bih.button.backtotop.text

ตับแข็ง

ตับแข็ง (cirrhosis) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นของโรคตับ ซึ่งเกิดจากการที่ตับได้รับความเสียหายและเกิดแผลเป็นอย่างถาวร มีลักษณะเฉพาะคือการมีเนื้อเยื่อพังผืดเกิดขึ้นในเนื้อตับ ส่งผลให้การทำงานของตับลดลง ไม่ว่าจะเป็นการผลิตโปรตีน การเก็บสะสมสารสำคัญและแร่ธาตุต่างๆ การทำลายสารพิษ รวมทั้งปิดกั้นการไหลเวียนของเลือดที่ไหลผ่านตับด้วย

สาเหตุของภาวะตับแข็ง
ตับแข็งเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิ
  • โรคพิษสุราเรื้อรัง เกิดจากการดื่มแอลกฮอล์ติดต่อกันเป็นเวลานาน
  • โรคไวรัสตับอักเสบบี ซี และดี
  • โรคตับอักเสบจากภูมิต้านทานตนเอง
  • โรคเนื้อเยื่อสะสมธาตุเหล็กผิดปกติ
  • โรควิลสัน (Wilson’s disease) ซึ่งเกิดจากการมีการสะสมทองแดงมากเกินไปในตับ
  • ภาวะท่อน้ำดีอุดตัน ทำให้น้ำดีที่ไหลย้อนกลับไปที่ตับส่งผลทำลายเนื้อตับจนเป็นตับแข็งได้
  • ภาวะไขมันพอกตับ ซึ่งทำให้เกิดตับอักเสบเรื้อรังจนอาจกลายเป็นตับแข็งได้
  • การรับประทานยาบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน
  • การได้รับสารพิษบางชนิด
  • ภาวะหัวใจล้มเหลวหลายครั้งติดต่อกัน
ผู้ป่วยที่มีภาวะตับแข็งอาจไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยมาก หรืออาจมีอาการเนื่องจากภาวะแทรกซ้อนตามระยะของโรค ทั้งนี้อาการที่อาจพบได้ เช่น
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า ไม่อยากอาหาร ในบางครั้งอาจเกิดร่วมกับอาการคลื่นไส้ น้ำหนักลด
  • ในผู้หญิงอาจมีประจำเดือนผิดปกติ ในผู้ชายอาจมีเต้านมขยายใหญ่ขึ้นพร้อมอาการปวด สมรรถภาพทางเพศลดลง
  • ขาบวมหรือท้องโตขึ้น เนื่องจากโปรตีนอัลบูมินถูกผลิตน้อยลง ส่งผลให้มีน้ำสะสมในขาหรือท้อง
  • ฟกช้ำหรือเลือดออกได้ง่าย เนื่องจากมีการผลิตโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบในการทำให้เลือดแข็งตัวลดลง
  • อาการดีซ่าน หรืออาการตัวเหลืองตาเหลือง ซึ่งเกิดจากการสะสมเม็ดสีของน้ำดี
  • มีอาการคันที่ผิวหนังอย่างรุนแรง เนื่องจากสารประกอบของน้ำดีถูกฝังอยู่ในผิวหนัง
  • มีอาการทางสมอง เนื่องจากตับไม่สามารถกรองสารพิษออกมาได้ จึงเริ่มสะสมในเลือด โดยสัญญาณแรกของการสะสมสารพิษในสมองอาจสังเกตได้จากการที่ผู้ป่วยละเลยการดูแลตนเอง ไม่มีอาการตอบโต้ ลืมง่าย ไม่มีสมาธิ
  • มีความไวต่อยาและผลข้างเคียง เนื่องจากในผู้ป่วยโรคตับแข็ง ตับจะไม่สามารถกรองยาออกจากเลือดได้ในอัตราปกติ ตัวยาจึงออกฤทธิ์นานขึ้นและสะสมอยู่ในร่างกาย
  • มีเลือดออกอย่างรุนแรงในกระเพาะอาหารส่วนบนหรือหลอดอาหาร เนื่องมาจากการไหลเวียนของเลือดผิดปกติ ซึ่งจัดเป็นอาการที่รุนแรงและอันตราย แพทย์ต้องรีบหยุดเลือดโดยเร็ว

การรักษาภาวะตับแข็งมีวัตถุประสงค์เพื่อหยุดการพัฒนาของเนื้อเยื่อแผลเป็นในตับและเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน โดยมีหลักสำคัญคือการรักษาที่สาเหตุที่ทำให้เกิดตับแข็ง ซึ่งไม่เพียงแต่แพทย์เท่านั้นที่มีบทบาทในการรักษา ผู้ป่วยเองก็มีบทบาทที่สำคัญยิ่งในการหลีกเลี่ยงทุกสิ่งที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อตับ ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะตับล้มเหลวได้ การปฏิบัติตัวในการดูแลและป้องกันภาวะแทรกซ้อนสำหรับผู้ที่มีภาวะตับแข็ง

  • งดการดื่มแอลกอฮอล์
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาและสารที่เป็นอันตรายต่อตับ
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารดิบ โดยเฉพาะอาหารทะเล เนื่องจากอาจมีเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการติดเชื้อที่รุนแรง
  • รับประทานโปรตีนในปริมาณที่เหมาะสม โดยควรรับประทานโปรตีนที่ย่อยง่าย เช่น ปลา หรือโปรตีนจากพืช (เช่น ถั่วเหลือง) เป็นต้น
  • หากมีอาการบวมที่ข้อเท้าและท้อง ควรจำกัดเกลือและอาหารรสเค็ม
  • เข้ารับการฉีดวัคซีนสำหรับโรคไวรัสตับอักเสบเอและบี ไข้หวัดใหญ่ และโรคปอดบวม เนื่องจากผู้ป่วยโรคตับแข็งมีความเสี่ยงในการติดเชื้อที่รุนแรงมากกว่าผู้ที่มีสุขภาพดี
  • พบแพทย์เพื่อติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ
แก้ไขล่าสุด: 18 กันยายน 2567

การรักษาที่เกี่ยวข้อง

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์รักษาที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์ทางเดินอาหาร-ตับ

ดูเพิ่มเติม

แผนกผู้ป่วยหนัก (ICU)

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 9.21 of 10, จากจำนวนคนโหวต 219 คน

Related Health Blogs