ปัจจุบันเด็กทั่วโลกมีแนวโน้มเป็นโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้น โดยผู้ป่วยโรคอ้วนมีจำนวนเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าตัวนับจากทศวรรษ 1980 ความอ้วนก่อให้เกิดปัญหาทางด้านสุขภาพตามมามากมาย ตั้งแต่ปัญหาสุขภาพกายไปจนถึงสุขภาพจิตที่ทำให้เด็กขาดความมั่นใจในตัวเองและกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้ พ่อแม่ควรใส่ใจดูแลอาหารการกินของเด็ก รวมถึงส่งเสริมให้เด็กใส่ใจสุขภาพและเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์เพื่อป้องกันไม่ให้มีน้ำหนักเกินจนเกิดปัญหาด้านสุขภาพได้
สาเหตุของโรคอ้วนในเด็ก
โรคอ้วนในเด็กเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุหลักๆเกิดจากปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม คือการกินมากกว่าที่ใช้ไปและวิถีชีวิตแบบนั่งๆนอนๆ (Sedentary Lifestyle) ไม่ว่าเป็นการเล่นวิดีโอเกม ดูทีวี เล่นไอแพดเป็นเวลานานโดยขาดการออกกำลังกาย นอกจากนี้เด็กบางคนอาจมีปัญหาทางจิตใจ เช่น อาการซึมเศร้า ทำให้กินมากเกินไป
ส่วนสาเหตุของโรคอ้วนอื่นๆพบได้น้อยมาก เช่น เกิดจากความผิดปกติทางฮอร์โมน , เป็นโรคทางสมอง ทำให้กินไม่รู้จักอิ่ม หรือเกิดจากความบกพร่องทางพันธุกรรมบางอย่าง ยีนผิดปกติ เช่น Prader Willi syndrome หรือ ขาดยีนบางอย่าง
การวินิจฉัยโรคอ้วนในเด็ก
การวินิจฉัยว่าเด็กเป็นโรคอ้วนหรือไม่ให้พิจารณาน้ำหนักเทียบกับส่วนสูง การวัดค่าความอ้วนทำได้ด้วยการคำนวณค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index หรือ BMI) แล้วนำไปเปรียบเทียบกับกราฟ BMI แยกตามเพศและอายุว่าอยู่ในเปอร์เซ็นไทล์ที่เท่าไหร่ ถ้าเกินเปอร์เซ็นไทล์ที่ 85-95 ของเกณฑ์ถือว่าอยู่ในระยะอวบ แต่ถ้าเกินเปอร์เซ็นไทล์ที่ 95 ของเกณฑ์ถือว่าอ้วน นอกจากนี้แพทย์ยังอาจทำการตรวจเลือดเพื่อดูเบาหวาน ระดับไขมันในเลือด ค่าตับ ค่าไต ฮอร์โมนคอร์ติซอลและระดับวิตามินดี รวมถึงตรวจว่ามีปัญหาไทรอยด์หรือไม่ ประกอบกับการสอบถามประวัติ เช่น ประวัติความเจ็บป่วยในครอบครัว สภาพจิตใจของเด็ก เป็นต้น
ปัญหาด้านสุขภาพที่เกิดจากโรคอ้วนในเด็ก
วิธีการรักษา
แพทย์จะวินิจฉัยสาเหตุของโรคอ้วนว่าเกิดจากสิ่งแวดล้อม เช่น อาหารหรือเกิดจากเป็นโรคจริงๆและรักษาไปตามสาเหตุ แพทย์จะตรวจดูว่าเด็กมีภาวะฮอร์โมนผิดปกติหรือไม่ เช่น ขาดไทรอยด์ฮอร์โมนหรือมีสเตียรอยด์ฮอร์โมนมากเกินไป ซึ่งอาจเกิดจากโรคบางอย่างที่ต้องใช้สเตียรอยด์ในการรักษา เช่น โรคภูมิแพ้ตัวเอง โรคมะเร็งบางอย่าง เป็นต้น ที่พบได้บ่อยคือร่างกายสร้างสเตียรอยด์ฮอร์โมนมากกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดจากต่อมหมวกไตสร้างสเตียรอยด์ฮอร์โมนขึ้นมามากเองหรือสมองเป็นตัวกระตุ้นให้ต่อมหมวกไตสร้างสเตียรอยด์ฮอร์โมนมากเกินกว่าปกติก็เป็นได้ สังเกตได้ว่าหากสาเหตุเกิดจากฮอร์โมนทำงานผิดปกติ เด็กมักมีร่างกายอ้วนและมีภาวะเตี้ยร่วมด้วย
หากเด็กอ้วนเพราะกินมากเกินไป แพทย์จะแนะนำให้ควบคุมอาหารและออกกำลังกาย การรักษาจะมีประสิทธิผลมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับความใส่ใจของพ่อแม่ในการให้เด็กกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ในปริมาณที่เหมาะสม รวมถึงส่งเสริมให้เด็กออกกำลังกาย นอกจากนี้การนำเด็กมารักษาแต่เนิ่นๆตั้งแต่ยังเล็กจะได้ประสิทธิผลกว่ารักษาในช่วงวัยรุ่นเพราะเด็กยังอยู่ในการควบคุมดูแลของพ่อแม่อย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ยังมีแพทย์ยังอาจแนะนำให้ปรึกษากับนักโภชนาการเพื่อให้เด็กกินอาหารอย่างถูกต้องหรือในบางครั้งอาจร่วมรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการสำหรับกรณีที่รุนแรง เช่น เด็กอ้วนมากหรือเด็กโต ที่ต้องมีการรักษาอื่นๆร่วมด้วย
แต่ไม่ว่าโรคอ้วนจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม สิ่งสำคัญเป็นลำดับแรกคือการควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย
พ่อแม่จะช่วยเหลือให้เด็กลดน้ำหนักได้อย่างไร
- ควบคุมปริมาณอาหารของเด็ก รับประทานผักผลไม้ที่มีกากใยเพิ่มขึ้น หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง ของทอด
- ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละหนึ่งชั่วโมง
- มีคู่หูในครอบครัว เช่น พ่อหรือแม่ที่วางแผนและกินอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายร่วมกัน
- ทุกคนในครอบครัวต้องร่วมมือกัน ไม่ให้ใครคนใดคนหนึ่งตามใจเด็ก
- ไม่ซื้ออาหารที่ไขมันสูงและน้ำตาลสูงเข้าบ้าน เช่น ขนมหวาน ขนมขบเคี้ยวที่ไม่มีประโยชน์ เช่น มันฝรั่งทอดเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล น้ำอัดลม น้ำผลไม้ ดูแลให้เด็กนอนให้เพียงพอ โดยฝึกให้นอนเป็นเวลาเพราะการนอนดึกเป็นสาเหตุหนึ่งของความอ้วนได้
- จำกัดเวลาที่ใช้กับหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์ ทีวี ไอแพด โทรศัพท์มือถือเพราะทำให้เด็กนั่งอยู่กับที่ไม่ได้เคลื่อนไหว แนะนำว่าเด็กเล็ก 2-5 ขวบไม่ควรอยู่กับหน้าจอเกินหนึ่งชั่วโมงต่อวัน
- พ่อแม่ต้องคอยให้กำลังใจเด็กเพราะการลดน้ำหนักต้องใช้พลังใจ ความมุ่งมั่นในการต่อสู้กับตัวเองและปฏิเสธอาหารที่ก่อให้เกิดโรคอ้วน
เรียบเรียงโดย พญ. นิภาภัทร์ วิศวชัยพันธ์ กุมารเวชศาสตร์, กุมารเวชศาสตร์ทั่วไป กุมารเวชศาสตร์, กุมารเวชศาสตร์โรคระบบต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: