คุณมี วิตามินดี พอหรือยัง
จากข้อมูล พบว่าคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครมีระดับวิตามินดีต่ำกว่าคนไทยในภูมิภาคอื่น ๆ โดยกว่าร้อยละ 60 ของคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร และเกือบร้อยละ 50 ของคนในตัวเมืองแต่ละจังหวัดต่าง ๆ มีภาวะพร่องวิตามินดีมากกว่าคนในพื้นที่ชนบท ทั้ง ๆ ที่ร่างกายของเราสามารถสังเคราะห์วิตามินดีได้จากผิวหนังเมื่อโดนแสงแดด แต่จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป คนส่วนใหญ่อยู่ในห้องหรืออาคาร และออกมาสัมผัสแสงแดดลดลง จึงทำให้เกิดภาวะที่เราเรียกว่า ภาวะพร่องหรือขาดวิตามินดี
ภาวะพร่องหรือขาดวิตามินดี (Vitamin D insufficiency or deficiency)
คือ ภาวะที่ระดับวิตามินดีในร่างกายต่ำกว่าค่าปกติ พบในคนทั่วไป ทำให้การดูดซึมแคลเซียมในร่างกายลดลงส่งผลให้มวลกระดูกลดลงจนนำไปสู่ภาวะกระดูกบางและ
โรคกระดูกพรุนได้
เราสามารถวินิจฉัยได้จากการวัดระดับค่า 25-hydroxy-vitamin D เพื่อแสดงระดับวิตามินดีในเลือด แบ่งเป็น 3 ระดับดังนี้
ประเภท
|
ระดับวิตามินดีในเลือด
(นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร (ng/mL))
|
ระดับปกติ (Normal)
|
มากกว่า 30
|
ภาวะพร่องวิตามินดี (Vitamin D insufficiency)
|
20 - 30
|
ภาวะขาดวิตามินดี (Vitamin D deficiency)
|
น้อยกว่า 20
|
โดยท่านสามารถเข้ารับการตรวจเลือดเพื่อวัดระดับวิตามินดีได้จากการตรวจสุขภาพประจำปี
ภาวะขาดวิตามินดี มีสาเหตุจากอะไร?
- การได้รับวิตามินดีจากอาหารไม่เพียงพอ โดยบุคคลที่รับประทานมังสวิรัติและไม่รับประทานเนื้อปลา มีแนวโน้มได้รับวิตามินดีไม่เพียงพอในแต่ละวัน
- การได้รับแสงแดดไม่เพียงพอ การหลีกเลี่ยงแสงแดด รวมทั้งการใช้ผลิตภัณฑ์กันแดด ล้วนส่งผลให้การสังเคราะห์วิตามินดีจากผิวหนังลดลง
- การดูดซึมวิตามินดีผ่านทางเดินอาหารบกพร่อง จากโรคที่ส่งผลให้การดูดซึมวิตามินดีลดลง เช่น Celiac disease, Crohn’s disease เป็นต้น นอกจากนี้ การผ่าตัดเพื่อลดขนาดกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กก็มีส่วนทำให้การดูดซึมวิตามินดีลดลงได้
- การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยากันชัก ยาขยายหลอดลม ยารักษาวัณโรคบางชนิด ส่งผลให้ร่างกายเปลี่ยนวิตามินดีไปอยู่ในรูปแบบที่ไม่ออกฤทธิ์มากขึ้น
วิตามินดีมีความสำคัญอย่างไร?
วิตามินดีเป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน มีความสำคัญต่อการทำงานของร่างกาย คือ
- ช่วยในการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัสจากอาหาร และรักษาระดับแร่ธาตุดังกล่าวในเลือดให้เป็นปกติ
- ยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนพาราไทรอยด์อันเป็นสาเหตุให้เกิดการสลายกระดูก
ซึ่งหากขาดวิตามินดีจะส่งผลให้การดูดซึมแคลเซียมในทางเดินอาหารลดลง มวลกระดูกลดลง เมื่อลื่น ตก หกล้ม อาจเสี่ยงต่อการเกิด
กระดูกหักได้มากขึ้น นอกจากนี้ ภาวะขาดวิตามินดีอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ได้แก่ ระดับแคลเซียมและฟอสฟอรัสในเลือดต่ำ โรคกระดูกอ่อนในเด็ก (Ricket disease) และโรคกระดูกอ่อนในผู้ใหญ่ (Osteomalacia) เป็นต้น
เมื่อขาดวิตามินดีแล้ว ควรทำอย่างไร?
หากท่านได้รับการตรวจวินิจฉัยว่า มีภาวะพร่องหรือขาดวิตามินดี เรามีคำแนะนำดี ๆ ให้ท่านได้นำไปปฏิบัติดังนี้
1. ทำกิจกรรมที่ได้รับแสงแดด อย่างน้อย 15 นาที จำนวน 2-4 ครั้ง/สัปดาห์ ช่วงเวลาที่ไม่ร้อนจนเกินไป เช่น เวลาเช้า 6.00 - 8.00 น. หรือช่วงเย็น 16.00 -18.00 น. แสงแดดจะช่วยเปลี่ยนคอเลสเตอรอลในร่างกายไปเป็นวิตามินดี
2.รับประทานอาหารที่ให้ปริมาณวิตามินดีสูง เช่น
- ปลาที่มีน้ำมันสูง เช่น ปลาซาร์ดีน ปลาเทราต์ ปลาทูน่า ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล เป็นต้น
- น้ำมันตับปลา
- ไข่แดง
- นม
- อาหารเสริมวิตามินดี เช่น มาร์การีน ซีเรียล ขนมปัง เป็นต้น
3. การรับประทานวิตามินดีเสริม โดยแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ
- วิตามินดีสอง (Ergocalciferol)
- วิตามินดีสาม (Cholecalciferol)
แพทย์จะเป็นผู้เลือกใช้วิตามินดีเสริม โดยประเภทของวิตามินดีจะขึ้นอยู่กับสภาวะและความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย
4. ตรวจติดตามระดับวิตามินดีในเลือดกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของทางโรงพยาบาลอย่างสม่ำเสมอ
หากท่านต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 23 มกราคม 2567