เส้นเลือดขอดที่ขา คืออะไร?
เส้นเลือดขอดที่ขา (Varicose vein) คือ การขอดตัวของหลอดเลือดดำที่ขาส่วนที่อยู่ตื้นใต้ผิวหนัง มักเริ่มเป็นที่บริเวณน่องโดยไม่มีอาการใดๆ เส้นเลือดขอดที่มีขนาดเล็กมากๆ ประมาณ 0-5 มิลลิเมตร จะมีลักษณะเหมือนใยแมงมุม มักมีสีแดง สีเขียว หรือสีม่วง ส่วนเส้นเลือดขอดที่มีขนาดอยู่ระหว่าง 1-3 มิลลิเมตร มักมีลักษณะเป็นเส้นสีเขียวใต้ผิวหนัง จัดเป็นเส้นเลือดขอดในระยะเริ่มต้น
เส้นเลือดขอดที่ขา เกิดจากอะไร?
สาเหตุของการเกิดเส้นเลือดขอดที่ขา อาจมาจากการเสื่อมประสิทธิภาพของลิ้น (Valve) ที่มีในหลอดเลือดดำของขา ทำให้การไหลเวียนของเลือดดำเสียไป เกิดการคั่งของเลือดดำในหลอดเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดดำยืด ขยายตัว ตัวโป่งพอง และขดไปมา
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดขอดที่ขา ได้แก่
- อายุ ยิ่งอายุมากขึ้น โอกาสเกิดโรคยิ่งสูงขึ้นจากการเสื่อมประสิทธิภาพของลิ้นในหลอดเลือดดำ
- เพศ เพศหญิงมีโอกาสเกิดโรคสูงกว่าเพศชาย
- หญิงตั้งครรภ์
- น้ำหนัก ผู้ที่มีน้ำหนักมาก จะยิ่งมีโอกาสเป็นเส้นเลือดขอดที่ขา
- พันธุกรรม พบโรคได้สูงขึ้นในคนมีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้
- อาชีพ อาชีพที่ต้องยืนนานๆ หรือนั่งนานๆ ทั้งวัน
- ขาดการออกกำลังกาย จะส่งผลให้กล้ามเนื้อขาเสื่อมประสิทธิภาพ ซึ่งกล้ามเนื้อขาถือเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยพยุงหลอดเลือดดำขา ช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดของขา
อาการของเส้นเลือดขอดที่ขา มีอะไรบ้าง?
เส้นเลือดขอดที่ขามักเริ่มปรากฏที่น่องเป็นบริเวณแรก โดยที่ผู้ป่วยไม่มีอาการใดๆ เมื่อสังเกตดูจะเห็นเส้นเลือดโป่งพองนูนออกและขดไปมา บางรายอาจรู้สึกเมื่อยล้า ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยืนหรือนั่งเป็นเวลานาน ขาและเท้าบวม หรือเป็นตะคริวในตอนกลางคืน
เส้นเลือดขอดที่ขาที่เป็นอยู่นานอาจเกิดปัญหาแทรกซ้อนตามมา ส่วนมากจะเป็นการอักเสบของตัวเส้นเลือดขอดเอง นอกจากนี้ยังอาจเพิ่มโอกาสในการเกิด
ลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะหลอดเลือดขาอุดตันได้
เราจะป้องกันการเกิดเส้นเลือดขอดที่ขาได้อย่างไร?
- หลีกเลี่ยงการยืนหรือนั่งเป็นเวลานานๆ ให้เปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ
- หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้า กางเกง ถุงเท้า หรือถุงน่องที่รัดมากๆ เพราะจะทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่สะดวก
- ไม่ใส่รองเท้าส้นสูงเป็นเวลานาน
- ออกกำลังกายเป็นประจำ ทำให้กล้ามเนื้อขาแข็งแรง การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
การรักษาเส้นเลือดขอด ทำได้อย่างไรบ้าง?
วิธีในการรักษาเส้นเลือดขอดในปัจจุบันมีหลากหลายวิธี ได้แก่
การรักษาเส้นเลือดขอดแบบไม่ต้องผ่าตัด (Conservative treatment)
|
เหมาะกับผู้ป่วยที่มีเส้นเลือดขอดขนาดเล็กมากหรือเป็นเส้นเลือดฝอยที่ขาขนาดเล็กๆ ทำได้โดยการใส่ถุงน่องทางการแพทย์สำหรับเส้นเลือดขอด (Compression stocking) หรือการพันผ้ายืดซึ่งมีหลายขนาดและความยาว ตลอดเวลาทำงานหรือทำกิจกรรมต่างๆ ยกเว้นในขณะที่นอน และให้ยกปลายเท้าให้สูงขึ้นเวลานอน
|
การฉีดยาเข้าเส้นเลือดดำที่ขอดเพื่อให้เส้นเลือดตีบตัน (Sclerotherapy) |
สามารถรักษาได้ทั้งเส้นเลือดขอดและเส้นเลือดฝอยที่ขา โดยจะเป็นการฉีดยา (ที่ใช้บ่อย เช่น Polidocanol ความเข้มข้น 1-3%) เข้าไปในเส้นเลือดดำที่ขอด
|
การผ่าตัดเอาเส้นเลือดขอดออก (Varicose vein stripping) |
เป็นการรักษามาตรฐานในผู้ป่วยเส้นเลือดขอด โดยทำการผ่าตัดเอาเส้นเลือดที่ขอดออกไปเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำอีก เหมาะสำหรับการรักษาเส้นเลือดขอดที่มีขนาดใหญ่และมีขนาดยาวมากๆ และไม่สามารถรักษาได้ด้วยการฉีดยาเข้าเส้นเลือดดำที่ขอดได้
|
การรักษาเส้นเลือดขอดด้วยเลเซอร์ |
เป็นวิธีที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน เนื่องจากไม่ทำให้เกิดบาดแผลและไม่มีแผลเป็น สามารถรักษาเส้นเลือดขอดได้อย่างปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และรวดเร็ว เหมาะสำหรับเส้นเลือดขอดที่มีขนาดเล็กกว่า 3 มิลลิเมตร และผู้ป่วยที่กลัวการฉีดยาหรือการผ่าตัด
|
การรักษาเส้นเลือดขอดโดยใช้คลื่นความถี่วิทยุ (Radiofrequency ablation, RFA) |
เป็นวิธีการรักษาแบบใหม่ที่ใช้หลักการเดียวกับการรักษาด้วยเลเซอร์และไม่ต้องทำการผ่าตัดเปิดแผล แพทย์จะใช้วิธีเจาะผ่านรูเข็มขนาดเล็ก แล้วใส่ขดลวดเข้าไปสลายเส้นเลือดขอดที่มีปัญหา
|
การรับประทานยาบรรเทาอาการเส้นเลือดขอด |
การรับประทานยาในกลุ่ม Diosmin และ Hesperidin ซึ่งสามารถลดกระบวนการอักเสบ จะทำให้การอักเสบของหลอดเลือดดำลดลง และทำให้ลิ้นในหลอดเลือดดำกลับมาเป็นปกติได้ โดยเฉพาะในเส้นเลือดขอดที่มีขนาดเล็กๆ
|
การใช้สมุนไพรในการรักษา |
ถือเป็นการรักษาแบบการแพทย์ทางเลือก สมุนไพรที่ใช้ เช่น Horse chestnut, Cayenne pepper, Bilberry, แปะก๊วย และใบบัวบก โดยสมุนไพรที่มีสารกลุ่ม Triterpenes จะช่วยให้การไหลเวียนเลือดดีขึ้น สารกลุ่ม Flavonoids จะช่วยให้ผนังหลอดเลือดมีความแข็งแรงและยืดหยุ่น
|
การรักษาเส้นเลือดขอดในแต่ละวิธีนั้นมีความเหมาะสมแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ขึ้นอยู่กับข้อจำกัดและปัจจัยต่างๆ ที่ผู้ป่วยมี หากท่านพบปัญหาหรือมีอาการตามที่กล่าวไปข้างต้น ควรได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุและทำการรักษาต่อไป
หากท่านต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตลอด 24 ชั่วโมง
Contact information: Drug Information Service ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
Tel: +66(0) 2 011 3399 Email: [email protected]
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: