bih.button.backtotop.text

เรื่องยาน่ารู้ สำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง

หน้าที่สำคัญของไต คือ การควบคุมสมดุลของน้ำและแร่ธาตุในร่างกาย และการกำจัดของเสียออกจากร่างกาย หากไตมีการทำงานที่บกพร่องไป อาจเกิดการสะสมของยาในร่างกายได้มากกว่าปกติจนก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายได้ นอกจากนี้ ยาบางกลุ่มอาจมีผลทำให้การทํางานของไตลดลง จึงส่งผลเสียต่อผู้ที่มีการทํางานของไตบกพร่องยิ่งขึ้นไปอีก

ดังนั้น ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังจึงควรเลือกใช้ยาอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาหรือยาในกลุ่ม OTC (Over-the-counter drugs) ที่ใช้สำหรับบรรเทาอาการไม่สบายเบื้องต้น เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ยาระบาย ยาแก้แพ้ลดน้ำมูก อาหารเสริมต่างๆ ซึ่งยาเหล่านี้อาจสะสมในร่างกายหรือทําให้เกิดอันตรายต่อไตในผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังได้
 
  1. ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal anti-inflammatory drugs; NSAIDs) ยากลุ่มนี้มีการใช้อย่างแพร่หลาย เพราะช่วยบรรเทาอาการปวดและลดการอักเสบได้ดี เช่น Ibuprofen, Mefenamic acid, Naproxen, Diclofenac, Meloxicam, Celecoxib, Etoricoxib แต่เนื่องจากยากลุ่มนี้ทําให้เลือดไปเลี้ยงไตลดลง ส่งผลให้การทำงานของไตแย่ลง ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังจึงไม่ควรใช้
 
  1. ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร (Antacids) ยาลดกรดในกระเพาะอาหารที่มีส่วนประกอบของอะลูมิเนียมหรือแมกนีเซียม เช่น Aluminium hydroxide, Magnesium hydroxide อาจทำให้เกิดการสะสมของเกลือแร่ในร่างกาย เนื่องจากไตไม่สามารถกำจัดเกลือแร่เหล่านี้ออกจากร่างกายได้ตามปกติ
  1. ยาระบาย (Laxatives) ยาระบายชนิดรับประทานและชนิดสวน ที่มีแมกนีเซียมหรือฟอสเฟตเป็นส่วนประกอบ เช่น Magnesium hydroxide, Sodium phosphate อาจทําให้ร่างกายสูญเสียน้ำ รวมถึงเกิดการสะสมของเกลือแร่และฟอสเฟตในร่างกายได้
  1. ยาที่มีส่วนประกอบของโซเดียม ยาที่ต้องละลายน้ำก่อนรับประทาน ยาเหล่านี้อาจมีเกลือเป็นส่วนประกอบในปริมาณสูง จึงอาจทําให้เกิดภาวะโซเดียม น้ำ และเกลือแร่ ในร่างกายเกิน
  1. ยาแก้แพ้ (Antihistamines) การรับประทานยาแก้แพ้บางชนิดในขนาดยาปกติ เช่น Cetirizine, Loratadine, Levocetirizine อาจทำให้ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมีโอกาสเกิดอาการข้างเคียงได้มากกว่าคนที่การทำงานของไตปกติ เนื่องจากไตกำจัดยาออกจากร่างกายลดลง เกิดการสะสมของยาในร่างกายมากขึ้น
  1. อาหารเสริม  อาหารเสริมบางชนิดไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง เนื่องจากมีส่วนประกอบบางอย่างในปริมาณที่มากเกินไป เช่น มีโปรตีนในปริมาณสูง ซึ่งอาจทำให้การทำงานของไตลดลง หรือมีเกลือแร่บางอย่างในปริมาณสูง เช่น โพแทสเซียม ทำให้เกิดการสะสมในร่างกายได้
  1. สมุนไพร ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังได้ เช่น
  • น้ำลูกยอ (Noni juice) ทำให้โพแทสเซียมในเลือดสูง
  • ชะเอมเทศ (Licorice) ทำให้ความดันโลหิตสูง
  • โสม (Ginseng) ทำให้ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว
  • แปะก๊วย (Ginkgo) ส่งผลต่อการแข็งตัวของเลือด อาจทําให้เกิดเลือดออกได้ง่าย
  • มะเฟือง (Star fruit) ทำให้สะอึก สับสน และชัก


ข้อควรปฏิบัติสําหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง
  1. แจ้งแพทย์และเภสัชกรทุกครั้งถึงรายการยา รวมทั้งวิตามิน อาหารเสริม สมุนไพรที่ผู้ป่วยได้รับ ณ ปัจจุบัน
  2. รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ไม่ปรับเพิ่มหรือลดขนาดยาเอง รวมทั้งไม่นำยาของผู้อื่นมารับประทาน
  3. ไม่ควรซื้อยา วิตามิน อาหารเสริม สมุนไพร มารับประทานเอง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง
  4. ก่อนใช้ยา ควรตรวจสอบสภาพเม็ดยา สีเม็ดยา และวันหมดอายุ

 
หากท่านต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตลอด 24 ชั่วโมง
 
Contact information: Drug Information Service ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
Tel: +66(0) 2 011 3399 Email: [email protected]

 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แก้ไขล่าสุด: 24 พฤษภาคม 2565

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs