เด็กหญิง
- เริ่มมีหน้าอก
- เริ่มมีขนรักแร้และ/หรือขนที่อวัยวะเพศ
- สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
- เริ่มมีประจำเดือน
- เป็นสิว
- มีกลิ่นตัวแบบผู้ใหญ่
เด็กชาย
- มีอวัยวะเพศที่ใหญ่ขึ้น
- มีขนรักแร้และหรือขนที่อวัยวะเพศและหรือหนวดเครา
- เสียงเริ่มแตก
- เป็นสิว
- มีกลิ่นตัวแบบผู้ใหญ่
- สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
รับมือกับภาวะหนุ่มสาวก่อนวัย
เบื้องต้น กุมารแพทย์จะซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด แพทย์อาจเอกซ์เรย์ ดูอายุของกระดูก ตรวจเลือด ในบางรายอาจต้องตรวจอัลตราซาวด์รังไข่และตรวจคลื่นสมอง หรือ MRI เพื่อดูว่ามีเนื้องอกที่รังไข่หรือในสมองหรือไม่
หากตรวจแล้วไม่พบ แต่มีระดับฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองสูง การฉีดยาเพื่อยับยั้งการหลั่งของฮอร์โมนจะเป็นทางเลือกที่แพทย์ใช้ในการรักษา โดยต้องฉีดเป็นประจำทุกเดือนติดต่อกันจนกว่าอายุกระดูกจะเท่ากับอายุจริง เพื่อช่วยให้เด็กเข้าสู่วัยหนุ่มสาวตามเวลาอันเหมาะควร
แน่นอนว่าพอต้องรับการรักษาเป็นเรื่องธรรมดาที่พ่อแม่จะมีความกังวลว่าหากฉีดยาจะมีผลข้างเคียงเช่นไร การรักษาจะคุ้มค่ากับความเสี่ยงหรือไม่ คำตอบจากแพทย์ก็คือ ยาที่ใช้ในการรักษานี้มีความปลอดภัยและประสิทธิภาพสูง โอกาสที่จะเกิดการแพ้มีน้อยมาก แต่เด็กไม่ควรได้รับยานี้ติดต่อกันนานเกินไป และควรหยุดก่อนอายุ 13-14 ปี เพราะอาจส่งผลต่อความแข็งแรงของกระดูกได้
อย่ารอให้ถึงวันนั้นของเดือน
การมีประจำเดือนไม่ได้ส่งผลใดๆ ต่อความสูง แต่การมีประจำเดือนเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าเด็กหญิงคนนั้นกำลังเติบโตเป็นสาวอย่างเต็มที่ จึงหมายรวมได้ว่า หลังจากเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกแล้ว ความสูงจะเพิ่มขึ้นช้าๆ และหยุดสูงใน 2-3ปี การฉีดยาเพื่อให้ประจำเดือนหยุดไปก่อน โดยหวังว่าเด็กจะสูงขึ้นก็ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง
จับเข่าคุย
สำหรับพ่อแม่โดยเฉพาะคนไทยด้วยแล้ว การต้องพูดคุยกับลูกถึงการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพจากเด็กน้อยสู่วัยรุ่น อาจไม่ใช่เรื่องที่จะอธิบายให้ลูกฟังได้อย่างคล่องปากเท่าไหร่นัก
แต่พ่อกับแม่ควรเข้าไปพูดคุยกับลูกตั้งแต่ยังเล็ก เพื่อให้พวกเขามีความเข้าใจกับสภาพร่างกายที่ค่อยๆ เปลี่ยนไป ยิ่งเด็กอยู่ในวัยอยากรู้ช่างสงสัยชอบซักถามด้วยแล้ว นั่นยิ่งเป็นโอกาสดีให้พ่อแม่เปิดวงสนทนากับลูก โดยพ่อแม่ควรค่อยๆ ให้ข้อมูลเรื่องเหล่านี้ไปเรื่อยๆ อย่างตรงไปตรงมาและเปิดเผย
เวลาที่ถูกต้อง
เมื่อลูกอายุ 8 ขวบ พวกเขาควรเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์และร่างกายของตัวเองที่สอดคล้องกับการเข้าสู่วัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่เด็กผู้หญิงอาจต้องเริ่มสวมชุดชั้นใน ส่วนเด็กผู้ชายอาจมีเสียงที่เริ่มแตก นอกจากจะเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของตัวเอง ลูกๆ ควรได้เรียนรู้และเข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเพศตรงข้ามด้วย
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 20 มีนาคม 2566