bih.button.backtotop.text

ร้อยปีแห่ง “อินซูลิน” ร้อยปีแห่งนวัตกรรมเพื่อผู้ป่วยเบาหวาน



“เบาหวาน” เป็นโรคที่คร่าชีวิตมนุษย์มาหลายพันปีแล้ว ทว่าเราเพิ่งจะทราบสาเหตุของโรคที่แท้จริงเมื่อร้อยกว่าปีมานี้เอง และ “อินซูลิน” อันเป็นยาที่ช่วยต่อชีวิตให้แก่ผู้ป่วยเบาหวานมากมายก็เพิ่งถูกค้นพบเมื่อหนึ่งร้อยปีก่อนเท่านั้น ทว่านวัตกรรมทั้งหลายเพื่อการรักษาเบาหวานในรอบร้อยปีที่ผ่านมาไม่ได้จำกัดอยู่แต่ที่อินซูลินเท่านั้น ยังมีทั้งความเข้าใจในตัวโรคที่ลึกซึ้งมากขึ้น และยากลุ่มใหม่ๆ ที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการลดระดับน้ำตาลในกระแสเลือดอีกต่อไป แต่ยังลดภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจ ไปจนถึงลดอัตราการตายได้อีกด้วย

เมื่อพูดถึงโรคเบาหวาน หลายๆ คนก็คงนึกถึงการรับประทานยาเป็นหลัก แต่ทราบหรือไม่ว่ายาฉีดที่มีชื่อว่า “อินซูลิน” นั้น เป็นยารักษาโรคเบาหวานตัวแรกของโลกที่ช่วยต่อชีวิตผู้คนได้มากมายจนต่อยอดมาถึงนวัตกรรมในการรักษาโรคเบาหวานใหม่ๆ ในปัจจุบัน

อินซูลินคือฮอร์โมนที่สร้างโดยตับอ่อน และมีหน้าที่สำคัญในกระบวนการเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นพลังงานหล่อเลี้ยงร่างกาย หากร่างกายไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ (เบาหวานชนิดที่ 1 มักพบตั้งแต่ในวัยเด็ก) หรือสร้างได้แต่ดื้อต่ออินซูลิน (เบาหวานชนิดที่ 2 มักพบในผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วนร่วมด้วย) หรือใช้อินซูลินได้ไม่เต็มที่เพราะอิทธิพลของฮอร์โมนจากรก (เบาหวานในขณะตั้งครรภ์) ก็จะเกิดเป็นโรคเบาหวานซึ่งนำไปสู่โรคอื่นๆ ได้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคตับ (ไขมันพอกตับ) โรคไต (ไตต้องทำงานหนักเพื่อกรองน้ำตาลมากเกินไป) หรือกระทั่งโรคหัวใจ (น้ำตาลในเลือดสูงทำให้ผนังหลอดเลือดแดงผิดปกติ)

การค้นพบและพัฒนาอินซูลินนั้นเป็นงานวิจัยระดับรางวัลโนเบลซึ่งเป็นผลจากความอุตสาหะของแพทย์และนักวิทยาศาสตร์มากมาย เริ่มตั้งแต่ออสการ์ มินเคาสกี้ และโจเซฟ ฟอน เมริง ผู้ค้นพบว่าสุนัขที่ถูกตัดตับอ่อนทิ้งจะเกิดอาการของโรคเบาหวาน  จากนั้นเฟรเดอริก แบนติ้ง และชาร์ลส์ เบสต์ จึงต่อยอดโดยตัดเอาตับอ่อนของสัตว์มาเตรียมเป็นยาฉีดให้สัตว์ที่ถูกทำให้มีอาการของเบาหวาน และพบว่าสามารถลดระดับน้ำตาลได้จริง ก่อนที่เจมส์ คอลลิป และจอห์น แมคคลาวด์ จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาวิธีสกัดอินซูลินในรูปแบบที่บริสุทธิ์ขึ้นจากตับอ่อนของลูกวัว

และในเดือนมกราคม ปีค.ศ.1922 (พ.ศ. 2465) ความทุ่มเทของนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายก็บันดาลให้เกิดปาฏิหาริย์ในชีวิตของเด็กชายวัย 14 นามเลียวนาร์ด ธอมป์สันที่ป่วยด้วยโรคเบาหวานอย่างหนักจนอยู่ในภาวะวิกฤติ เพียงยี่สิบสี่ชั่วโมงหลังได้รับอินซูลินที่ผ่านกระบวนการทำให้บริสุทธิ์ขึ้นแล้วนั้น น้ำตาลในเลือดที่สูงถึง 520 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ก็ลดฮวบลงมาอยู่ที่ 120 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ทั้งอาการยังดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เด็กชายได้รับอินซูลินอย่างต่อเนื่องและมีชีวิตต่อมา และนั่นก็คือแสงสว่างแห่งความหวังของผู้ป่วยเบาหวานทั่วโลก

และนับตั้งแต่ปีค.ศ. 1982 (พ.ศ. 2525) เป็นต้นมา เราไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอินซูลินที่สกัดจากสัตว์ซึ่งก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ง่ายอีกต่อไป แต่ใช้อินซูลินของมนุษย์ซึ่งผลิตโดยแบคทีเรียที่ผ่านการตัดต่อทางพันธุกรรมแทน ทั้งยังมีการพัฒนาวิธีการฉีดให้ง่ายขึ้น เช่น นวัตกรรมปากกาอินซูลิน (ค.ศ. 1985 / พ.ศ. 2528) ที่ทำให้ผู้ป่วยฉีดยาเองได้ง่ายขึ้น และอินซูลินอะนาล็อก (insulin analog) ซึ่งก็คืออินซูลินมนุษย์ที่ผ่านการดัดแปลงให้ออกฤทธิ์สั้นหรือยาวตามความต้องการในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 (ราวๆ ปี พ.ศ. 2540) ทำให้สามารถปรับแบบแผนการให้ยาได้แม่นยำสอดคล้องกับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ถือได้ว่าอินซูลินก้าวมาไกลมากในรอบหนึ่งร้อยปี

และอีกหนึ่งนวัตกรรมที่ก้าวหน้ามาพร้อมกัน และยังอาจก้าวไปได้ไกลกว่าอินซูลินเสียอีก ก็คือยารักษาเบาหวานชนิดรับประทาน ซึ่งมีทั้งยาที่ทำให้ตับปลดปล่อยน้ำตาลออกมาในกระแสเลือดน้อยลง ยาที่กระตุ้นให้ร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินดีขึ้น ยาที่กระตุ้นการหลั่งอินซูลินให้มากขึ้น ยาที่ช่วยให้อินซูลินในร่างกายออกฤทธิ์ได้นานขึ้น ยาที่ลดการดูดซึมของน้ำตาล และยาที่ลดการดูดซึมน้ำตาลกลับทางไต ยาเม็ดเหล่านี้ใช้ง่ายและพกพาสะดวกต่างจากอินซูลินซึ่งเสื่อมง่าย จึงมีการนำมาใช้กันอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะในผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง

อย่างไรก็ดี ภัยร้ายจากโรคเบาหวานนั้นไม่ได้มาจากระดับน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นอย่างเดียว แต่ยังเกี่ยวข้องกับโรคไต หัวใจ และตับได้ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น การพัฒนายารักษาโรคเบาหวานในปัจจุบันจึงไม่ได้เน้นเพียงผลในการลดระดับน้ำตาลในกระแสเลือดอีกต่อไป แต่ยังเน้นถึงผลประโยชน์ร่วมต่อระบบอื่นๆ ในร่างกายอีกด้วย จนถึงขั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งในข้อกำหนดของหน่วยงานรัฐในการพิจารณาว่าจะอนุญาตให้วางจำหน่ายยาได้หรือไม่เลยทีเดียว โดยยารุ่นล่าสุดหลายตัวถึงกับแสดงให้เห็นประสิทธิผลในการลดอัตราการเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากโรคหัวใจวายหรือการเสียชีวิตเนื่องจากโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดได้ด้วยซ้ำ ทั้งยังมีผลข้างเคียงน้อยลง  

เรื่องราวแห่งประวัติศาสตร์ของการพัฒนาที่ร้อยเรียงกันมาอย่างต่อเนื่องนี้แสดงให้เห็นถึงอัจฉริยภาพและความอุตสาหะของนักวิทยาศาสตร์และบุคลากรทางการแพทย์ในการต่อสู้กับโรคร้ายที่คุกคามมนุษย์อย่างไม่หยุดหย่อน และโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนลก็ภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเบาหวานนี้ โดยการสรรหานวัตกรรมและยาใหม่ๆ มาให้บริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อสานต่อสิ่งที่เริ่มต้นเมื่อหนึ่งร้อยปีก่อน เมื่ออินซูลินเข็มแรกถูกฉีดให้เด็กน้อยในวันนั้น
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
          8.00-20.00  (BKK Time)
          02-0113984-5 and 02-113991

          20.00-8.00 (BKK Time)
          Contact center +662 066 8888 and  1378
แก้ไขล่าสุด: 24 พฤษภาคม 2565

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs