bih.button.backtotop.text

ตอบทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคเนื้องอกกระดูกสันหลัง

เป็นที่ทราบดีอยู่แล้วนะครับว่าอาการปวดหลัง พวกเรามักจะเป็นกันบ่อยๆในยุคสมัยนี้ ซึ่งเกิดกันได้ง่ายมากๆ ผู้ป่วยบางรายรักษาแล้วก็ดีขึ้นเล็กน้อย บางครั้งกลับมาเป็นซ้ำจนเกิดอาการปวดหลังเรื้อรัง จนทำให้เราอดนึกสงสัยไม่ได้เลยว่าอาการปวดหลังเรื้อรังของเราเป็นมะเร็งหรือเปล่า วันนี้หมอจะมาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับโรคที่ก่อให้เกิดความกังวลและความทุกข์ใจมากที่สุดโรคหนึ่งเลย นั่นก็คือโรคเนื้องอกในกระดูกสันหลังนั่นเองครับ
 
อาการปวดหลังแบบไหนชวนสงสัยเนื้องอกในกระดูกสันหลัง
โรคกระดูกสันหลังทั่วไปอาการมักจะเด่นชัดขึ้นเมื่อมีการใช้งาน นั่งนาน เดินนาน ยกของ เล่นกีฬา ยิ่งขยับเยอะยิ่งอาการมาก แต่อาการปวดหลังจากโรคเนื้องอกกลับจะมีลักษณะพิเศษที่ต่างออกไป โดยอาการมักจะเด่นชัดขึ้นในขณะที่นอน โดยเฉพาะเวลากลางคืนที่อากาศเริ่มเย็นลงจะเป็นได้ง่ายมากขึ้น และหากมีอาการแปลกๆอย่างเช่น น้ำหนักลดอย่างรวดเร็วโดยไม่ทราบสาเหตุ, เบื่ออาหาร, ไข้ไม่ทราบสาเหตุ หรือเคยตรวจพบเนื้อร้ายในจุดอื่นของร่างกายมาก่อน
 
สาเหตุการเกิดโรค
พันธุกรรมมีความเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคเนื้องอกกระดูกสันหลังแบบที่ไม่ใช่มะเร็งบางชนิด อย่างไรก็ตามเนื้องอกที่พบได้บ่อยในกระดูกสันหลังคือมะเร็งในระยะแพร่กระจายซึ่งไม่ได้ถ่ายทอดทางพันธุกรรมแต่อย่างใด

พฤติกรรมและอาหารที่เสี่ยงต่อโรคมะเร็งได้แก่ สูบบุหรี่จัด การทานอาหารปิ้งย่างไหม้เกรียม สัมผัสสารก่อมะเร็ง รับประทานเนื้อแปรรูป เป็นต้น เนื่องด้วยสาเหตุหลักๆของมะเร็งกระดูกสันหลังเป็นการแพร่กระจายมาจากมะเร็งต่างชนิดกันทั่วร่างกาย เพราะฉะนั้นผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งหรือเคยมีประวัติเป็นมะเร็งมาก่อนจึงควรต้องได้รับการตรวจและติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิด จะสามารถควบคุมการแพร่กระจายก่อนที่จะลุกลามไปมากกว่านี้ครับ
 
โรคมะเร็งแพร่กระจายในกระดูกสันหลังที่พบได้บ่อยมีอะไรบ้าง
มะเร็งทุกชนิดสามารถที่จะแพร่มาที่กระดูกสันหลังได้ทั้งหมดครับ ทั้งทางระบบไหลเวียนโลหิตและทางระบบต่อมน้ำเหลือง แต่มะเร็งที่พบการกระจายมาที่กระดูกสันหลังบ่อยๆคือ มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมไทรอยด์ มะเร็งไต มะเร็งปอด มะเร็งต่อมลูกหมาก นอกจากนี้อีกประมาณ 10% ของผู้ป่วยที่มีมะเร็งแพร่กระจายมาที่กระดูกสันหลัง ไม่สามารถระบุตำแหน่งของมะเร็งต้นกำเนิดได้ครับ
 
จะตรวจให้แน่ใจทำอย่างไรบ้าง
สำหรับท่านใดที่เริ่มมีอาการดังกล่าวแล้วหมอแนะนำให้ไปตรวจรับการรักษาเพื่อที่เราจะได้รับมือกับตัวโรคได้ทันการครับ การตรวจต่อไปอาจจะเป็นการทำเอกซเรย์เพื่อดูกระดูกเบื้องต้นว่ามีการกัดกินกระดูกจากตัวมะเร็งไปหรือไม่ จากนั้นการทำ MRI จะบอกข้อมูลได้มากขึ้นว่าน่าจะเป็นมะเร็งจริงหรือไม่ การตรวจเลือดค่ามะเร็ง(tumor marker) ก็จะสามารถบอกได้ว่าเป็นมะเร็งในกลุ่มไหนได้เช่นกันครับและการตรวจชิ้นเนื้อจะเป็นไพ่ใบสุดท้ายที่สำคัญที่สุดที่จะบอกชนิดของมะเร็งได้อย่างแม่นยำ เพื่อให้ได้รับการรักษาตรงตามชนิดของเนื้องอกที่เป็นครับ
 
การรักษาสำหรับเนื้องอกกระดูกสันหลังที่ไม่ใช่มะเร็ง
เนื้องอกกระดูกสันหลังที่ไม่ใช่เนื้อร้ายส่วนใหญ่จะโตช้ามากและหากอยู่ในจุดที่ไม่สำคัญก็ไม่จำเป็นจะต้องผ่าตัดเอาออก อย่างไรก็ดีเนื่องจากเนื้องอกลักษณะนี้มักไม่มีอาการอะไรเลยในช่วงเริ่มต้น อาการมักจะแสดงออกมาเมื่อมีขนาดใหญ่จนเกิดการทับไขสันหลังและเส้นประสาท หรือไปขวางทางเดินของน้ำเลี้ยงไขสันหลังจนทำให้เกิดอาการปวดหรือชาและอ่อนแรงของแขนขาในที่สุด เมื่อไรที่เนื้องอกในกลุ่มนี้เกิดอาการ การผ่าตัดส่องกล้องเอาออกมักจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
 
การรักษาสำหรับเนื้องอกกระดูกสันหลังจากมะเร็งระยะแพร่กระจาย
สำหรับผู้ป่วยที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งระยะแพร่กระจายแล้ว หลักการของการรักษาส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาแบบประคับประคองให้คนไข้สามารถใช้ชิวิตได้อย่างสะดวกสบายที่สุดโดยปราศจากอาการปวดรบกวน หากผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องผ่าตัด วิธีการผ่าตัดสมัยใหม่ มีการวิทยาการที่ทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดดามเหล็กแบบแผลเล็กร่วมกับการใช้คอมพิวเตอร์นำวิถี การใช้จี้ไฟฟ้า ล้วนทำให้ผู้ป่วยลดอาการปวดได้อย่างมากโดยใช้เวลาพักฟื้นตัวน้อยและมีผลข้างเคียงของการผ่าตัดน้อยกว่าเทียบกับการผ่าตัดเปิดแบบดั้งเดิมครับ
 
รักษาแล้วหายขาดหรือไม่
สำหรับเนื้องอกแบบที่ไม่ใช่มะเร็งที่สามารถตัดออกได้จนเกลี้ยงนั้นโอกาสหายขาดสูงมากๆ  ยกเว้นแต่ว่าเนื้องอกนั้นอยู่ในตำแหน่งที่อันตรายหรือมีความเสี่ยงสูงทำให้ไม่สามารถตัดออกจนเกลี้ยงได้ หลังการผ่าตัดอาจจะต้องใช้การฉายรังสีเพื่อป้องกันการเป็นซ้ำ

ส่วนในกลุ่มที่เกิดจากมะเร็งระยะแพร่กระจายนั้นจะมีเป้าหมายที่ต่างกันคือการลดความปวดและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยให้ได้มากที่สุดซึ่งจะมีความต่างไปตามชนิดของมะเร็ง
 
อาการปวดหลังที่เกี่ยวข้องกับเนื้องอกมีโอกาสพบได้น้อยกว่าโรคกระดูกสันหลังทั่วไปมาก แต่อย่างไรก็ดีถ้ามีอาการปวดเรื้อรังมากกว่า 3 เดือน หรือเคยได้รับการวินิจฉัยว่ามีเนื้องอกในร่างกายมาก่อนควรเข้ามาปรึกษาแพทย์ การตรวจพบโรคแต่เนิ่นๆ ทำให้การรักษาทำได้ง่ายกว่า หรือหากจำเป็นต้องมีการผ่าตัดก็มักจะใช้เวลาในการฟื้นตัวน้อยกว่าด้วยนะครับ
 


เกี่ยวกับผู้เขียน
หมอเข้ม หรือ น.พ. วิธวินท์ เกสรศักดิ์ 
ศัลยแพทย์ด้านกระดูกสันหลังประจำที่ร.. บำรุงราษฎร์
หมอแมท หรือ นพ. ปวินท์ เกษมพิพัฒน์ชัย
ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อเเละศัลยกรรมกระดูกสันหลัง - Bumrungrad Health Network
 
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แก้ไขล่าสุด: 02 มิถุนายน 2565

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs