ปัญหาความบกพร่องทางการได้ยินในเด็กส่งผลต่อการเรียนรู้และพัฒนาการด้านสื่อสารของเด็ก รวมถึงมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเด็กในระยะยาวได้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาการได้ยินส่วนใหญ่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นหรือมีอาการรุนแรงขึ้นได้ หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่เนิ่นๆ ดังนั้นหากผู้ปกครองสงสัยว่าเด็กอาจมีปัญหาด้านการได้ยิน ควรรีบพาเด็กมาพบแพทย์ก่อนที่อาการจะลุกลาม
กระบวนการการได้ยิน
ร่างกายมีระบบการได้ยินอยู่ 2 ระบบด้วยกัน โดยส่วนหนึ่งเป็นระบบกลไก อีกส่วนหนึ่งเป็นระบบประสาท เริ่มต้นจากเสียงเข้ามาในช่องหู เมื่อสัมผัสกับแก้วหูทำให้แก้วหูมีความสั่นสะเทือน หลังจากนั้นแก้วหูจะส่งสัญญาณการสั่นสะเทือนไปยังกระดูก 3 ชิ้นเล็กๆ ได้แก่ กระดูกค้อน กระดูกทั่งและกระดูกโกลน และประสาทรับเสียงในหูชั้นในตามลำดับ หูชั้นในมีลักษณะเป็นแอ่งน้ำที่มีเส้นประสาทลอยอยู่ เมื่อมีการสั่นกระเพื่อมผ่านน้ำเข้าไปทำให้เส้นประสาทที่ลอยอยู่ในน้ำเกิดการขยับตัวเปลี่ยนสัญญาณการสั่นให้เป็นให้เป็นสัญญาณไฟฟ้าส่งผ่านเส้นประสาทไปยังสมองเพื่อแปรเป็นข้อมูล
สาเหตุของการสูญเสียการได้ยิน
แพทย์จะวิเคราะห์สาเหตุของการสูญเสียการได้ยินตามกายวิภาคของหู ปกติหูของคนเรามีอยู่ 3 ชั้น คือหูชั้นนอก เริ่มตั้งแต่ช่องหูไปจนถึงแก้วหู ถัดมาคือหูชั้นกลางหรือส่วนที่ถัดจากแก้วหูซึ่งมีท่อระบายอากาศต่อจากจมูก ต่อจากหูชั้นกลางคือหูชั้นในซึ่งเป็นเรื่องของระบบประสาท สาเหตุของการสูญเสียการได้ยินเกิดได้จากหูทั้ง 3 ชั้น โดยสาเหตุเกิดได้จาก
- หูชั้นนอก ที่พบบ่อยในเด็กคือขี้หูอุดตัน ทำให้เด็กได้ยินไม่ชัด หรือมีความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น รูหูหรือใบหูไม่มี ตีบแคบ หรือผิดรูป
- หูชั้นกลาง ที่พบบ่อยในเด็กคือภาวะน้ำขังในหูชั้นกลาง มักสัมพันธ์กับการเป็นหวัด จมูกกับหูชั้นกลางจะเชื่อมต่อกันดังนั้นเมื่อเด็กเป็นหวัดแล้วอาการไม่ดีขึ้น น้ำมูกที่อยู่ในจมูกอาจคั่งค้างในหูชั้นกลาง ทำให้การได้ยินลดลงได้
- หูชั้นใน อาจเกิด แต่กำเนิดหรือเป็นภายหลัง เช่น การติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ หรืออาจเกิดขึ้นจากที่หูชั้นกลางอักเสบ
อาการที่สังเกตได้
ผู้ปกครองสามารถสังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงของเด็กได้ โดยเด็กอาจมีการถามซ้ำๆ เปิดโทรทัศน์เสียงดัง ไม่ตอบสนองต่อเสียงบางคนอาจมีอาการซุ่มซ่ามเพราะ มีอาการมึนงง มีอาการเป็นหวัดเรื้อรัง
ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัย
แพทย์จะเริ่มจากการถามอาการของเด็กกับผู้ปกครองเพื่อเป็นข้อมูลทางประวัติ หลังจากนั้นแพทย์จะตรวจร่างกายเพื่อหาความผิดปกติของหู เช่น ช่องหูตีบแคบหรือมีขี้หูอุดตันหรือเปล่า มีการคั่งค้างของน้ำมูกที่แก้วหูหรือไม่ เป็นต้น
สำหรับเด็กโตพอที่ให้ความร่วมมือในการตรวจได้ แพทย์อาจจะตรวจด้วยส้อมเสียงซึ่งเป็นการตรวจการได้ยินของหูทั้งสองข้างเทียบเคียงกันแบบคร่าวๆ นอกจากนี้แพทย์ยังอาจส่งตรวจการได้ยินโดยเฉพาะ โดยมีนักตรวจการได้ยิน (audiologist) เป็นผู้ทำการตรวจ ช่วยให้ทราบว่าเด็กได้ยินในระดับความดังเท่าไรเมื่อเทียบกับคนปกติทั่วไปที่ได้ยินในระดับความต่ำกว่า 25 เดซิเบล
ส่วนเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 3-4 ปี แพทย์จะใช้วิธีการตรวจ 2 รูปแบบคือ
- OAE (Otoacoustic Emission) วัดคลื่นเสียงที่สะท้อนกลับออกมาจากช่องหูว่ามีในระดับที่เหมาะสมหรือไม่ ปัจจุบันใช้วิธีการนี้เป็นการตรวจคัดกรองเด็กแรกเกิดทุกราย
- ABR (Auditory Brain Stem Response) เป็นการปล่อยเสียงในช่องหูเป็นระยะเพื่อตรวจการตอบสนองของคลื่นไฟฟ้าในเส้นประสาทหูและก้านสมอง
การรักษาและการป้องกัน
เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กมีปัญหาประสาทหูเสื่อมตั้งแต่กำเนิด คู่สมรสควรตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานและหากครอบครัวมีประวัติเรื่องประสาทหูเสื่อม ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการมีบุตร ระหว่างตั้งครรภ์ควรฝากครรภ์แต่เนิ่นๆ
หากเด็กมีปัญหาเรื่องประสาทหูเสื่อม แพทย์จะพิจารณาให้ใช้เครื่องช่วยฟัง การใส่เครื่องช่วยฟังตั้งแต่เนิ่นๆหรือเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ตั้งแต่เริ่มทราบว่าเด็กมีปัญหาการได้ยินโดยตรงจะทำให้พัฒนาการทางภาษาหรือการสื่อสารของเด็กดีขึ้น โดยสามารถเริ่มใส่เครื่องช่วยฟังได้ตั้งแต่เด็กอายุ 6 เดือน แต่ในบางกรณีที่เด็กไม่สามารถใช้เครื่องช่วยฟังขยายได้แล้ว แพทย์อาจใช้วิธีการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมแทน
ปัญหาการได้ยินในเด็กที่พบได้บ่อยคือปัญหาจากน้ำในหูชั้นกลาง ดังนั้นหากเด็กเป็นหวัดและอาการหวัดไม่ดีขึ้นในเวลา 5-7 วันควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจอาการเพิ่มเติม นอกจากนี้เด็กที่มีอาการภูมิแพ้ทำให้เป็นหวัดได้บ่อยกว่าคนปกติและมีผลต่อเนื่อง เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ผู้ปกครองควรดูแลให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรง หลีกเลี่ยงในสิ่งที่แพ้หรือใช้ยาควบคุมอาการภูมิแพ้ ปัญหาจากน้ำในหูชั้นกลางเป็นปัญหาซึ่งวินิจฉัยได้ยาก ดังนั้นหากเด็กมีปัญหาเรื่องการได้ยิน ผู้ปกครองควรรีบนำมาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง
นอกจากนี้แพทย์ยังแนะนำว่า ไม่ควรใช้ก้านสำลี (cotton bud) ในการทำความสะอาดใบหูเพราะขี้หูเป็นเหมือนเป็นขี้ผึ้งที่เคลือบใบหู ช่วยป้องกันน้ำ สิ่งสกปรกและการระคายเคืองจากภายนอก ดังนั้นหากเราไปเช็ดออก อาจทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อได้ง่ายและการใช้ก้านสำลีทำความสะอาดหูอาจทำให้ผิวหนังรอบรูหูชั้นนอกอักเสบได้
เรียบเรียงโดย รศ. นพ. วีระชัย ตันตินิกร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโสต ศอ นาสิกวิทยา, โสต ศอ นาสิกวิทยา
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: