bih.button.backtotop.text

อ้วน...อันตราย

ทุกวินาทีที่ร่างกายแบกน้ำหนักเกินเอาไว้คือภยันตรายที่ทำร้ายทำลายทุกภาพของคุณ

จากผลการสำรวจของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขในปีที่ผ่านมาพบว่าคนไทยมีปัญหาภาวะโภชนาการล้นเกิน และเป็นโรคอ้วนเพิ่มสูงมากที่สุดในรอบ 10 ปี และมีจำนวนคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปเป็นโรคอ้วนมากเป็นอันดับ 5 ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อีกทั้งยังมีแนวโน้มเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 4 ล้านคนต่อปี เมื่อกล่าวถึงการลดน้ำหนัก หลายคนมักนึกถึงการทำอะไรก็ได้ที่จะช่วยให้ตัวเลขบนตราชั่งลดลงจนถึงระดับที่ตนพอใจ ลงท้ายหลายคนก็ตกอยู่ในวังวนของการลดน้ำหนักโดยที่ไม่เคยลดได้จริง ๆ สักที Better Health จึงชวนคุณมาไขข้อข้องใจกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและการลดน้ำหนักจากศูนย์รักษาโรคอ้วน โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เพื่อค้นหาวิธีการลดน้ำหนักอย่างได้ผลและเป็นคุณกับสุขภาพในระยะยาว

 

ลดน้ำหนักทำไมจึงแสนยากเย็น

พญ. นพวรรณ กิติวัฒน์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อกล่าวว่า เรื่องความอ้วนและน้ำหนักตัวจัดได้ว่าเป็นโรคเรื้อรังประเภทหนึ่งที่ต้องอาศัยการดูแลอย่างรอบด้าน “สำหรับผู้ที่มีแรงจูงใจและมีความตั้งใจจริงก็ลดได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมซึ่งได้ผลดีในระยะยาว” พญ. นพวรรณกล่าว “แต่บางคนก็เลือกที่จะลดน้ำหนักแบบผิด ๆ อย่างการอดอาหาร วิธีนี้น้ำหนักลดลงจริง เพราะมีการสูญเสียไขมันและน้ำร่วมกับกล้ามเนื้อ เมื่อกลับมารับประทานตามปกติน้ำหนักก็ขึ้นมาเหมือนเดิมหรือมากกว่าเดิม คราวนี้การลดน้ำหนักอีกครั้งก็ยิ่งยากขึ้นหากไม่ทำให้ถูกต้องเนื่องจากกล้ามเนื้อซึ่งเป็นตัวช่วยเผาผลาญพลังงานมีมวลน้อยลง”

คำจำกัดความของคำว่า ‘อ้วน’ ก็คือการที่มีไขมันสะสมอยู่ในร่างกายในปริมาณมากกว่าปกติและก่อปัญหาสุขภาพ ภัยที่เกิดขึ้นกับสุขภาพจึงอยู่ที่ปริมาณไขมันที่สะสมในร่างกายนั่นเอง โดยทั่วไปมาตรฐานที่ใช้วัดว่าใครเป็นโรคอ้วน ได้แก่ ดัชนีมวลกาย หรือ BMI (Body Mass Index) ที่หลายคนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี และการวัดรอบพุงตามเกณฑ์มาตรฐาน

พญ. นพวรรณผู้ซึ่งให้การดูแลผู้ป่วยเรื้อรังที่มีปัญหาเรื่องเมตาโบลิกซินโดรม อาทิ โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ฯลฯ มายาวนานกล่าวว่า “ผู้ที่มีน้ำหนักมากและมีภาวะแทรกซ้อนทางสุขภาพ แพทย์จะให้ยาเพื่อช่วยให้ลดน้ำหนักได้เร็วที่สุด โดยต้องอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยและสุขภาพที่แข็งแรง เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้ การปรับพฤติกรรมอาจต้องใช้ระยะเวลาอยู่บ้างเนื่องจากมีน้ำหนักมากและมีปัญหาเรื่องข้อการออกกำลังกายควบคู่ไปกับการใช้ยาก็ต้องทำอย่างระมัดระวังภายใต้คำแนะนำที่ถูกต้องเพื่อจะได้ไม่เป็นการซ้ำเติมให้ข้อแย่ลงอีก จึงจำเป็นที่จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดซึ่งจะช่วยให้สามารถประเมินได้ว่าโรคแทรกซ้อนที่ผู้ป่วยเป็นอยู่นั้นดีขึ้นหรือไม่ โดยส่วนมากแล้วเมื่อผู้ป่วยลดน้ำหนักได้ และอาการป่วยต่าง ๆ อาทิ ความดันเบาหวาน โรคข้อ โรคไต ก็ดีขึ้นในทันที ที่สำคัญ ผู้ป่วยจะได้เรียนรู้ด้วยว่า การเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสมนั้น มีรายละเอียดอย่างไร ความรู้ตรงนี้จะช่วยให้สามารถรักษาน้ำหนักตัวได้ย่างเหมาะสมได้ต่อไปในอนาคต” 

