‘โรคไต’ ถือเป็นอีกหนึ่งโรคสำคัญที่หลายคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่ความจริงแล้วโรคไตเกิดขึ้นได้จากหลากหลายปัจจัย และมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคน ซึ่ง ‘ไต’ เป็นอวัยวะสำคัญที่ทำหน้าที่ขับของเสียออกจากร่างกาย หากไตไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วล่ะก็ ของเสียต่างๆ ก็จะสะสมอยู่ในร่างกายของเรา ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพ
ดังนั้นโรคไตจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป
แพรว จึงขอพาไปพูดคุยแบบเจาะลึกกับ ‘ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิง เสาวลักษณ์ ชูศิลป์’ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรศาสตร์โรคไต ประจำโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ซึ่งจะมาไขทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคไต โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ‘
การผ่าตัดปลูกถ่ายไต’ ที่นับเป็นการรักษาโรคไตที่ดีที่สุดในปัจจุบัน และเป็นทางเลือกชีวิตที่ดีกว่าสำหรับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายทุกคน
วินิจฉัยได้อย่างไร
“โรคไตเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เพราะระบบไตประกอบด้วยตั้งแต่ตัวเนื้อไต ท่อปัสสาวะ ไปจนถึงกระเพาะปัสสาวะ เพราะฉะนั้นสาเหตุของโรคไตจึงมีทั้งการที่เนื้อเยื่อของไตอักเสบ ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในคนอายุน้อย ถ้าคนอายุมากหน่อยส่วนใหญ่จะมาจากโรคเบาหวานหรือโรคความดันสูง โดยเฉพาะคนที่คุมเบาหวาน คุมความดันไม่ดี ก็จะทำให้ไตค่อยๆ เสื่อมลงตามไป
“บางส่วนก็เกิดจากการรับประทานยาที่มีผลเสียกับไตติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ซึ่งพอรับประทานเข้าไปมากๆ ก็เกิดการสะสม และค่อยๆ ทำลายไต โดยที่อาจจะไม่แสดงอาการอะไรเลยก็ได้ ทำให้กว่าจะแสดงอาการก็อยู่ในขั้นที่ค่อนข้างรุนแรง ของเสียในเลือดสูงแล้ว ไตทำงานบกพร่องแล้ว นอกจากนี้ก็จะมีโรคนิ่ว และการติดเชื้อซ้ำซาก ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคไตได้เช่นกัน
“สำหรับการสังเกตอาการของโรคไต ก็ต้องขึ้นอยู่กับสาเหตุ ซึ่งพบอาการได้หลายอย่าง เช่น คนที่ติดเชื้อซ้ำซาก เป็นๆ หายๆ อยู่บ่อยๆ จะมีอาการปัสสาวะขุ่น ปัสสาวะแสบขัด หรือมีนิ่ว ส่วนคนที่เป็น
โรคเบาหวานหรือ
โรคความดันสูง ก็จะมีอาการอีกแบบหนึ่ง หากไปพบหมอ หมอก็จะบอกว่าเบาหวานลงไตแล้วนะ หรือมีไข่ขาวรั่วในปัสสาวะ หรือพบความผิดปกติของสีปัสสาวะ อาจจะเป็นสีน้ำล้างเนื้อ หรือปัสสาวะเป็นเลือด ซึ่งถ้าไม่เยอะ ก็จะมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ต้องเอาไปตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วยวิธีส่องกล้อง ถึงจะเห็นเม็ดเลือดแดงที่มากผิดปกติ และไข่ขาวที่รั่วมาในปัสสาวะ
“บางคนก็มีอาการบวม หรือถ้าเป็นมากหน่อย ก็อาจจะมี
อาการเลือดจาง เพราะไตเป็นตัวสร้างฮอร์โมนตัวหนึ่ง ที่จะกระตุ้นไขกระดูกให้สร้างเม็ดเลือดแดง ดังนั้นถ้าไตบกพร่องหรือไตเสื่อมเมื่อไหร่ ฮอร์โมนตัวนี้ก็จะน้อยลง ทำให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดงน้อยลง นอกจากนี้คนที่เป็นมากๆ ก็อาจจะมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน หรือรับประทานอาหารไม่ได้”
ผ่าตัดปลูกถ่ายไต = วิธีรักษาโรคไตที่ดีที่สุด
“การรักษาโรคไตในระยะเริ่มแรก จะเป็นการรักษาตามอาการ โดยดูจากสาเหตุ บางอย่างก็หายได้ บางอย่างก็หายไม่ได้ ต้องใช้วิธีประคับประคองกันไป แต่ถ้าสาเหตุมาจากโรคเบาหวานหรือโรคความดันสูง ที่เป็นมานานหลายปี เข้าขั้นโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย ก็จะรักษาด้วยการฟอกเลือด ซึ่งอาจจะต้องฟอกเลือดอย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ไปตลอดชีวิต
“แต่วิธีที่ดีที่สุดในตอนนี้คือการผ่าตัดปลูกถ่ายไต เพราะช่วยให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความเป็นอิสระ ไม่ต้องกังวลกับการฟอกเลือดทุก 2-3 วันไปตลอดชีวิต สามารถกลับมารับประทานอาหาร ออกกำลังกาย เดินทางท่องเที่ยว หรือทำกิจกรรมต่างๆ ได้เหมือนคนที่มีสุขภาพดีทั่วไป
“อีกทั้งการผ่าตัดปลูกถ่ายไตในปัจจุบันยังมีอัตราการประสบความสำเร็จสูง และสามารถทำได้ง่ายขึ้น เพราะความเชี่ยวชาญของแพทย์และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี
ผ่าตัดปลูกถ่ายไตที่บำรุงราษฎร์ เชี่ยวชาญยาวนานกว่า 34 ปี
“โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เป็นสมาชิกสามัญของศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย เราผ่าตัดปลูกถ่ายไตให้คนไข้รายแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 จนถึงปัจจุบันก็ 30 กว่าปีแล้ว
“การผ่าตัดปลูกถ่ายไตของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เรามีอัตราการประสบความสำเร็จเทียบเท่ากับโรงพยาบาลชั้นนำในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และยุโรปตะวันตกเลยทีเดียว เพราะเราทำงานกันเป็นทีม โดยมีทีมแพทย์ที่ชำนาญและมากประสบการณ์หลากหลายด้าน คอยดูแลคนไข้ ตั้งแต่ช่วงก่อน ระหว่าง และหลังการผ่าตัดปลูกถ่ายไต อีกทั้งยังคอยติดตามดูแลอย่างต่อเนื่องในระยะยาว
“เล่าคร่าวๆ ก็คือการผ่าตัดปลูกถ่ายไตหนึ่งครั้งจะประกอบด้วยทีมแพทย์ ตั้งแต่อายุรแพทย์โรคไต ซึ่งเป็นแพทย์เจ้าของไข้ที่จะคอยดูแลคนไข้ในทุกขั้นตอน อายุรแพทย์โรคตับสำหรับเคสที่คนไข้เป็นโรคตับด้วย อายุรแพทย์โรคหัวใจสำหรับตรวจประเมินความพร้อมของหัวใจก่อนการผ่าตัด ศัลยแพทย์ผ่าตัดปลูกถ่ายไต ซึ่งทำหน้าที่ผ่าตัดปลูกถ่ายไตให้กับคนไข้ และติดตามผลการทำงานของไตใหม่ ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะสำหรับขั้นตอนการผ่าตัด สูตินรีแพทย์สำหรับคนไข้ผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ทันตแพทย์สำหรับตรวจช่องปากก่อนการผ่าตัด เภสัชกรซึ่งทำหน้าที่ให้ความรู้เรื่องการรับประทานยากดภูมิคุ้มกันหลังการผ่าตัด จิตแพทย์สำหรับประเมินความพร้อมด้านจิตใจของผู้บริจาคไตและผู้รับบริจาคไต โภชนากรซึ่งทำหน้าที่ให้คำแนะนำเรื่องการรับประทานอาหารหลังการผ่าตัด และทีมพยาบาลที่คอยดูแลคนไข้และประสานงานทุกขั้นตอนอย่างใกล้ชิด
“จุดเด่นของการผ่าตัดปลูกถ่ายไตที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์อีกอย่าง คือเรามักจะมีคนไข้ที่อายุมาก และคนไข้ที่เป็นโรคไตที่ค่อนข้างซับซ้อน ซึ่งถือเป็นเคสยาก แต่เราทีมแพทย์จะร่วมมือกันอย่างเต็มที่ บวกกับความเชี่ยวชาญและความพร้อมของเครื่องไม้เครื่องมือ ทำให้ผลการผ่าตัดปลูกถ่ายไตในเคสยากๆ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี”
เคสผ่าตัดปลูกถ่ายไตแห่งความทรงจำของ ผศ.พญ. เสาวลักษณ์ ชูศิลป์
“ถ้าจะให้พูดถึงเคสในความทรงจำ ขอยกให้กับเคสยากและเคสที่คนไข้เหมือนได้ชีวิตใหม่ ซึ่งความจริงแล้วทุกเคสล้วนเจออุปสรรคแตกต่างกันไป แต่เราก็ต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญในการแก้ปัญหา ยกตัวอย่างการที่จะเอาไตมาใส่ให้กับคนไข้สักคนหนึ่ง เราก็ต้องรู้ชนิดเนื้อเยื่อของเขา รู้ความเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อและเลือดของคนไข้ว่าจะอยู่ด้วยกันได้ไหม หรือพอเปลี่ยนไตเรียบร้อยแล้ว ไตใหม่จะอยู่กับเขาได้อีกนานแค่ไหน ซึ่งเราต้องคาดการณ์แนวโน้มผลสำเร็จให้กับคนไข้ได้ด้วย
“อย่างเคสยากเคสหนึ่งที่ต้องผ่าตัดปลูกถ่ายไตถึง 3 ครั้ง คนไข้เป็นผู้ชายวัยประมาณ 40 ปี เป็นโรคไตแบบกรรมพันธุ์ สมาชิกในครอบครัวของเขาก็เป็นโรคไตกัน 2-3 คน การผ่าตัดปลูกถ่ายไตครั้งแรกอยู่ได้ 6 ปี ครั้งที่สองอยู่ได้ 4 ปี ซึ่งการผ่าตัดปลูกถ่ายไตครั้งหลังๆ จะยากกว่าครั้งแรก โดยเฉพาะครั้งที่ 3 ที่จะต้องตัดไตเก่าข้างหนึ่งออกไปก่อน ไม่เหมือนกับครั้งแรกและครั้งที่ 2 ที่ไม่ต้องตัดไตเก่าทิ้ง เพราะมีช่องให้ใส่ไตใหม่ตรงเชิงกราน แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะต้องเปลี่ยนไตหลายครั้งแบบนี้ เคสที่เปลี่ยนไตครั้งเดียวแล้วอยู่ได้นานเลยก็มี ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการดูแลตัวเองของคนไข้ด้วย เคยมีเคสหนึ่งเปลี่ยนไตแล้วอยู่ได้ถึง 30 ปีเลยทีเดียว
“ส่วนเคสที่ประทับใจ ส่วนใหญ่จะเป็นเคสที่พอคนไข้ผ่าตัดปลูกถ่ายไตแล้ว เขาเหมือนได้ชีวิตใหม่ที่ดีขึ้น ยกตัวอย่างเคสหนึ่งเมื่อ 29 ปีที่แล้ว คนไข้อายุประมาณ 30 ปี ได้รับบริจาคไตจากน้องสาวของตัวเอง หลังจากผ่าตัดปลูกถ่ายไต เขาก็มีชีวิตที่ดีขึ้นมาก ทำมาค้าขายร่ำรวย ใช้ชีวิตได้เหมือนคนที่มีสุขภาพดีทั่วไป และมีชีวิตอยู่จนถึงทุกวันนี้ ซึ่งก็น่าจะมีอายุราวๆ 60 ปีแล้ว”
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: