อาการไอ คืออะไร?
อาการไอ เป็นปฏิกิริยาตอบสนองอย่างหนึ่งของร่างกายที่มีขึ้นเพื่อกำจัดสารคัดหลั่ง สิ่งระคายเคือง สารแปลกปลอมอื่นๆ และจุลชีพออกจากทางเดินหายใจ การไอประกอบด้วยสามระยะ เริ่มจากการหายใจเข้าเพื่อเพิ่มปริมาตรอากาศและแรงดันในช่องอกและท้อง ส่งผลให้เกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อท้องทำให้เกิดการหายใจออกอย่างรวดเร็วพร้อมกับการเปิดของกล่องเสียง จึงเกิดเสียงไอพร้อมกับขับเอาสิ่งตกค้างในทางเดินหายใจออกมา
อาการไอ สามารถแบ่งได้เป็น 3 ชนิด ตามระยะเวลา ดังนี้
- ไอเฉียบพลัน คือ มีระยะเวลาของอาการไอน้อยกว่า 3 สัปดาห์
- ไอกึ่งเฉียบพลัน คือ อาการไอที่มีระยะเวลาระหว่าง 3-8 สัปดาห์
- ไอเรื้อรัง คือ มีระยะเวลาของอาการไอมากกว่าหรือเท่ากับ 8 สัปดาห์
ไอเรื้อรัง เกิดจากอะไร?
อาการไอเรื้อรังเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- การรับประทานยารักษาความดันโลหิตสูงกลุ่ม Angiotensin converting enzyme inhibitors (ACE inhibitors) เป็นระยะเวลานาน
- โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือโรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง แล้วมีน้ำมูกไหลลงคอ
- การใช้เสียงมาก ทำให้เกิดสายเสียงอักเสบเรื้อรัง
- เนื้องอกบริเวณคอ กล่องเสียง หรือหลอดลม
- หลอดลมอักเสบเรื้อรัง
- โรคหืด
- วัณโรคปอด
- โรคกรดไหลย้อน
ประมาณร้อยละ 85 ของอาการไอเรื้อรัง มักเกิดจากโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือโรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง แล้วมีน้ำมูกไหลลงคอ
โรคหืด และ
โรคกรดไหลย้อน
ผู้ป่วยบางรายอาจมีสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการไอเรื้อรังมากกว่าหนึ่งชนิด การตรวจวินิจฉัยที่อาศัยความร่วมมือจากแพทย์หลายสาขา เช่น แพทย์หู คอ จมูก อายุรแพทย์
โรคภูมิแพ้และโรคปอด อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร จะทำให้ค้นหาสาเหตุของอาการไอได้ง่ายขึ้น
ไอเรื้อรัง วินิจฉัยได้อย่างไร?
แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยหาสาเหตุของอาการไอเรื้อรังที่เกิดขึ้น โดยแพทย์จะปฏิบัติ ดังนี้
- การซักประวัติ เช่น การสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้หรือเหตุกระตุ้นให้เกิดอาการไอ (เช่น ฝุ่น ควัน อากาศเย็น), อาการทางจมูกหรือโรคไซนัส, ประวัติโรคภูมิแพ้ของผู้ป่วยและคนในครอบครัว, การสูบบุหรี่, ประวัติการใช้ยากลุ่ม ACE inhibitors, อาการของโรคกรดไหลย้อน (เช่น เรอเปรี้ยว ท้องอืด เจ็บหน้าอก)
- การตรวจร่างกายโดยเฉพาะในระบบทางเดินหายใจส่วนบนและล่าง และอาจส่งตรวจเพิ่มเติม เช่น ส่งตรวจภาพถ่ายรังสีของโพรงไซนัสและปอด, การส่องกล้องตรวจระบบทางเดินหายใจ, การตรวจเสมหะ, การตรวจสมรรถภาพการทำงานของปอด
ไอเรื้อรัง รักษาอย่างไร?
การรักษาอาการไอเรื้อรังที่สำคัญที่สุด คือ การหาสาเหตุของอาการไอ และรักษาตามสาเหตุนั้นๆ นอกจากนี้ การปฏิบัติตัวในขณะที่มีอาการไออย่างถูกต้อง ยังเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น หรือไม่แย่ลง โดยสิ่งที่ผู้ป่วยควรปฏิบัติในขณะที่มีอาการไอ ได้แก่
- หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่จะทำให้ไอมากขึ้น เช่น สารก่ออาการระคายเคือง ฝุ่น สารเคมี ควันบุหรี่
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสอากาศจากเครื่องปรับอากาศหรือพัดลมโดยตรง เนื่องจากอากาศที่เย็นสามารถกระตุ้นหลอดลมให้เกิดการหดตัว ทำให้มีอาการไอมากขึ้นได้
- ควรให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายให้เพียงพอขณะนอน เช่น นอนห่มผ้า
- ผู้ที่สูบบุหรี่ควรหลีกเลี่ยงหรืองดการสูบบุหรี่
- ถ้าหากอาการไอมีไม่มาก อาจให้การรักษาเบื้องต้นโดยการรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการไอ กรณีที่มีเสมหะร่วมด้วย ควรได้รับยาละลายเสมหะ เพื่อให้เสมหะที่เหนียวข้นมากขับออกจากหลอดลมได้ง่ายขึ้น แต่หากผู้ป่วยได้รับยาดังกล่าวแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษาตามสาเหตุ
ยาบรรเทาอาการไอ
ถึงแม้ว่าการใช้ยาบรรเทาอาการไอจะเป็นการรักษาที่ปลายเหตุ แต่บางครั้งก็มีความจำเป็น เนื่องจากการไอมีผลรบกวนคุณภาพชีวิต โดยเราสามารถแบ่งยาบรรเทาอาการไอออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ด้วยกัน คือ
- ยาบรรเทาอาการไอสำหรับอาการไอแบบมีเสมหะ ได้แก่
- ยาขับเสมหะ ออกฤทธิ์ระคายเคืองเยื่อบุทางเดินหายใจ ทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจมีการหลั่งสารคัดหลั่งมากขึ้น และไอออกมาได้ง่ายขึ้น เช่น Glyceryl guaiacolate, Ammonium chloride
- ยาละลายเสมหะ ออกฤทธิ์โดยทำลายพันธะภายในเสมหะ ทำให้เสมะหะละลายน้ำได้ดีขึ้น เช่น Ambroxol, Bromhexine, Carbocysteine, Acetylcysteine
- ยาบรรเทาอาการไอสำหรับอาการไอแห้ง หรือยากดอาการไอ เช่น Dextromethorphan, Codeine เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทโดยการกดศูนย์การไอ มักใช้สำหรับบรรเทาอาการไอที่เกิดจากการแพ้หรืออาการไออื่นๆ ที่ไม่มีเสมหะ เพราะหากใช้ในอาการไอแบบมีเสมหะ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เสมหะถูกขับออกมาจากทางเดินหายใจได้ยากขึ้น อาการข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น ง่วง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก
จะเห็นได้ว่าอาการไอเรื้อรังเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยอาจเกิดจากโรคที่ไม่ร้ายแรง เช่น โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนและล่าง ได้แก่ โรคหวัด หลอดลมอักเสบ หรืออาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงโรคร้ายแรง เช่น
ปอดอักเสบ เนื้องอกบริเวณคอ กล่องเสียง หรือหลอดลม ได้เช่นกัน ดังนั้น ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาเบื้องต้นแล้วอาการไอยังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการไอ และรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป
หากท่านต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตลอด 24 ชั่วโมง
Contact information: Drug Information Service ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
Tel: +66(0) 2 011 3399 Email:
[email protected]
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 03 เมษายน 2567