers

ศูนย์โรคไต

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 10.00 of 10, จากจำนวนคนโหวต 3 คน

Related Health Blogs