bih.button.backtotop.text

ศูนย์ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมบำรุงราษฎร์ตระหนักดีว่าการให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและครอบครัวเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากที่สุดขั้นตอนหนึ่งก่อนการผ่าตัดซ่อมเสริมข้อเทียมใหม่ เพราะนอกจากช่วยให้ผู้ป่วยเตรียมตัวได้อย่างถูกต้องก่อนการผ่าตัดแล้ว ยังช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจสถานการณ์ที่ต้องเผชิญระหว่างและหลังการผ่าตัด รวมถึงแนวทางการปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัด
   

การให้ความรู้ก่อนการผ่าตัดมีประโยชน์แก่ผู้ป่วยดังนี้

 
  • เข้าใจถึงสถานการณ์ วิธีการและกระบวนการรักษาทั้งก่อน ระหว่างและหลังการผ่าตัดดียิ่งขึ้น
  • คลายความกังวลของผู้ป่วยและครอบครัวก่อนและหลังการผ่าตัด
  • ลดความเสี่ยงในการเกิดอาการแทรกซ้อน ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วยิ่งขึ้น
  • ลดระยะเวลาในการพักฟื้นในโรงพยาบาล
 

ข้อมูลความรู้ที่ให้แก่ผู้ป่วยก่อนการผ่าตัดมีอะไรบ้าง


โดยทั่วๆ ไปแล้วข้อมูลความรู้ที่ให้แก่ผู้ป่วยและครอบครัวมีดังต่อไปนี้
  • ขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดทั่วไป เช่น การอดอาหารล่วงหน้า การแนะนำการเตรียมความสะอาดร่างกายทั่วไปและความสะอาดเฉพาะบริเวณที่จะทำการผ่าตัด
  • สอนและให้ฝึกพัฒนากล้ามเนื้อโดยนักกายภาพบำบัดตั้งแต่ก่อนทำการผ่าตัด เช่น การบริหารกล้ามเนื้อขา ช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ลดความเสี่ยงลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ
  • แนะนำเทคนิคการลดความวิตกกังวล เช่น การหายใจเข้าช้าๆ การผ่อนลมหายใจออกทางปาก รวมถึงกิจกรรมที่ช่วยเบี่ยงเบนความสนใจ
  • วิธีการผ่าตัด ระยะเวลาที่อยู่ในห้องผ่าตัดและห้องพักฟื้น การเตรียมการผ่าตัด เช่น การให้ยาระงับความรู้สึก การเจาะเส้นเลือดเพื่อให้น้ำเกลือ
  • ให้ข้อมูลถึงภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นหลังการผ่าตัดและวิธีการป้องกัน เช่น การติดเชื้อ ภาวะเส้นเลือดดำอุดตัน
  • สอนและฝึกการหายใจเข้าลึกเต็มที่ ฝึกไออย่างมีประสิทธิภาพเพื่อช่วยลดภาวะแทรกซ้อนทางปอดหลังการผ่าตัด การฝึกเหล่านี้ไม่สามารถฝึกหลังผ่าตัดได้เพราะผู้ป่วยจะเจ็บแผล จึงต้องฝึกก่อนการผ่าตัด
  • สอนวิธีการจัดการกับความเจ็บปวด (Pain Management) โดยเน้นการระงับความเจ็บปวดโดยใช้ยาให้น้อยที่สุด
  • ให้วิธีการการป้องกันอาการท้องผูก อาการท้องผูกหลังการผ่าตัดเป็นสิ่งที่พบได้บ่อย ดังนั้นโภชนาการที่เหมาะสมและการลุกเดินจากเตียงและการเคลื่อนไหวได้เร็วหลังการผ่าตัดช่วยให้กะเพาะอาหารและลำไส้กลับมาทำหน้าที่ได้เร็วขึ้น
  • ให้คำแนะนำพฤติกรรมที่เหมาะสมเพื่อยืดอายุใช้งานของข้อเทียมและป้องกันการเกิดข้อเข่าหรือข้อสะโพกเสื่อมซ้ำ
  • ช่วยประเมินสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยและการจัดสภาพแวดล้อมที่บ้านให้เหมาะสมกับสภาพของผู้ป่วย การป้องกันการพลัดตกหกล้มตามปัจจัยเสี่ยง รวมถึงฝึกการใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงเดิน
 

ผู้ป่วยควรเตรียมตัวอย่างไรบ้างก่อนการผ่าตัด


การเตรียมตัวอย่างถูกต้องก่อนการผ่าตัด ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจร้ายแรงต่อชีวิตและช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วยิ่งขึ้น สิ่งที่ผู้ป่วยควรเตรียมตัวมีดังนี้คือ
  • พบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนการผ่าตัด การมีฟันผุอาจทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่กระแสเลือดทำให้ข้อเทียมเกิดการติดเชื้อได้
  • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เพื่อช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูได้เร็วยิ่งขึ้นและลดโอกาสในการติดเชื้อ ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้วก่อนการผ่าตัด
  • เริ่มโปรแกรมการออกกำลังกายตามคำแนะนำของแพทย์ไม่ต่ำกว่า 2 สัปดาห์ก่อนการผ่าตัด เพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง เพิ่มความทนทานและยืดหยุ่น สามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
  • ควบคุมน้ำหนักตัว น้ำหนักที่มากหรือน้อยเกินไปต่างเป็นผลเสียต่อร่างกายในการเยียวยาหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยควรปรึกษากับนักโภชนาการหากมีความกังวลเกี่ยวกับน้ำหนักตัวก่อนการผ่าตัด
  • หากเป็นเบาหวาน ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อช่วยลดโอกาสในการเกิดภาวะแทรกซ้อน
  • ป้องกันไม่ให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบติดเชื้อ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีอาการเจ็บแสบหรือมีปัญหาปัสสาวะติดขัด
  • หยุดสูบบุหรี่อย่างน้อย 3-6 สัปดาห์ก่อนการผ่าตัด การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงระหว่างการผ่าตัด วิสัญญีแพทย์ต้องใช้ความพยายามมากขึ้นในการทำให้การหายใจของผู้ป่วยเป็นปกติระหว่างการให้ยาระงับความรู้สึก นอกจากนี้การสูบบุหรี่ยังทำให้หัวใจของผู้ป่วยทำงานหนักขึ้น เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดหัวใจวายระหว่างการผ่าตัด นอกจากนี้ยังทำให้แผลผ่าตัดหายช้าอีกด้วย
  • ลดปริมาณการใช้ยาระงับความเจ็บปวดก่อนการผ่าตัด ร่างกายของผู้ป่วยอาจคุ้นชินกับยาระงับความเจ็บปวดหากใช้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นหากผู้ป่วยใช้ยาระงับความเจ็บปวดอยู่ ให้ลดปริมาณลงเพื่อให้สามารถจัดการกับความเจ็บปวดหลังการผ่าตัดได้ดียิ่งขึ้น
  • หยุดการใช้ยาที่ทำให้เลือดแข็งตัวช้าอย่างน้อย 7 วันก่อนการผ่าตัด เพื่อลดการเสียเลือดระหว่างการผ่าตัด เช่น ยาแอสไพริน
  • หยุดการรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทน 3 สัปดาห์ก่อนการผ่าตัด ยาฮอร์โมนทดแทนเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือดอุดตันหลังการผ่าตัด
  • งดอาหารเสริมและวิตามินบางประเภท ควรแจ้งให้แพทย์เพื่อให้แพทย์พิจารณาว่าอาหารเสริมและวิตามินชนิดใดควรหยุดและชนิดใดควรรับประทานต่อได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากคุณใช้ยารักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ คุณอาจต้องหยุดยาเหล่านี้ 3 สัปดาห์ก่อนและหลังการผ่าตัดเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
  • ฝึกเทคนิคการผ่อนคลายเพื่อช่วยลดความเครียดและความกังวลใจ เช่น การนั่งสมาธิ การฟังเพลง การอ่านหนังสือที่ช่วยให้รู้สึกสงบ เป็นต้น
  • เตรียมผิวหนังให้พร้อมสำหรับการผ่าตัด เช่น อย่าโกนขนบริเวณที่จะทำการผ่าตัดอย่างน้อย 7 วันก่อนการผ่าตัด การโกนขนอาจทำให้เกิดบาดแผลเล็กๆที่เชื้อโรคเข้าไปแฝงตัวอยู่ได้ ห้ามสักผิวหนังหรือเจาะร่างกายก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย 30 วันล่วงหน้า อย่าทำเล็บก่อนการผ่านและแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีรอยถลอก มีแผลหรือผื่นบนผิวหนัง
ศูนย์ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมบำรุงราษฎร์ ให้ความสำคัญในการดูแลที่เน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ดังนั้นเราจึงมุ่งมั่นให้การดูแลผู้ป่วยอย่างได้มาตรฐานในทุกขั้นตอน รวมถึงก่อนการผ่าตัด โดยการให้ความรู้และคำแนะนำอย่างละเอียด เพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยกลับมามีสุขภาพที่แข็งแรงและใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติโดยเร็วที่สุด

 

เรียบเรียงโดย ศูนย์ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมบำรุงราษฎร์
 

 

 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 13 พฤษภาคม 2565

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs