bih.button.backtotop.text

ไวรัสตับอักเสบซี

ไวรัสตับอักเสบซี เป็นโรคที่พบได้บ่อยพอควร โดยทั่วไปผู้ป่วยมักจะไม่ทราบมาก่อนว่ามีเชื้อนี้อยู่ในร่างกาย จะทราบได้ก็ต่อเมื่อไปตรวจร่างกายแล้วพบค่าการอักเสบของตับผิดปกติ และตรวจเลือดพบการติดเชื้อ

การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี
ไวรัสตับอักเสบซี คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดซี สามารถติดต่อกันทางเลือดหรือเพศสัมพันธ์คล้ายกับไวรัสตับอักเสบบี แต่ไม่สามารถติดต่อกันได้ทางการให้นมบุตร การจามหรือไอรดกัน การรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำด้วยกัน และการใช้ถ้วยชามร่วมกัน
 
เชื้อไวรัสตับอักเสบซีเมื่อเข้าไปในร่างกายจะแบ่งตัวและอาศัยอยู่ในตับ ระยะแรกทำให้เกิดตับอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งมักจะมีอาการไม่มาก ทำให้ผู้รับเชื้อไม่ทราบว่ามีตับอักเสบ โดยประมาณเกือบ 8% ของผู้ที่ได้รับเชื้อจะมีการติดเชื้อเรื้อรังและตามมาด้วยตับอักเสบแบบเรื้อรังแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ค่อยมีอาการชัดเจน ผ่านไปประมาณ 10-30 ปีจึงเข้าสู่ระยะตับแข็ง และอีกสิบปีต่อมาจึงถึงระยะท้ายของโรคตับแข็ง เมื่อมีโรคตับแข็งเกิดขึ้นจะมีโอกาสเกิดมะเร็งตับได้ประมาณ 1-3% ต่อปี (ใน 100 คนที่เป็นโรคตับแข็งจากไวรัสซี ถ้าติดตามไป 1 ปีจะมี 3 คนเป็นมะเร็งตับ)
ไวรัสตับอักเสบซีแบ่งออกเป็น 6 ชนิด ในประเทศไทยพบชนิดที่ 1 และ 3 พอๆ กัน คือชนิดละ 40% รองลงไปจะเป็นชนิดที่ 2 ส่วนชนิดที่ 4, 5 และ 6 นั้นพบน้อย ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการตรวจว่าไวรัสตับอักเสบซีที่เป็นนั้นเป็นชนิดอะไร เพื่อเป็นแนวทางในการรักษาโรคต่อไป เนื่องจากการรักษาไวรัสแต่ละชนิดมีความยากง่ายแตกต่างกัน
  • ผู้ที่เคยได้รับเลือดและสารเลือดก่อนปี พ.ศ.2535 เนื่องจากยังไม่มีการตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบซี
  • ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะก่อนปี พ.ศ.2535
  • ผู้ที่มีการฉีดสารเสพติดเข้าเส้นเลือด ถึงแม้ว่าทดลองใช้เพียงครั้งเดียว
  • ผู้ป่วยโรคเอดส์
  • ผู้ที่ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
  • ผู้ที่มีผลเลือดการทำงานของตับพบการอักเสบ
  • ผู้ที่ติดยาเสพติดใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
  • ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบซีจากการทำฟัน
  • ผู้ที่สำส่อนทางเพศหรือรักร่วมเพศ
  • ผู้ที่มีการสักตามตัว การใช้เข็มที่ติดเชื้อโรคสักผิวหนัง เจาะหู ฝังเข็ม
  • ผู้ที่มีประวัติมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง
  • บุคลากรทางการแพทย์ที่ถูกเข็มตำจากผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง
  • การใช้ของส่วนตัวที่เปื้อนเลือดร่วมกัน เช่น มีดโกน หรือกรรไกรตัดเล็บ
  • ทารกที่เกิดจากแม่ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบซี (ติดได้แต่พบน้อย)
  • ตับอักเสบเฉียบพลัน หลังจากไวรัสตับอักเสบซีเข้าสู่ร่างกายแล้วจะทำให้เกิดการอักเสบของตับ แต่ส่วนมากผู้ป่วยจะไม่มีอาการ มีเพียงประมาณ 25-30% ของผู้ป่วยจะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ที่เรียกว่าดีซ่าน ดังนั้นผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่รู้ว่าตัวเองเกิดการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีแบบเฉียบพลัน
  • ตับอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีมากกว่า 60% จะเกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรัง ซึ่งในระยะแรกผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการ จนเมื่อตับถูกทำลายไปมากพอควรหรือมีการอักเสบของตับมาก ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
  • ตับแข็ง ผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบซีนั้น ตับจะมีอาการอักเสบและถูกทำลายไปเรื่อยๆ จนในที่สุดจะกลายเป็นตับแข็ง ซึ่งถ้าเป็นมากแล้ว ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลียมาก ดีซ่าน ท้องมาน และเกิดตับวายได้ในที่สุด
  • มะเร็งตับ ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังจะมีโอกาสเกิดมะเร็งตับได้มากกว่าคนปกติ และมีรายงานว่าถ้าผู้ป่วยได้รับการรักษาไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังอย่างถูกต้อง ก็สามารถลดโอกาสเกิดมะเร็งตับลงได้
  • ตับอักเสบเฉียบพลัน: วินิจฉัยโดยการเจาะเลือดตรวจการทำงานของตับพบว่ามีการอักเสบ และตรวจพบ anti-HCV หรือนับปริมาณไวรัสในเลือด บางรายที่ตรวจไม่เจอในระยะแรกอาจต้องตรวจซ้ำอีก 2-8 สัปดาห์
  • ตับอักเสบเรื้อรัง: วินิจฉัยจากการพบการอักเสบของตับมากกว่า 6 เดือนร่วมกับการตรวจพบไวรัสในกระแสเลือด
 
โรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัสจะมีอาการคล้ายๆ กัน คือ ดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย ไม่มีแรง บวม มีน้ำในช่องท้อง ปวดชายโครงขวา ปวดกล้ามเนื้อและปวดข้อ ตับม้ามโต การที่จะแยกว่าเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดใดนั้น ต้องใช้วิธีการตรวจทางห้องปฏิบัติการจึงจะทราบ แต่ที่น่าสังเกตคือโรคตับอักเสบจากไวรัสชนิดอื่นๆ มักจะเป็นแบบเฉียบพลัน และจะหายได้ภายในเวลา 6 เดือน ถ้าหากมีอาการของโรคตับอักเสบเรื้อรังก็มักจะเกิดจากไวรัสตับอักเสบชนิดบีหรือซี
 
โดยทั่วไปผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ส่วนใหญ่หลังติดเชื้อแล้วภายในเวลา 10 ปีแรกจะไม่มีอาการอะไรเลย ยกเว้นส่วนน้อยที่อาจมีอาการของโรคแบบเฉียบพลัน ต่อเมื่อย่างเข้าสู่ 10 ปีที่ 2 ก็จะเริ่มมีอาการของตับอักเสบเรื้อรังเกิดขึ้น และเมื่อ 30 ปีผ่านไป ตับจะถูกทำลายมากขึ้น ก็จะเริ่มมีอาการของตับแข็งปรากฏให้เห็น แล้วผู้ป่วยจำนวนหนึ่งก็จะเป็นมะเร็งตับ เรียกว่ากว่าจะแสดงอาการก็ใช้เวลาหลายสิบปี โดยที่โรคจะดำเนินไปอย่างช้าๆ ผู้ป่วยจะไม่รู้ตัวเลยว่ามีโรคอันตรายซ่อนแฝงอยู่ถ้าไม่ได้ตรวจเลือด ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีประมาณ 15-20% อาจหายจากโรคได้เอง แต่ส่วนใหญ่ 75-85% จะเป็นเรื้อรัง ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาก็จะกลายเป็นโรคตับแข็ง มะเร็งตับ และเสียชีวิตในที่สุด
 
  • ภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบซี (anti-HCV) เป็นภูมิที่บอกว่ามีหรือเคยมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ถ้าให้ผลบวก แสดงว่าเคยมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีมาก่อนโดยที่ขณะนี้อาจมีหรือไม่มีไวรัสอยู่ในเลือดก็ได้
  • การนับปริมาณไวรัสโดยวิธี polymerase chain reaction (PCR) ถ้าให้ผลบวกแสดงว่ากำลังมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี
  • การตรวจการทำงานของตับเพื่อดูค่าการอักเสบของตับ (AST, ALT)
  • การเจาะชิ้นเนื้อตับเพื่อการวินิจฉัย โดยจะทำในผู้ป่วยบางรายเท่านั้น
  • ไวรัสตับอักเสบซีชนิดที่ 1 ต้องรักษาเป็นเวลา 1 ปี โอกาสหายประมาณ 50% ระหว่างการรักษา 1 และ 3 เดือน ควรตรวจนับปริมาณไวรัสซ้ำเพื่อดูการตอบสนองและวางแผนการรักษาว่าจะหยุดยารักษาที่ 1 ปีหรือนานกว่านั้น หรือบางกรณีถ้ามีภาวะแทรกซ้อนมาก ในกรณีที่ตรวจไม่พบเชื้อตั้งแต่เดือนแรกและทนยาไม่ได้ก็อาจจะร่นเวลาการรักษาลงมาอีก ผู้ป่วยเมื่อได้ยาครบ 1 ปี ก็ต้องตรวจเชื้อว่ายังมีหลงเหลือหรือไม่ หลังเสร็จสิ้นการรักษาไปอีก 6 เดือน ถ้าตรวจไม่พบเชื้อในเลือดด้วยวิธี RT-PCR ก็บ่งว่าโรคหายและโอกาสกลับมาเป็นใหม่ค่อนข้างน้อย
  • ไวรัสตับอักเสบซีชนิดที่ 2 และ 3 ให้การรักษาเป็นเวลา 6 เดือน โอกาสการหายสูงประมาณ 70-80% เมื่อให้การรักษาครบจะตรวจเชื้อซ้ำว่ามีเชื้อหลงเหลือหรือไม่ จากนั้นจะติดตามตรวจเชื้อด้วยวิธี RT-PCR อีกครั้งตอน 6 เดือนหลังหยุดยา ถ้าหายตอนนี้ก็เรียกว่าโรคหาย โอกาสกลับเป็นซ้ำนั้นค่อนข้างน้อย
  • ไวรัสตับอักเสบซีชนิดที่ 4, 5 และ 6 นั้นพบน้อยในประเทศไทย แนะนำให้รักษาเป็นเวลา 1 ปี
ผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบซีบางรายเมื่อตรวจเลือดพบค่าการอักเสบของตับ แพทย์จะนัดตรวจเลือดอีกครั้ง 6-12 เดือน แต่เด็กที่เกิดจากแม่ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบซีไม่ควรเจาะเลือดก่อนอายุ 12 เดือนเนื่องจากเชื้อจากแม่ยังไม่หมด แนะนำให้ตรวจ anti-HCV เมื่อเด็กมีอายุ 18 เดือนขึ้นไป ทั้งนี้การรักษาผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี แพทย์จะพิจารณาตามภาวะของโรคและโรคร่วมต่างๆ ที่ผู้ป่วยเป็น
 
  • อายุต่ำกว่า 2 ปี
  • มีประวัติแพ้ยาฉีดและยารับประทานที่ใช้ในการรักษา
  • มีภาวะซึมเศร้ารุนแรงที่ยังควบคุมไม่ได้
  • ตั้งครรภ์ หรือไม่เต็มใจที่จะยินยอมในการคุมกำเนิด
  • ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ (ไต หัวใจ หรือปอด)
  • มีโรคที่อาจจะแย่ลงถ้าได้รับยาฉีด โดยเฉพาะโรคภูมิต้านทานทำลายเนื้อเยื่อตัวเอง (autoimmune diseases)
  • มีโรคประจำตัวที่ยังควบคุมการรักษาไม่ได้ดี เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหลอดเลือด ถุงลมโป่งพอง โรคไทรอยด์
  • อายุ 18 ปีขึ้นไป
  • พบเชื้อไวรัสตับอักเสบซีในกระแสเลือด
  • ผลการเจาะตับพบว่ามีพังผืดในตับมาก (Metavir มากกว่าหรือเท่ากับ 2) ในกรณีที่เป็นไวรัสตับอักเสบซีชนิด 1,4, 6
  • เป็นโรคตับแข็งในระยะเริ่มต้น หรือมีคะแนนการทำงานของตับ (Child-Pugh score) น้อยกว่าหรือเท่ากับ 9
  • มีความเข้าใจและพร้อมที่จะรับการรักษา
  • ไม่มีข้อห้ามของการรักษา
  • ห้ามใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
  • สวมถุงมือถ้าต้องสัมผัสเลือด
  • ห้ามใช้มีดโกนหนวด แปรงสีฟันร่วมกัน
  • ห้ามใช้อุปกรณ์ในการสักร่วมกัน
  • ใช้ถุงยางอนามัยหากมีเพศสัมพันธ์หลายคน
  • ดำเนินชีวิตประจำวันตามปกติ ทำจิตใจให้สบาย อย่าวิตกกังวลหรือมีความเครียดมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอาการเจ็บป่วยของตนเอง
  • ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ บี
  • พักผ่อนให้เต็มที่ ไม่ควรทำงานหนักถ้ามีอาการอ่อนเพลียมาก
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดอย่างเด็ดขาด
  • งดรับประทานยาที่เป็นอันตรายต่อตับ เช่น ยาลดไข้และยาแก้ปวดพาราเซตามอล สมุนไพร
  • รับประทานอาหารที่เหมาะสม
    • รับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงเพื่อเสริมสร้างพลังงานที่บกพร่องไป โดยควรเป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดมีกากใยสูงที่ไม่ขัดสี เช่น ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีต เผือก มัน ฟักทอง รวมทั้งผลไม้ต่างๆ
    • แบ่งการรับประทานอาหารเป็นมื้อเล็กๆ หลายๆ มื้อ (4-6 มื้อ) เพื่อลดการทำงานของตับ
    • รับประทานอาหารโปรตีนพวกเนื้อ นม ไข่ ถั่วต่างๆ ในปริมาณที่มากกว่าปกติ จะช่วยในการซ่อมแซมและสร้างเซลล์ใหม่ของตับ
    • ไม่ควรดื่มน้ำหวาน เพราะการรับประทานน้ำตาลมากๆ จะทำให้ตับต้องทำงานเพิ่มขึ้น
    • งดอาหารประเภททอด อาหารมัน เพื่อลดการทำงานของตับ หากจำเป็นต้องรับประทานอาหารประเภทไขมัน แพทย์อาจให้ไขมันชนิดพิเศษแก่ผู้ป่วย
    • ไม่รับประทานอาหารประเภทสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะอาหารทะเล เพราะถ้าเกิดการติดเชื้อหรืออาหารเป็นพิษ ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้
    • หากมีอาการบวม ควรรับประทานอาหารรสจืดกว่าปกติ งดอาหารประเภทหมักดอง อาหารกระป๋องหรืออาหารสำเร็จรูป เพราะมีเกลือสูง
  • ออกกำลังกายเบาๆ ยกเว้นการออกกำลังกายชนิดที่ต้องหักโหมหรือตรากตรำทำงานหนัก
  • ไม่ควรบริจาคเลือด อวัยวะ หรือน้ำอสุจิ
  • หลีกเลี่ยงการใช้แปรงสีฟันและของมีคมร่วมกับผู้อื่น
  • หยุดการใช้ยาเสพติด
  • ตรวจเลือดเป็นระยะๆ (ทุก 3-6 เดือน) ตามที่แพทย์นัด เพื่อเฝ้าดูการดำเนินของโรค
  • ผู้ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบซีควรได้รับคำแนะนำว่าความเสี่ยงของการติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่ำ จึงไม่จำเป็นต้องป้องกันยกเว้นในกรณีที่ติดเชื้อเอดส์ร่วมด้วย แต่ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
  • ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังที่มีภาวะอ้วน ภาวะดื้อต่ออินซูลิน หรือกลุ่มโรคทางเมตาบอลิก และดื่มสุรา ควรปฏิบัติตัวเพื่อลดภาวะหรือปัจจัยดังกล่าว เพื่อให้ตอบสนองต่อการรักษาดีขึ้น หรือช่วยชะลอการลุกลามของโรคในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา
 
สำหรับผู้ที่เป็นพาหะหรือติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีจากการตรวจเลือด โดยที่ร่างกายยังแข็งแรง ควรให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตัวเพื่อไม่ให้ร่างกายเกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรัง เพราะหากปล่อยไปถึงขั้นนั้นจะเสี่ยงกับอันตรายมากขึ้น และการรักษาก็ยุ่งยากมากขึ้นด้วยเช่นกัน
แก้ไขล่าสุด: 29 มีนาคม 2565

การรักษาที่เกี่ยวข้อง

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์รักษาที่เกี่ยวข้อง

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 8.94 of 10, จากจำนวนคนโหวต 248 คน

Related Health Blogs