bih.button.backtotop.text

รู้จักกับแพทย์บำรุงราษฎร์

เพราะมุ่งมั่นที่จะมอบการดูแลที่ดีที่สุดให้แก่ผู้ป่วย โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์จึงไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเอง โดยมีเป้าหมายเพื่อดำรงและสร้างสรรค์ความเป็นเลิศในการให้บริการด้านการแพทย์ Better Health ขอแนะนำให้รู้จักกับแพทย์ที่มากด้วยทักษะและประสบการณ์ ซึ่งมาเสริมทีมแพทย์ของเราให้มีความแข็งแกร่ง พร้อมดูแลผู้ป่วยได้อย่างรอบด้านยิ่งขึ้น

 

 
ศ.พญ.จุฬาภรณ์ รุ่งพิสุทธิพงษ์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ

ด้วยประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยขาดสารอาหารมานานกว่า 30 ปี ทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งสำคัญในฐานะอาจารย์แพทย์ หัวหน้าหน่วยโภชนาการประจำโรงพยาบาลรามาธิบดี และนายกสมาคมผู้ให้อาหารทางหลอดเลือดดำและทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย ศ.พญ.จุฬาภรณ์จึงนับเป็นแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญอย่างมากในด้านการจัดการโภชนาการให้กับผู้ป่วย

Q: ความท้าทายของการเป็นแพทย์ด้านโภชนาการคืออะไร

A: การทำให้คนตระหนักถึงความสำคัญของภาวะโภชนาการเป็นเรื่องที่ยากที่สุด มีผู้ป่วยจำนวนมากที่อยู่ในภาวะขาดสารอาหารแต่ไม่รู้ตัวเพราะคนผอมหรือคนอ้วนก็ขาดสารอาหารได้เหมือนกัน หากผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างเพียงพอนอกเหนือจากการรักษาที่ต้องทำอยู่แล้ว ก็จะช่วยให้โรคดีขึ้นและใช้เวลาอยู่ในโรงพยาบาลน้อยลง จะเห็นได้ชัดในกรณีผู้สูงอายุจากที่เคยนอนผอมแห้ง พอได้รับอาหารที่เหมาะสมก็จะสดชื่นขึ้นเหมือนต้นไม้ที่ได้ปุ๋ย
 

ปัจจุบันเป็นเรื่องน่ายินดีที่บำรุงราษฎร์ตระหนักในปัญหานี้ เรามีทีมงานที่เข้มแข็งทั้งนักโภชนาการและพยาบาลที่คอยประเมินภาวะโภชนาการของผู้ป่วย รวมถึงมีข้อปฏิบัติอย่างชัดเจนหากพบว่าผู้ป่วยมีภาวะโภชนาการที่ไม่ดี

Q: เคสที่รู้สึกประทับใจ

A: เป็นเคสผู้ป่วยสูงอายุชาวอเมริกันที่ประสบอุบัติเหตุกระดูกด้านขวาหักทั้งซีก ตาบอด ผู้ป่วยน้ำหนักน้อยมากประมาณ 40 กิโลกรัมเท่านั้นและยังเป็นโรคตับอ่อนอักเสบด้วย ผู้ป่วยรายนี้ระบุว่าต้องการแพทย์ด้านโภชนาการร่วมทีมรักษา ซึ่งหมอก็ทำงานเต็มที่ ต้องผสมอาหารสูตรพิเศษที่ให้คุณค่าทางโภชนาการแบบเฉพาะบุคคล อาการผู้ป่วยดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งหากไม่ดูแลเรื่องอาหารอาจต้องรักษานานกว่านี้

Q: การร่วมงานกับบำรุงราษฎร์เป็นอย่างไรบ้าง

A: สิ่งที่ประทับใจเป็นพิเศษคือ แผนกโภชนาการของบำรุงราษฎร์มีความพร้อมเทียบเท่าโรงเรียนแพทย์ เป็นโรงพยาบาลเพียงไม่กี่แห่งที่มีการให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำแบบสมบูรณ์ หรือ total parenteral nutrition (TPN) โดยมีเภสัชกรผสมสูตรอาหารสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย ซึ่งการจะทำอย่างนี้ได้จำเป็นต้องมีห้องผสมปลอดเชื้อที่ได้มาตรฐาน มีระบบการจัดการที่ดี แสดงให้เห็นว่าบำรุงราษฎร์ให้ความสำคัญกับโภชนาการของผู้ป่วยอย่างมาก

 

 
พญ.นุสรา วงศ์รัตนภัสสร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนังและความงามด้านผิวพรรณ

พญ.นุสราจบการศึกษาด้านตจวิทยาจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล คุณหมอร่วมงานกับบำรุงราษฎร์มานานกว่า 17 ปีและเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญในการจัดตั้งศูนย์ผิวหนังและความงามด้านผิวพรรณที่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง โดยปัจจุบันมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำศูนย์มากถึง 29 ท่าน

Q: เหตุใดจึงเลือกมาร่วมงานกับบำรุงราษฎร์

A: บำรุงราษฎร์เป็นโรงพยาบาลที่ใส่ใจในคุณภาพการดูแลรักษาผู้ป่วย แพทย์ทุกท่านมีอิสระในการทำงานอย่างเต็มที่ ให้เกียรติกัน และเราไม่ได้มองว่าผู้ป่วยเป็นลูกค้า ในกรณีเคสที่ซับซ้อนทีมแพทย์ของเรายังทำงานร่วมกันเป็นทีม มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ มาช่วยกัน ทำให้เคสยากๆ ผ่านไปได้ด้วยดี การได้มาอยู่ตรงนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่ง

Q: สิ่งที่ท้าทายที่สุดสำหรับการเป็นแพทย์ผิวหนังคืออะไร

A: หมอคิดว่าการได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจจากผู้ป่วยเป็นสิ่งที่ท้าทายที่สุด เพราะคนมักมองว่าโรคผิวหนังเป็นเรื่องเล็ก เป็นเรื่องของความสวยงาม แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เสมอไป โดยเฉพาะที่บำรุงราษฎร์ เรามีเคสผิวหนังยากๆ หลายเคส เช่น มะเร็งผิวหนัง โรคตุ่มน้ำพอง ซึ่งผู้ป่วยเคยรักษาจากต่างประเทศแล้วไม่ได้ผล เหล่านี้เป็นเรื่องที่เราต้องทำให้ผู้ป่วยเชื่อมั่นให้ได้

Q: หลายปีมานี้เทคโนโลยีการรักษาโรคผิวหนังเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

A: เปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก จากเดิมมีการรักษาด้วยยารับประทาน ยาทา ยาฉีด การใช้ไนโตรเจนเหลว การใช้แสงอัลตราไวโอเลตเทียม แต่ในปัจจุบันมีการพัฒนาคุณภาพยาหรือเครื่องมือให้ดีขึ้นเรื่อยๆ มีการพัฒนายาใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผลข้างเคียงน้อยลง มีการพัฒนาครีมบำรุงผิวที่มีฤทธิ์ลดการอักเสบเพื่อลดการใช้สเตียรอยด์ลง นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีด้านความงามต่างๆ มากมาย เช่น โบท็อกซ์ ฟิลเลอร์ คลื่นวิทยุ และคลื่นไมโครเวฟ

 

 
พญ.วรรณี เกตุมาลาศิริ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู (กายภาพบำบัด)

กว่า 20 ปีที่พญ.วรรณีช่วยผู้ป่วยจำนวนมากให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นผ่านการทำงานทั้งในภาครัฐและเอกชน หลังจากจบการศึกษาเฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูจากศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และหลักสูตรเกี่ยวกับการฟื้นฟูสมรรถภาพมือและกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและพังผืดจากสหรัฐอเมริกา

Q: ขอทราบการทำงานของแพทย์กายภาพบำบัด

A: แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูต้องทำงานร่วมกับแพทย์สาขาอื่นๆ เช่น แพทย์ด้านประสาทวิทยา แพทย์ด้านศัลยกรรมกระดูก หรือถ้าเป็นผู้ป่วยเด็กก็ต้องทำงานกับกุมารแพทย์ เอาความรู้หลายๆ ด้านมารวมกันเพื่อดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม งานของหมอไม่ใช่แค่การรักษาแต่ครอบคลุมไปถึงการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยหลังออกจากโรงพยาบาลไปแล้ว เช่น การจัดสภาพแวดล้อมในบ้านและให้คำแนะนำแก่ผู้ดูแลผู้ป่วย

Q: เคสการรักษาที่ประทับใจ

A: เคยมีเคสผู้ป่วยสมองเสื่อมอายุประมาณ 20 ปี ผู้ป่วยขยับตัวไม่ได้เลยเนื่องจากข้อติดทั้งตัว ขาดสารอาหาร ตัวผอมแห้ง ตอนแรกประเมินไว้ว่าอาจจะแค่ช่วยให้นั่งได้ เราเริ่มรักษาจากแก้ข้อติดจากนั้นก็กระตุ้นกล้ามเนื้อจนใช้งานได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดผู้ป่วยรายนี้เดินได้ในระยะ 2-3 ก้าว สามารถลงรถเข็นและบังคับรถเข็นเองได้
 

อีกเคสเป็นเด็กสมองพิการที่อยู่กับแม่เพียงลำพัง ผู้ป่วยเคลื่อนไหวได้ เดินได้ช้าๆ ด้วยไม้ค้ำยัน แต่สิ่งที่หมอคิดคือจะทำอย่างไรให้เขาใช้ชีวิตด้วยตัวเองได้ เริ่มตั้งแต่พูดคุยกับแม่เด็กให้ส่งลูกไปโรงเรียน คุยกับทางโรงเรียนให้เข้าใจถึงปัญหา ในที่สุดเด็กคนนี้สามารถเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่หกและประกอบอาชีพหาเลี้ยงตัวเองได้

Q: หลักคิดในการทำงาน

A: คุณแม่ของหมอสอนว่า เวลารักษาผู้ป่วยให้คิดว่าเรากำลังรักษาแม่ จะรักษาคุณแม่อย่างไรก็ให้ปฏิบัติต่อผู้ป่วยอย่างนั้น ท่านบอกอีกว่าผู้ป่วยมาหาหมอเพราะมีความทุกข์จากอาการป่วย เราอย่าเอาความทุกข์ไปเพิ่มให้เขาอีก ให้พูดจาดีๆ อะไรที่จะช่วยผู้ป่วยให้สบายขึ้นได้ก็ต้องทำอย่างเต็มความสามารถ ซึ่งหมอก็ยึดหลักเช่นนั้นมาตลอด

 

 
ทพญ.มัทนา เกษตระทัต ทันตแพทย์ผู้มีความชำนาญด้านทันตกรรมผู้สูงอายุ

หลังจากสำเร็จการศึกษาจากคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทพญ.มัทนาได้เดินทางไปศึกษาต่อเฉพาะทางด้านทันตกรรมผู้สูงอายุ ณ มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย แวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา นับเป็นทันตแพทย์คนแรกของประเทศไทยที่จบการศึกษาด้านนี้

Q: เหตุใดถึงเลือกเรียนด้านทันตกรรมผู้สูงอายุ

A: หลังจากเรียนจบที่จุฬาฯ ก็มาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้บริหารและอาจารย์ผู้ใหญ่ตอนนั้นเล็งเห็นแนวโน้มแล้วว่าผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพช่องปากมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ท่านก็แนะนำว่าควรจะไปเรียนเพราะเมืองนอกเขามีสาขานี้มานานแล้วแต่บ้านเรายังไม่มี การได้ไปเรียนจะช่วยให้เราเอาความรู้กลับมาถ่ายทอดให้ทันตแพทย์รุ่นใหม่ๆ ได้ ตอนนั้นก็เริ่มมีผู้ป่วยอัลไซเมอร์ พาร์กินสันเข้ามาที่โรงพยาบาล แต่ไม่มีใครทราบว่าจะต้องดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างไร ก็เลยตัดสินใจไม่ยากก่อนไปเรียนต่อ

Q: การดูแลผู้ป่วยสูงอายุแตกต่างจากผู้ป่วยทั่วไปอย่างไร

A: ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีหลายโรคและรับประทานยาหลายกลุ่ม การวางแผนรักษาจึงซับซ้อนกว่าผู้ป่วยทั่วไป ผู้ป่วยอัลไซเมอร์บางรายไม่ให้ความร่วมมือในการรักษาแต่จะปล่อยไว้ก็อาจมีผลเสียตามมามาก ในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ ครอบครัวและผู้ดูแลสำคัญมากไม่แพ้หมอ เพราะสุขภาพช่องปากต้องดูแลทุกวัน เวลาเห็นลูกหลานช่วยกันดูแลดีมาก หมอก็หายเหนื่อย

Q: ร่วมงานกับบำรุงราษฎร์เป็นอย่างไรบ้าง

A: บำรุงราษฎร์มีระบบฐานข้อมูลผู้ป่วยที่ดีมาก ทุกอย่างอยู่ในคอมพิวเตอร์หาง่ายอ่านง่าย ในการวางแผนเพื่อดูแลรักษาผู้สูงอายุนั้นข้อมูลด้านการใช้ยา ประวัติความเจ็บป่วยและการรักษาสำคัญมาก อย่างคลินิกสุขภาพผู้สูงอายุนิวไลฟ์นี่รวมทีมงานหลายสาขาวิชาชีพมาก ฐานข้อมูลก็ทำมาสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ นอกจากประวัติการรักษาและการใช้ยาแล้วยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับสมุนไพร อาหารเสริม ระบุเรื่องราวเกี่ยวกับผู้ดูแลและปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ซึ่งสำคัญและจำเป็นเพราะช่วยให้การดูแลผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากขึ้น

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 03 พฤศจิกายน 2563

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs