เด็กทารกเกิดมาพร้อมภูมิต้านทานโรคบางชนิดที่ได้มาตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา นอกจากนี้การให้นมแม่ยังช่วยเพิ่มภูมิต้านทานโรคให้แก่เด็ก อย่างไรก็ตามภูมิต้านทานโรคนี้จะคงอยู่เพียงชั่วคราว การฉีดวัคซีนจึงช่วยสร้างภูมิต้านทานโรคให้แก่เด็กในระยะยาว โดยวัคซีนจะกระตุ้นภูมิต้านทานโรคให้เกิดปฏิกิริยาเหมือนกับร่างกายติดเชื้อโรคจริงๆ และจดจำเชื้อโรคนั้นไว้ เมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายอีกครั้ง ภูมิต้านทานจะสามารถทำลายเชื้อโรคนั้นได้
ประเภทของวัคซีน
วัคซีนสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทด้วยกัน ได้แก่
-
วัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (Live attenuated vaccine) เป็นวัคซีนที่ใช้เชื้อจุลินทรีย์ที่ยังมีชีวิตอยู่แต่ถูกทำให้อ่อนแอลง จนไม่ทำให้เกิดโรคได้ เช่น วัคซีนโปลิโอชนิดกิน วัคซีนรวมหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม วัคซีนอีสุกอีใส วัคซีนโรต้าและวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดพ่นจมูก
-
วัคซีนเชื้อตาย (Killed vaccine) เป็นวัคซีนที่ผลิตขึ้นจากเชื้อโรคทั้งตัวหรือบางส่วนของเชื้อที่ตายแล้ว เช่น วัคซีนตับอักเสบ เอ บี ไอกรน ไข้หวัดใหญ่ โปลิโอชนิดฉีด ไทฟอยด์ชนิดฉีด
-
วัคซีนประเภทท็อกซอยด์ (Toxoid) เป็นการนำพิษของเชื้อโรคมาทำให้หมดฤทธิ์แต่ยังสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้ ได้แก่ วัคซีนคอตีบ วัคซีนบาดทะยัก
นอกจากนี้วัคซีนยังสามารถแบ่งออกได้เป็น วัคซีนพื้นฐาน ซึ่งเป็นวัคซีนจำเป็นที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้เด็กไทยทุกคนต้องได้รับ ได้แก่ วัคซีนป้องกันวัณโรค
วัคซีนตับอักเสบบี วัคซีนคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ฮิป โปลิโอ วัคซีนหัด หัดเยอรมัน คางทูม วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี วัคซีนไข้หวัดใหญ่
และวัคซีนป้องกัน
มะเร็งปากมดลูกจากเชื้อเอชพีวี
วัคซีนเสริม หมายถึง วัคซีนที่มีประโยชน์ในการป้องกันโรคเพิ่มเติมจากวัคซีนพื้นฐาน แต่ยังไม่มีความสำคัญด้านสาธารณสุขในลำดับต้นๆ เช่น วัคซีนนิวโมคอคคัสชนิดคอนจูเกต วัคซีน
ไวรัสโรต้า วัคซีน
ตับอักเสบเอ วัคซีนอีสุกอีใส เป็นต้น
กำหนดการฉีดวัคซีนของเด็กตามช่วงวัย
การฉีดวัคซีนเด็กควรเป็นไปตามที่กำหนดไว้อย่างครบถ้วน เพื่อสุขภาพของเด็กและลดการแพร่ระบาดของโรคในชุมชน กำหนดการฉีดวัคซีนของเด็กแบ่งออกได้ตามช่วงอายุ ดังนี้
วัคซีนทารกแรกเกิด
- วัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG Vaccine) ฉีดให้เด็กก่อนออกจากโรงพยาบาล
- วัคซีนตับอักเสบบี (HBV) เข็มที่ 1 ฉีดภายใน 24 ชั่วโมงหลังเด็กเกิด
วัคซีนเด็กช่วงอายุ 1 เดือน
- วัคซีนตับอักเสบบี (HBV) เข็มที่ 2
วัคซีนเด็กช่วงอายุ 2 เดือน และ 4 เดือน
- วัคซีนรวม 5 โรค DTaP-IPV-HIB เข็มที่ 1(สำหรับอายุ 2 เดือน) ,เข็มที่ 2 (สำหรับอายุ 4 เดือน)
(วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-วัคซีนโปลิโอ-วัคซีนฮิป เพื่อป้องกันการติดเชื้อ Haemophilus influenzae type b ที่ทำให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในเด็กเล็ก โรคปอดบวม โรคข้ออักเสบ)