 

กินอย่างไรไม่อ้วน

พญ. จุฬาภรณ์ รุ่งพิสุทธิพงษ์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการวุฒิบัตรเฉพาะทางจากสหรัฐอเมริกา ให้ความเห็นว่าการลดน้ำหนักอย่างได้ผลนั้น ต้องรู้จักเลือกรับประทานอาหาร กล่าวคือ รู้จักเลือกชนิดของอาหาร และกำหนดปริมาณในการรับประทาน ตรงนี้เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะชี้วัดความสำเร็จของการลดน้ำหนักเลยทีเดียว

จริงอยู่ที่มาตรฐานที่ยอมรับกันว่าใครเป็นโรคอ้วน คือการวัดจากตัวเลขดัชนีมวลกาย แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียด การตัดสินกันด้วยค่าดัชนีมวลกายยังค่อนข้างมีข้อจำกัดอยู่

พญ. จุฬาภรณ์ยกตัวอย่างผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายที่บ่งว่าอ้วน แต่เมื่อวิเคราะห์ด้วยการตรวจ Body Composition ก็จะพบว่ามีมวลไขมันสะสมและมวลกล้ามเนื้อแตกต่างกัน เช่น แม้จะมีมวลไขมันสะสมเกินค่าปกติ แต่มวลกล้ามเนื้อก็อยู่ในสัดส่วนที่เกินจากปกติด้วย ขณะที่บางคนอาจมีมวลกล้ามเนื้ออยู่ในสัดส่วนที่น้อยเกินไปก็ได้ ตรงนี้สะท้อนไปถึงพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายที่แตกต่างกันอีกทั้งยังมีความหลากหลาย การให้การรักษาจึงต้องมีหลายวิธีที่จะแนะนำให้เหมาะสมในแต่ละคน  

“ข้อมูลจาก Body Composition บอกเราได้ว่าใครบ้างที่รับประทานอาหารเป็น กล่าวคือ รู้จักเลือกรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการในปริมาณที่เหมาะสม” พญ. จุฬาภรณ์กล่าว “ที่นี่เราจะสอนให้ผู้เข้ามารับคำปรึกษารู้จักเลือกอาหาร และทำความเข้าใจเรื่องอาหารแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นกลุ่มอาหารที่ถูกกำหนดปริมาณไว้อย่างแน่นอน แบ่งเป็นหกหมวดตามคุณค่าทางโภชนาการ รายการอาหารแลกเปลี่ยนในแต่ละหมวดนั้นมีคุณค่าทัดเทียมกันจึงสามารถเลือกรับประทานทดแทนกันได้ มีคุณค่ามีปริมาณแคลอรี่เสมอกันแต่มีความหลากหลายให้คุณรับประทานได้ทุกมื้อทุกวัน ในที่สุดแล้วจะช่วยปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารได้อย่างยั่งยืน”

 

ผ่าตัด รักษาโรคอ้วน

การผ่าตัดลดความอ้วนเป็นทางเลือกในการรักษาโรคอ้วนที่มีประสิทธิภาพโดยสามารถลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และการรับประทานยาแล้วไม่ได้ผล หรือลดน้ำหนักได้แล้วกลับเกิดภาวะน้ำหนักเกินขึ้นมาใหม่

“ในการพิจารณาว่าผู้ใดเหมาะสมที่จะเข้ารับการผ่าตัดรักษาโรคอ้วน เราดูจากดัชนีมวลกาย และสภาวะสุขภาพของผู้ป่วยเป็นสำคัญ” นพ. ธีรพล อังกูลภักดีกุล ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านการผ่าตัดผ่านกล้องเริ่มอธิบาย “ในชาวตะวันตก ผู้ที่มีดัชนีมวลกายตั้งแต่ 40 ถือว่าเข้าข่ายอ้วนอันตราย หรือ Morbid Obesity สามารถเข้ารับการผ่าตัดลดความอ้วนได้ บางกรณีผู้ป่วยมีดัชนีมวลกายเพียง 35 แต่มีปัญหาสุขภาพหลายประการ อาทิ มีกรดไหลย้อน มีภาวะหยุดหายใจระหว่างหลับ เป็นเบาหวานหัวใจ มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ก็ถือว่าเข้าข้อกำหนดในการผ่าตัดได้ ในคนเอเชียข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด หรือการตัดสินว่าอ้วนและเป็นอันตรายจะมีตัวเลขต่ำกว่าค่ามาตรฐานประมาณ 2.5 ซึ่งทั้งหมดนี้ แพทย์จะต้องประเมินเป็นราย ๆ ไป”

การผ่าตัดเพื่อช่วยผู้ป่วยลดความอ้วนสามารถทำได้ 2 แบบ คือ การผ่าตัดเพื่อลดขนาดของกระเพาะ ทำให้รับประทานน้อยลง เช่น การรัดกระเพาะ หรือผ่าตัดลดขนาดกระเพาะ ส่วนอีกแบบ เป็นการผสมผสานระหว่างการตัดกระเพาะให้เล็กลงและลดการดูดซึมสารอาหารลง เช่น ตัดกระเพาะและการทำบายพาส “สมัยก่อน การผ่าตัดมักจะเป็นแบบเปิดหน้าท้องและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบทางเดินอาหาร ส่งผลให้มีภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดหลายประการ” นพ. ธีรพลกล่าว “แต่ปัจจุบันเราผ่าตัดด้วยกล้อง เพราะฉะนั้นตัวเลขของผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดลดความอ้วนจึงเพิ่มขึ้น ๆ และภาวะแทรกซ้อนก็ไม่มากเหมือนแต่ก่อน พักฟื้นที่โรงพยาบาล 2-3 วันก็กลับบ้านได้ การวิจัยหลาย ๆ แห่งได้พิสูจน์แล้วว่า การผ่าตัดจะช่วยผู้ป่วยโรคอ้วนหายจากภาวะแทรกที่เป็นอันตรายบางอย่างได้ และควบคุมน้ำหนักได้ดีกว่าในระยะยาว”

น้ำหนักส่วนเกินไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความสวยความงามเพียงอย่างเดียว ปัญหาที่ใหญ่กว่าได้แก่ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสุขภาพซึ่งไม่ต่างอะไรกับระเบิดเวลาในร่างกายของคุณเอง ความตั้งใจที่จะลดน้ำหนักเป็นเรื่องที่มีคุณูปการต่อสุขภาพอยู่แล้ว อย่าให้ความตั้งใจเป็นเรื่องสูญเปล่า ขอรับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อการลดน้ำหนักอย่างปลอดภัยและได้ผลดีในระยะยาว

 

โรคอ้วน ปวดข้อและข้อเสื่อม

มีการกล่าวกันว่าหากจะมีสิ่งใดที่เราจะทำได้เพื่อสุขภาพของกระดูกและข้อแล้วละก็ สิ่งนั้นคือการพยายามรักษาน้ำหนักตัวไว้ไม่ให้มากเกินไป เพราะน้ำหนักแต่กิโลกรัมที่เพิ่มขึ้นนั้น หมายถึง แรงกดต่อข้อซึ่งทำหน้าที่รับน้ำหนักอย่างข้อเข่าและข้อสะโพกเพิ่มขึ้นด้วย

ในการก้าวเท้าเดินตามปกติ ข้อกระดูกของขาข้างที่เหยียบพื้นดิน ต้องแบกน้ำหนักที่กดทับลงมาประมาณ 3 เท่าของน้ำหนักตัว และเพิ่มขึ้นเป็น 7 ถึง 10 เท่า ในขณะที่วิ่งหรือก้าวขึ้นบันได หมายความว่าหากน้ำหนักตัวอยู่ที่ 50 กิโลกรัม ข้อเข่าจะรับน้ำหนักประมาณ 150 กิโลกรัมในเวลาเดิน และเพิ่มขึ้นเป็น 350 ถึง 500 กิโลกรัมในเวลาวิ่งหรือก้าวขึ้นบันได ดังนั้น สำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องน้ำหนัก ภาระที่ข้อกระดูกต้องแบกรับนั้นไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเลย หากลองคำนวณตามดู จะพบว่าข้อกระดูกจะต้องรับน้ำหนักมหาศาลทุก ๆ วันติดต่อกันเป็นเวลานานปีดังนี้แล้ว อาการปวดข้อ ข้ออักเสบ ข้อเสื่อม จนกระทั่งไม่อาจทรงตัวลงน้ำหนักได้ตามปกติเนื่องจากกระดูกข้อที่เสื่อมไปก่อนวัยอันควร จึงเป็นอีกปัญหาที่พบได้บ่อยสำหรับผู้ที่ประสบกับภาวะน้ำหนักเกิน นอกเหนือจากปัญหาสุขภาพด้านอื่น ๆ
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs