บ่ายวันเสาร์ของต้นเดือนมิถุนายน Better Health มีนัดพูดคุยกับคุณประไพ กิตติพัฒน์วงศ์ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ซึ่งมาพร้อมกับบุตรสาว คุณอรนุช ธนารัตน์สุทธิกุล หรือคุณบี เพื่อแบ่งปันประสบการณ์การเผชิญหน้ากับโรคที่หลายคนเรียกกันว่า “ฆาตกรเงียบ”
“วันนั้นทุกอย่างปกติหมด ตื่นมาก็ทำงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ แต่พอสักบ่ายกว่าๆ ก็รู้สึกเวียนศีรษะแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ยืนอยู่แล้วจะเซต้องเกาะโต๊ะเอาไว้ เลยโทรศัพท์ไปหาลูกสาว บอกเขาว่าแม่รู้สึกมึนๆ ไม่รู้เป็นอะไร ลูกก็บอกว่าแม่อย่านอนนะ นั่งนิ่งๆ ก่อน เราก็ตอบรับแล้ววางสาย แต่พอจะยกแขนขวาขึ้นปรากฏว่ายกไม่ได้ ไม่รู้แรงไปไหนหมด ตอนนั้นแหละที่รู้สึกตกใจมาก” คุณประไพ ซึ่งปัจจุบันอายุ 65 ปี ย้อนเหตุการณ์ของบ่ายวันที่ 19 มกราคม 2559 ให้ฟัง
ด้านคุณบีที่ขณะนั้นขับรถอยู่แถวสี่แยกราชประสงค์ เล่าว่าระหว่างที่คุยกันนั้น เธอคิดว่าคุณแม่ของเธอน่าจะมีอาการของโรคหลอดเลือดสมอง หรือ stroke “น้ำเสียงแม่ฟังดูแปลกๆ เหมือนคนลิ้นแข็ง พูดไม่ชัด พอดีเคยอ่านบทความสุขภาพแล้วจำได้ว่าอาการแบบนี้ใกล้เคียงกับโรคหลอดเลือดสมอง เลยโทรศัพท์ถามเพื่อนที่ทำงานอยู่บำรุงราษฎร์ว่าจะมีวิธีดูแลตัวเองเบื้องต้นอย่างไร คือเรารู้แค่ว่าน่าจะเป็น stroke แต่ไม่รู้ว่าจะต้องรีบไปให้ถึงมือแพทย์ ตอนนั้นตั้งใจว่าทำธุระเสร็จแล้วจะกลับไปดูแม่ แต่เพื่อนบอกว่าไม่ต้องไปไหนแล้ว ให้หยุดทุกอย่างแล้วเรียกรถพยาบาลเดี๋ยวนี้เลย”
ภายในเวลาเพียง 20 นาทีโดยประมาณ คุณบีเล่าว่าเธอกลับไปถึงบ้านย่านสุทธิสารพร้อมกับที่รถพยาบาลของบำรุงราษฎร์มารับคุณแม่พอดี ภาพที่เห็นตอนนั้นเธอบอกว่า “หัวใจตกไปอยู่ที่ตาตุ่ม” เนื่องจากคุณประไพมีอาการอ่อนแรงมาก ไม่สามารถลุกยืนได้เอง และมุมปากตกลงข้างหนึ่ง ซึ่งแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินที่มารับผู้ป่วยบอกกับเธอว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
ระหว่างที่อยู่ในรถพยาบาล คุณประไพเล่าว่ารู้สึกตัวดี แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือความกลัว กลัวเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต ยกแขนขาไม่ได้อีก ขณะที่คุณบีเสริมว่า “วันนั้นโชคดีมากจริงๆ ที่รถไม่ติดเลย ระหว่างที่ขับรถตามไปโรงพยาบาลก็ได้รับโทรศัพท์จากคุณหมอฤกษ์ชัยเรื่องอาการของคุณแม่และยาที่ต้องฉีด คือช่วงเวลาจากที่รับคุณแม่ไปถึงโรงพยาบาลและวินิจฉัยนั้นใช้เวลาเพียง 45 นาทีเท่านั้นเอง”
ผ่านพ้นวิกฤติ
คุณประไพเล่าว่าเมื่อถึงโรงพยาบาล กระบวนการตรวจเป็นไปอย่างรวดเร็ว หลังจากเอกซเรย์สมองแล้วคุณหมอบอกว่าไม่มีเลือดออกในสมองแต่มีหลอดเลือดตีบเพราะมีลิ่มเลือดไปอุดตันและต้องฉีดยา คุณหมออธิบายทุกอย่างเรียบร้อยดีแล้ว บอกว่า ใจเย็นๆ หมอใช้ยาตัวนี้แล้วจะดีขึ้น
หลังจากเฝ้าระวังในห้องไอซียู 1 คืน เช้าวันรุ่งขึ้นคุณประไพก็สามารถยกแขนขวาขึ้นได้แต่ยังไม่มากนัก และค่อยๆ ทำได้ดีขึ้นในวันถัดมา “ตอนนั้นดีใจมาก สบายใจว่าไม่เป็นอัมพาตแล้ว เราไม่อยากนอนให้ลูกต้องมาคอยดูแลเพราะเขาต้องทำงาน”
คุณประไพรักษาตัวในโรงพยาบาลทั้งสิ้น 4 วัน ก็สามารถกลับไปพักผ่อนที่บ้านได้ แต่ยังคงต้องทำกายภาพบำบัดทั้งที่โรงพยาบาลและที่บ้านตามคำแนะนำของแพทย์
แข็งแรง แต่ต้องเฝ้าระวัง
“ตอนนี้ดีขึ้นมากแล้วค่ะ ยังมีเมื่อยๆ บ้างเท่านั้น แต่ก็กลับมาเล่นโยคะได้แล้วหลังจากหยุดไปเมื่อหลายปีก่อน โรคที่เป็นอยู่อย่างเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง ซึ่งเมื่อก่อนละเลยเรื่องการรับประทานยา เดี๋ยวนี้ก็รับประทานยาสม่ำเสมอและควบคุมอาหารไม่ให้ระดับน้ำตาลสูง ไม่ประมาทแล้วค่ะ ไม่คิดว่าจะเจอกับตัวเองเพราะปกติเป็นคนแข็งแรงมาก” คุณประไพบอก
ขณะที่คุณบีสรุปว่าวันนั้นโชคดีหลายเรื่อง ตั้งแต่การที่คุณแม่รีบโทรฯ ถึงเธอ การจราจรที่ลื่นไหล และคุณแม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์ที่ทำหน้าที่มีประสิทธิภาพ “ชมทีมงานไปเรียบร้อยแล้วค่ะ ต้องบอกว่าขอบคุณมากจริงๆ” คุณบีทิ้งท้าย
“ ผมคิดว่าเขาตัดสินใจถูกต้อง ”
สำหรับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาและโรคหลอดเลือดสมอง นพ.ฤกษ์ชัย ตุลยาภรณ์โชติ เชื่อว่าความสำเร็จในการรักษาคุณประไพ กิตติพัฒน์วงศ์ เริ่มต้นจากการตัดสินใจที่ถูกต้องของผู้ป่วยและญาติ
ผู้ป่วยมาถึงด้วยอาการอย่างไร
ผู้ป่วยรายนี้มาถึงมือแพทย์ค่อนข้างเร็ว ตอนที่มามีอาการแขนขาข้างหนึ่งอ่อนแรง รู้สึกตัวดี แต่พูดไม่ชัด
โรงพยาบาลมีขั้นตอนการวินิจฉัยและรักษาอย่างไร
ศูนย์โรคระบบประสาทวิทยาของเรามีมาตรฐานในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอย่างชัดเจนซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานระดับสากล JCI (Joint Commission International) ประเทศสหรัฐอเมริกาในด้านการรักษาพยาบาลและป้องกันเฉพาะโรคหลอดเลือดสมองต่อเนื่องมา 3 ครั้งแล้ว ดังนั้น เมื่อมีผู้ป่วยที่สงสัยว่ามีอาการของโรคหลอดเลือดสมองมาที่โรงพยาบาล เราจะมีการประกาศ activated stroke code เพื่อดำเนินการแจ้งบุคลากรที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมความพร้อมในการรักษาอย่างเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทวิทยา นักรังสีแพทย์ผู้รับผิดชอบเตรียมความพร้อมเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT scan) เจ้าหน้าที่ประจำห้องปฏิบัติการ พยาบาล และพยาบาลผู้ประสานงานทางคลินิกซึ่งพร้อมทำงานทันที
หลังจากผู้ป่วยถึงห้องฉุกเฉิน จะมีการซักประวัติตรวจร่างกาย การตรวจระบบประสาท เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองเพื่อดูภาวะสมองขาดเลือดว่าเกิดจากหลอดเลือดตีบ อุดตัน หรือภาวะเลือดออกในสมอง และเรามีเกณฑ์ประเมินระดับความรุนแรงของโรคหลอดเลือดสมอง (National Institutes of Health Stroke Scale) ซึ่งกรณีคุณประไพนั้นพบว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองจากการอุดตันของลิ่มเลือด (Ischemic stroke) ทำให้เกิดภาวะสมองขาดเลือดเฉียบพลัน และมาตรฐานการรักษาสมองขาดเลือดจากหลอดเลือดตีบหรือหลอดเลือดอุดตันคือการให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ ชื่อทางการแพทย์คือ tissue plasminogen activators (t-PA) ในผู้ป่วยที่ระยะเวลาการเกิดอาการไม่เกิน 4.5 ชั่วโมง ซึ่งเป็นยาที่มีประสิทธิภาพสูง หากให้ในระยะเวลาที่เหมาะสม และผู้ป่วยไม่มีข้อห้ามใช้จะช่วยลดอัตราการเกิดความพิการได้ถึงร้อยละ 30 แต่เนื่องจากยาชนิดนี้มีผลข้างเคียงคือ อาจทำให้มีเลือดออกตามอวัยวะต่างๆ ในร่างกายรวมถึงในสมองได้ ดังนั้นถ้าไม่ได้รับการยินยอมจากญาติในการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ แพทย์ก็จะไม่สามารถรักษาให้ผู้ป่วยได้
วันนั้นผมอธิบายกับลูกสาวผู้ป่วยว่า “ผมวินิจฉัยอย่างรอบคอบที่สุดแล้ว ว่าอาการของคุณแม่ของคุณอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำได้ ดังนั้นตามความเห็นของผมคือควรให้ยา แต่ญาติต้องให้ความยินยอมก่อนเพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเลือดออกในร่างกายประมาณ 6% และเสียชีวิตได้ประมาณ 3%” ซึ่งคำตอบของลูกสาว คือ “ให้”
การดูแลผู้ป่วยระหว่างอยู่ที่โรงพยาบาล
หลังจากได้รับยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ (t-PA) เราให้ผู้ป่วยอยู่ในห้องไอซียูเพื่อดูว่าผู้ป่วยตอบสนองกับยาหรือไม่ รวมทั้งเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นด้วย ซึ่งทุกอย่างเป็นไปอย่างเรียบร้อย ขณะเดียวกันก็ต้องหาสาเหตุของการเกิดโรค เพราะหัวใจของการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองไม่ใช่การใช้ยาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีการวางแผนการดูแลในระยะยาวเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้อีก
ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงควรสังเกตอาการและปฏิบัติตัวอย่างไร
อาการที่เป็นสัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง คือ ชาหรืออ่อนแรงแขนขาครึ่งซีก พูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง ฟังไม่เข้าใจ มองเห็นภาพซ้อน เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ เดินเซทรงตัวลำบาก ซึ่งอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน
และเมื่อมีอาการเกิดขึ้นให้รีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดที่คิดว่ามีศักยภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทันที อย่าเสียเวลาทำเรื่องส่งตัวเพราะจะไม่ทัน เนื่องจากเวลามีความสำคัญมากในการให้การรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง แต่ถึงแม้ว่าผู้ป่วยจะมาถึงโรงพยาบาลในเวลาที่กำหนดก็ไม่ได้หมายความว่าจะรักษาด้วยยานี้ได้หรือการรักษาจะประสบความสำเร็จทุกราย เพราะยังมีปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น มีเลือดออกในสมอง ลิ่มเลือดมีขนาดใหญ่ เป็นต้น ซึ่งแพทย์ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเท่านั้นจึงจะสามารถบอกได้
กรณีของคุณประไพถ้ามาช้า จะเกิดอะไรขึ้น
จะพิการถาวร คือใช้แขนและขาข้างขวาไม่ได้ ผมถึงบอกว่าผู้ป่วยและญาติตัดสินใจถูกต้องแล้ว
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 29 มีนาคม 2565