bih.button.backtotop.text

นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ…รักษาอย่างไรไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ

นิ่ว มีลักษณะเป็นก้อนแข็งคล้ายก้อนกรวดเกิดจากการตกตะกอนหรือตกผลึกของหินปูนหรือเกลือแร่ในร่างกายซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด อาทิ แคลเซียม ออกซาเลต, แคลเซียม ฟอสเฟต, กรดยูริค และซีสเตอีน นิ่วเกิดขึ้นที่อวัยวะใดก็จะมีชื่อเรียกตามตามอวัยวะนั้น เช่น นิ่วในถุงน้ำดี นิ่วในต่อมน้ำลาย และนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะซึ่งประกอบไปด้วยนิ่วในไต นิ่วในท่อไต นิ่วในท่อปัสสาวะ และนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

นิ่วในกระเพาะปัสสาวะเป็นโรคที่มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เนื่องจากระบบทางเดินปัสสาวะของผู้ชายมีขนาดยาวและคดเคี้ยวกว่า ตะกอนนิ่วจึงมีโอกาสตกค้างได้มากกว่า


การรักษาโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

แนวทางในการรักษาโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน คือ

1. การเอานิ่วออก ในกรณีที่ก้อนนิ่วมีขนาดเล็กมาก แพทย์อาจเริ่มจากการแนะนำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมากๆ เพื่อให้ร่างกายขับนิ่วออกมาเองตามธรรมชาติ แต่โดยทั่วไปแล้วการเอานิ่วออกสามารถทำได้ 3 วิธีดังต่อไปนี้ คือ
 

  1. การส่องกล้องผ่านท่อปัสสาวะ (Cystolitholapaxy) โดยแพทย์จะส่องกล้องเข้าไปในท่อปัสสาวะเพื่อขบนิ่วให้แตกเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วให้หลุดไหลออกมากับน้ำปัสสาวะ
  2. การสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก ( Extracorporeal Shock Wave Lithotripsy : ESWL) เป็นการใช้คลื่นเสียงทำให้เกิดแรงกระแทกที่ก้อนนิ่วจนก้อนนิ่วแตกเป็นชิ้นเล็กๆ และหลุดไหลออกมากับน้ำปัสสาวะ
  3. การผ่าตัด ใช้ในกรณีที่ก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่ หรือเป็นนิ่วเขากวางที่มีกิ่งก้านหลายกิ่งจนไม่สามารถเอาออกด้วยวิธีอื่นได้
 

2. รักษาที่สาเหตุของโรค เนื่องจากการเอานิ่วออกเพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้แก้ไขที่ต้นเหตุของการเกิดโรคอาจทำให้ผู้ป่วยกลับมาเป็นนิ่วซ้ำได้อีก ซึ่งการรักษาที่สาเหตุนี้ยกตัวอย่างเช่น

  • หากนิ่วเกิดจากการมีปัสสาวะคั่งค้างในกระเพาะปัสสาวะ แพทย์ต้องตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัดว่าการคั่งค้างนั้นเกิดจากอะไรแล้วทำการรักษาไปพร้อมกัน เช่น ผ่าตัดต่อมลูกหมากโดยใช้วิธีส่องกล้องในกรณีที่ เกิดจากต่อมลูกหมากโต หรือทำการขยายท่อปัสสาวะในกรณีที่มีการตีบตัน
  • หากนิ่วเกิดจากการที่กระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติ เช่น บีบตัวไม่ดี ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องใช้สายสวนในการช่วยปัสสาวะ


เรียบเรียงโดย นพ. จรัสพงศ์ ดิศรานันท์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
           E-mail: [email protected]
แก้ไขล่าสุด: 10 เมษายน 2564

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs