bih.button.backtotop.text

การผ่าตัดปลูกถ่ายไต

โรคไตเรื้อรัง คือสภาวะที่ไตถูกทำลาย โดยอาจมีสาเหตุมาจากโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต หรือโรคอ้วน มีผลทำให้ความสามารถในการทำงานของไตลดลง ผู้ป่วยจะมีอาการบวมบริเวณเท้าและข้อเท้า คันตามผิวหนัง อ่อนเพลีย ปัสสาวะออกน้อย คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหารและขาดสารอาหาร เป็นต้น และเมื่อการทำงานของไตลดลงเหลือน้อยกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายของโรคไตวายเรื้อรัง ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการบำบัดทดแทนไตโดยการฟอกเลือด การล้างไตทางช่องท้องหรือการปลูกถ่ายไต

การปลูกถ่ายไต คือ การรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย โดยการรับไตจากผู้อื่น ซึ่งแหล่งที่มาของไตแบ่งออกเป็นจากผู้บริจาคที่เสียชีวิตหรือที่ยังมีชีวิตอยู่ ทั้งนี้ผู้บริจาคที่มีชีวิตจะต้องเป็นสมาชิกในครอบครัวและมีผลเลือดเข้ากันได้ การปลูกถ่ายไตในลักษณะนี้เรียกว่า การปลูกถ่ายไตแบบผู้บริจาคมีชีวิต ซึ่งผู้บริจาคไตสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ตามปกติด้วยไตที่เหลืออยู่หนึ่งข้าง

จุดประสงค์/ประโยชน์ในการทำหัตถการ
  • เพื่อรักษาโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายโดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องกังวลกับการฟอกเลือดหรือการล้างไตทางช่องท้อง
  • หลังการผ่าตัดปลูกถ่ายไตสำเร็จผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

อ่านรายละเอียด 
คู่มือเรื่อง “ไต และ การผ่าตัดปลูกถ่ายไต”
คลิก

หากไม่ต้องการรักษาด้วยการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ผู้ป่วยจำเป็นจะต้องได้รับการบำบัดทดแทนไตด้วยการฟอกเลือด หรือล้างไตทางช่องท้องไปตลอดชีวิต

ถึงแม้ว่าหลังการปลูกถ่ายไตสำเร็จ ผู้ป่วยจะมีสุขภาพดีขึ้น มีชีวิตใกล้เคียงคนปกติ ไม่ต้องจำกัดอาหารและน้ำ สามารถดูแลตนเองได้ มีสุขภาพจิตดีขึ้น ไม่ต้องเจ็บปวดหรือทุกข์ทรมานจากการฟอกไต และมีสมรรถภาพทางเพศดีขึ้นใกล้เคียงปกติ แต่ทว่ายังมีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ในการปลูกถ่ายไต ดังต่อไปนี้

ทางด้านร่างกาย
ขณะนอนในโรงพยาบาลหลังผ่าตัดปลูกถ่ายไต ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องจากทีมปลูกถ่ายอวัยวะ ได้แก่ แพทย์ผ่าตัด แพทย์โรคไต พยาบาลประจำหอผู้ป่วย และพยาบาลผู้ประสานงานฯ เพื่อดูแลและป้องกันมิให้เกิดภาวะแทรกซ้อน แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยหลังการปลูกถ่ายไตมีความเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่

  • ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นทันทีหลังผ่าตัด ได้แก่
  • ภาวะแทรกซ้อนจากการดมยาสลบ
  • เลือดออกจำนวนมากหลังผ่าตัด
  • การเปลี่ยนแปลงของระบบหัวใจและการไหลเวียน เช่น ความดันโลหิตต่ำ
  • ปัญหาระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องอืด ท้องผูก
  • ร่างกายปฏิเสธไตใหม่ (kidney rejection) จากสถิติการปลูกถ่ายไตในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์พบว่า อัตราการเกิดภาวะปฏิเสธไตใหม่อย่างเฉียบพลัน (acute rejection) พบน้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งความเสี่ยงในเรื่องนี้สามารถป้องกันมิให้เกิดได้หากผู้ป่วยได้รับยากดภูมิคุ้มกันเพียงพอ ทางโรงพยาบาลขอแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยากดภูมิคุ้มกันอย่างต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง
  • เสี่ยงต่อการติดเชื้อง่าย หลังการปลูกถ่ายไตภูมิคุ้มกันของร่างกายจะลดลง ทำให้มีโอกาสรับเชื้อได้ง่าย เช่น ปอดอักเสบ หรือจากเชื้อพวกฉวยโอกาส เช่น ไซโตเมกะโลไวรัส ไวรัสเฮอร์พีส์ ไวรัสเอ็บสไตบาร์ เชื้อรา เชื้อพยาธิ วัณโรค เป็นต้น ผู้ป่วยอาจต้องรับประทานยาต้านจุลชีพเพื่อป้องกันพวกเชื้อฉวยโอกาสเหล่านี้ด้วยในระยะแรกหลังการผ่าตัด
  • เหตุแทรกซ้อนอื่นๆ พบภายหลังการได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตนานๆ ซึ่งมักเกิดจากการบริหารยากดภูมิคุ้มกัน เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคตับอักเสบ โรคมะเร็ง เป็นต้น

ทางด้านจิตใจ
คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่เคยต้องทนทุกข์จากโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายจะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดหลังจากได้รับการปลูกถ่ายไตแล้ว แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีความวิตกกังวลเนื่องจากต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกันอย่างเคร่งครัด เพราะหากไม่ปฏิบัติตนเรื่องการใช้ยาจะมีโอกาสทำให้เกิดการสูญเสียไตที่ได้รับมา ซึ่งเหล่านี้อาจทำให้เกิดความเครียดได้
 

อัตราการประสบความสำเร็จของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์นั้นสูงเทียบเท่ากับที่สหรัฐอเมริกา แคนาดา และยุโรปตะวันตก จากสถิติผู้ป่วยปลูกถ่ายไตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์พบว่า อัตราการรอดของไตที่ทำการปลูกถ่าย (graft survival) ใน 1 ปี คือ 96 เปอร์เซ็นต์ 5 ปี คือ 87 เปอร์เซ็นต์ และ 10 ปี คือ 75 เปอร์เซ็นต์
อัตราการประสบความสำเร็จของการปลูกถ่ายไตนั้นแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นอยู่กับ
  • ไตที่ได้รับบริจาคมานั้นมาจากผู้มีชีวิตหรือเสียชีวิต โดยทั่วไปแล้วไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิตอยู่จะใช้งานได้นานกว่า
  • สภาวะทางร่างกายของผู้ป่วยเอง
ในปัจจุบันมีวิธีการบำบัดทนแทนไต 3 วิธี ได้แก่ การฟอกเลือด การล้างไตทางช่องท้องและการปลูกถ่ายไต
 
แก้ไขล่าสุด: 15 มิถุนายน 2564

Doctors Related

Related Centers

ศูนย์ไตเทียม

ดูเพิ่มเติม

ศูนย์โรคไต

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 9.10 of 10, จากจำนวนคนโหวต 122 คน

บทความที่เกี่ยวข้อง