bih.button.backtotop.text

8 กลุ่มผู้ป่วยที่หากติด Covid-19 เสี่ยงมีอาการรุนแรง

17 เมษายน 2563

ผู้ป่วยเรื้อรังด้วยโรคประจำตัวบางโรค หากติดโควิด-19 มักจะพบความเสี่ยงที่อาการจะเพิ่มความรุนแรงกว่าคนทั่วไป กลุ่มผู้ป่วยดังกล่าว พึงระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการติดโควิด-19

AW-Info-8-กลมเสยง-1500.jpg

 

8 กลุ่มผู้ป่วยที่เสี่ยงมีอาการรุนแรงหากติดโควิด-19

 
คนทุกเพศวัยสามารถติดโรคโควิด-19 ได้ อาการของโรคมีอย่างหลากหลาย ผู้ป่วยบางคนอาจไม่แสดงอาการใดๆเลย ในขณะที่ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการหนักมากจนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ โดยความเสี่ยงในการมีอาการรุนแรงเกิดขึ้นกับกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง มาดูกันว่าคุณหรือคนในครอบครัวมีโรคประจำตัวที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงนี้หรือไม่และควรปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อลดความเสี่ยง

โรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 รวมถึงผู้ป่วยโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ล้วนมีความเสี่ยงในการเกิดอาการรุนแรงหากติดโรคโควิด-19 เนื่องจากผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดีและมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าเป้าหมาย มักมีโรคแทรกซ้อนอื่นๆร่วมด้วย นอกจากนี้การติดเชื้อยังทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดผันผวนและควบคุมได้ยาก ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำลงและติดเชื้อได้ง่ายขึ้น รวมถึงเชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดีในภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ดังนั้นในช่วงระบาดของโควิด-19 ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัว ดังนี้

  • ปฏิบัติตัวตามแพทย์แนะนำ กินยาเบาหวาน ยาร่วมอื่นๆและฉีดอินซูลินตามปกติ
  • สำรองยาและอินซูลินไว้อย่างน้อย 2 สัปดาห์
  • วัดอุณหภูมิร่างกายทุกเช้าเย็น เพราะอาการไข้อาจบ่งชี้ถึงการติดเชื้อ
  • สำรองอาหารประเภทน้ำตาลเผื่อไว้สำหรับเมื่อมีภาวะน้ำตาลต่ำ
  • ตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดบ่อยครั้งขึ้นและติดตามผลให้อยู่ในระดับ 80-180 มก./ดล.
  • ชั่งน้ำหนักร่างกายทุกวัน หากน้ำหนักลดลงขณะกินอาหารได้ตามปกติ เป็นสัญญาณว่าระดับน้ำตาลในเลือดสูง
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอเพราะการติดเชื้อทุกชนิด ทำให้ร่างกายขาดน้ำ
  • หากมีอาการคล้ายไข้หวัด เช่น มีไข้ ไอ หายใจลำบากให้รีบปรึกษาแพทย์
  • หากอยู่เพียงลำพังให้หาคนที่มั่นใจว่าจะช่วยเหลือคุณได้เมื่อมีเหตุฉุกเฉิน

โรคไตเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคไตที่อยู่ในขั้นที่ 3 ถึงขั้นที่ 5 ผู้ป่วยที่รักษาด้วยการฟอกเลือดและผู้ป่วยที่เปลี่ยนถ่ายไตอยู่ในกลุ่มเสี่ยงในการมีอาการรุนแรง ผู้ป่วยที่รักษาด้วยการฟอกเลือดอาจมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าคนปกติทั่วไป นอกจากนี้ผู้ป่วยที่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายไตต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกันทำให้ภูมิคุ้มกันลดต่ำลงทำให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามข้อแนะนำดังนี้
  • สำหรับผู้ป่วยที่รักษาด้วยการฟอกเลือดให้มารับบริการตามนัดหมาย หากคุณมีไข้ให้ติดต่อกับทางโรงพยาบาลก่อนที่จะเข้ารับบริการ
  • ผู้ป่วยที่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายไต ให้กินยาตามที่แพทย์สั่งและสำรองยาไว้อย่างน้อย 2 สัปดาห์
  • ปฏิบัติตามข้อแนะนำด้านการรักษาสุขอนามัยในช่วงการระบาดของโควิด-19 เช่น ล้างมือ หลีกเลี่ยงสถานที่หนาแน่น รักษาระยะห่างจากผู้อื่นและพยายามอยู่บ้านให้มากที่สุด

โรคปอดและทางเดินทางหายใจ ผู้ป่วยโรคปอดและทางเดินหายใจที่มีความเสี่ยงสูง คือ ผู้ป่วยโรคหืดหอบระดับปานกลางถึงรุนแรงและผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง เช่น โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคปอดอักเสบเรื้อรังและโรคซิสติก ไฟโบรซิส เนื่องจากโควิด-19 มีผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ กระตุ้นอาการหอบหืดและอาจทำให้เกิดโรคปอดบวมและโรคร้ายแรงอื่นๆ สำหรับผู้ป่วยโรคปอด โควิด-19 อาจทำให้โรคปอดกำเริบหนักขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง ข้อควรปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยโรคปอดและทางเดินหายใจคือ
  • ใช้ยาอย่างต่อเนื่องรวมถึงยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ตามที่แพทย์แนะนำ
  • สำรองยาไว้อย่างน้อย 2 สัปดาห์ ควรจำกัดการเดินทางไปยังร้านขายยา
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้อาการกำเริบหรือแย่ลง
  • หากเป็นไปได้ให้ผู้อื่นที่ไม่ได้เป็นโรคหอบหืดช่วยทำความสะอาดบ้านและฆ่าเชื้อโรคภายในบ้านให้ โดยใช้ยาฆ่าเชื้อที่อาจทำให้อาการหอบหืดกำเริบให้น้อยที่สุด ฉีดน้ำยาทำความสะอาดเพื่อฆ่าเชื้อลงบนผ้าแทนที่จะฉีดลงบนพื้นผิวที่ต้องการทำความสะอาดโดยตรง รวมถึงให้เปิดประตู หน้าต่างและเปิดพัดลมเป่าอากาศภายในบ้านออกไป
  • ทำตามข้อแนะนำด้านการรักษาสุขอนามัยในช่วงการระบาดของโควิด-19 เช่น ล้างมือ เปลี่ยนเสื้อผ้าทันทีเมื่อกลับถึงบ้านน อยู่ห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 2 เมตร เป็นต้น

โรคอ้วน
ผู้ที่เป็นโรคอ้วนชนิดรุนแรงคือผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายตั้งแต่ 40 ขึ้นไปหรือตั้งแต่ 30 ขึ้นไปสำหรับชาวเอเชีย ผู้ที่เป็นโรคอ้วนชนิดรุนแรงมีความเสี่ยงในการเกิด กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน (ARDS) ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญของโรคโควิด-19 นอกจากนี้ผู้ที่เป็นโรคอ้วนชนิดรุนแรงยังมีโรคประจำตัวเรื้อรังอื่นๆที่ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของการมีอาการที่รุนแรง ดังนั้นควรปฏิบัติดังนี้
  • ใช้ยาอย่างเนื่องตามที่แพทย์สั่ง
  • สำรองยาไว้อย่างน้อย 2 สัปดาห์
  • ป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อด้วยการปฏิบัติตามข้อแนะนำด้านการรักษาสุขอนามัยในช่วงการระบาดของโควิด-19 และควรอยู่บ้านให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

โรคตับ
ผู้ป่วยโรคตับเรื้อรัง เช่น โรคตับแข็ง ผู้ป่วยปลูกถ่ายตับที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยภาวะที่มีตับอักเสบจากภูมิไวเกิน (AIH) และผู้ป่วยมะเร็งตับที่อยุ่ระหว่างการรักษาด้วยคีโม มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรกหากติดโควิด-19 เนื่องจากอาการป่วยจากโรคโควิด-19 รวมถึงยาที่ใช้ในการรักษาโรคอาจมีผลกระทบต่อการทำงานของตับ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับตับอยู่เดิม ดังนั้นควรปฏิบัติดังนี้
  • ใช้ยาอย่างเนื่องตามที่แพทย์สั่ง
  • สำรองยาไว้อย่างน้อย 2 สัปดาห์
  • ป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อด้วยการปฏิบัติตามข้อแนะนำด้านการรักษาสุขอนามัยในช่วงการระบาดของโควิด-19 และควรอยู่แต่ในบ้าน รวมถึงไม่สังสรรค์กับเพื่อนหรือคนในครอบครัวระหว่างอยู่บ้าน

ผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น กลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็ง กลุ่มผู้ป่วยโรคเอดส์ คนที่สูบบุหรี่ล้วนมีความเสี่ยงในการเกิดอาการรุนแรงเนื่องจากภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอทำให้ร่างกายไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังอาจติดเชื้อนานกว่าผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มอื่นๆ ผู้ป่วยสามารถปฏิบัติตัวตามข้อแนะนำดังนี้
  • ใช้ยาอย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์สั่ง
  • สำรองยาไว้อย่างน้อย 2 สัปดาห์
  • ระวังอย่าให้ภูมิคุ้มกันลดต่ำลงกว่าเดิม ความเครียด การอดนอน ความเหนื่อยล้าทางร่างกายทำให้ภุมิคุ้มกันลดต่ำลงได้ ผู้ป่วยควรหาวิธีการจัดการกับความเครียดและพักผ่อนให้เพียง กินอาหารที่ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย

ผู้ป่วยที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเนื่องจากยากดภูมิคุ้มกันทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอลง เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายต่อต้านอวัยวะใหม่แต่ขณะเดียวกันทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อง่ายขึ้นและอาจมีความรุนแรงของการติดเชื้อสูงขึ้น
  • ใช้ยาอย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์สั่ง
  • สำรองยาไว้อย่างน้อย 2 สัปดาห์
  • ปฏิบัติตามข้อแนะนำด้านการรักษาสุขอนามัยในช่วงการระบาดของโควิด-19 เช่น หลีกเลี่ยงการไปที่ในชุมชน รักษาระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 2 เมตร เป็นต้น

ผู้ป่วยโรคหัวใจ หากติดโควิด-19 อาจมีอาการหัวใจวายหรือภาวะหัวใจล้มเหลวได้ อาการโรคหัวใจที่รุนแรงยิ่งขึ้นนี้เกิดจากอาการป่วยของการติดเชื้อไวรัสและการที่หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น เช่น หัวใจเต้นเร็วขึ้นจากภาวะไข้ ประกอบกับระดับออกซิเจนที่ต่ำลงจากปอดบวมและโอกาสในการเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่สูงขึ้น นอกจากนี้ยังอาจพบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน (Myocarditis) ในกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 อีกด้วย ถึงแม้ไม่มีวิธีการป้องกันใดๆเป็นพิเศษ แต่ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวดังนี้
  • กินยาอย่างต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง
  • สำรองยาไว้อย่างน้อย 2 สัปดาห์
  • ปฏิบัติตามข้อแนะนำด้านการรักษาสุขอนามัยในช่วงการระบาดของโควิด-19
  • ออกกำลังกายอยู่ที่บ้านตามที่แพทย์แนะนำ จัดการกับความเครียด นอนหลับให้เพียงพอและกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ งดเค็ม การทำเช่นนี้นอกจากช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายแล้ว ยังช่วยชะลอการเสื่อมของกล้ามเนื้อหัวใจอีกด้วย
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

8 กลุ่มผู้ป่วยที่หากติด Covid-19 เสี่ยงมีอาการรุนแรง
คะแนนโหวต 8.5 of 10, จากจำนวนคนโหวต 4 คน

Related Health Blogs