- วัคซีนนิวโมคอคคัสชนิดคอนจูเกต (PCV) ป้องกันโรคปอดบวม เข็มที่ 1(สำหรับอายุ 2 เดือน) ,เข็มที่ 2 (สำหรับอายุ 4 เดือน)
- วัคซีนไวรัสโรต้า (RV) ป้องกันโรคท้องร่วงหยอดเข้าที่ปาก ครั้งที่ 1(สำหรับอายุ 2 เดือน) ,ครั้งที่ 2 (สำหรับอายุ 4 เดือน)
วัคซีนเด็กช่วงอายุ 6 เดือน
- วัคซีนรวม 6 โรค DTaP-IPV-HIB-HBV เข็มที่ 3
(วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-วัคซีนโปลิโอ-วัคซีนฮิป-วัคซีนตับอักเสบบี)
- วัคซีนนิวโมคอคคัสชนิดคอนจูเกต (PCV) ป้องกันโรคปอดบวม เข็มที่ 3
- วัคซีนไวรัสโรต้า (RV) ป้องกันโรคท้องร่วง ครั้งที่ 3 (กรณี Pentavalent)
วัคซีนเด็กช่วงอายุ 9-12 เดือน
- วัคซีนป้องกันหัด หัดเยอรมันและคางทูม (MMR) เข็มที่ 1
- วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี (JE) ป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี เข็มที่ 1
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เข็มที่ 1 โดยฉีด 2 เข็มห่างกัน1 เดือนในครั้งแรก หลังจากนั้นแนะนำฉีดปีละครั้ง
วัคซีนเด็กช่วงอายุ 12-15 เดือน
- วัคซีนนิวโมคอคคัสชนิดคอนจูเกต (PCV) ป้องกันโรคปอดบวม เข็มที่ 4
- วัคซีนอีสุกอีใส เข็มที่ 1
- วัคซีนตับอักเสบเอ (HAV) เข็มที่ 1 ชนิดไม่มีชีวิตให้ 2 เข็มห่างกัน 6-12 เดือน
วัคซีนเด็กช่วงอายุ 18 เดือน
- วัคซีนรวม 5 โรค DTaP-IPV-HIB เข็มที่ 4
(วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-วัคซีนโปลิโอ-วัคซีนฮิป)
วัคซีนเด็กช่วงอายุ 2-4 ปี
- วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี (JE) เข็มที่ 2 (แนะนำให้ฉีดในเด็กอายุ 2-2 ½ ปี)
- วัคซีนป้องกันหัด หัดเยอรมันและคางทูม (MMR) เข็มที่ 2
- วัคซีนอีสุกอีใส เข็มที่ 2
วัคซีนเด็กช่วงอายุ 4-6 ปี
- วัคซีนรวม 4 โรค DTaP-IPV เข็มที่ 5
(วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-วัคซีนโปลิโอ)
วัคซีนเด็กช่วงอายุ 11-12 ปี
- วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก–ไอกรน (TdaP) กระตุ้น 1 เข็ม จากนั้นฉีดกระตุ้นด้วย Td ทุก 10 ปี
- วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกจากเชื้อเอชพีวี (HPV) ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไปโดยฉีด 2 เข็มห่างกัน 6-12 เดือน (ฉีดได้ทั้งในเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย โดยในเด็กผู้ชายนั้นสามารถป้องกันโรคหูดหงอนไก่และมะเร็งทวารหนักในเด็กผู้ชายได้ด้วย)
หากคุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถนำเด็กไปฉีดวัคซีนได้ตามกำหนดเวลาเนื่องจากติดเหตุจำเป็น เช่น เด็กมีอาการป่วย หลังจากเด็กหายดีแล้ว ให้รีบพาเด็กไปฉีดวัคซีนโดยไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นใหม่ ให้นับต่อไปได้เลย หากละเลยจนทำให้เด็กได้รับวัคซีนไม่ครบ อาจทำให้เด็กเป็นโรคร้ายแรงที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้
เรียบเรียงโดยกุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 24 มิถุนายน 2567