bih.button.backtotop.text

IVF และ ICSI ชื่อคุ้นหู แต่แตกต่างกันอย่างไร

การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF/ICSI) เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์
การทำเด็กหลอดแก้วเป็นการนำไข่และอสุจิมาผสมกันให้เกิดการปฏิสนธินอกร่างกายในห้องปฏิบัติการ หลังจากนั้นจะนำไข่ที่ได้รับการผสมหรือตัวอ่อนย้ายกลับเข้าไปในมดลูกของฝ่ายหญิงเพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์
   
IVF และ ICSI ชื่อคุ้นหู แต่แตกต่างกันอย่างไร
การทำเด็กหลอดแก้ว เริ่มต้นด้วยการกระตุ้นไข่จากฝ่ายหญิงโดยการใช้ยาฉีดเป็นเวลาประมาณ 8-13 วัน จากนั้นแพทย์จะทำการผ่าตัดเล็กเพื่อดูดฟองไข่แต่ละใบออกจากรังไข่ แล้วจึงเลือกไข่ใบที่สุกที่มีรูปร่างปกติ เพื่อทำการปฏิสนธิกับอสุจิในหลอดแก้วหรือที่เรียกว่า การปฏิสนธิภายนอกร่างกาย

IVF คือ การนำอสุจิมาเพาะเลี้ยงไว้กับไข่แต่ละใบเพื่อให้อสุจิเข้าไปผสมกับไข่เอง โดยมีอัตราปฏิสนธิกับไข่สำเร็จอยู่ที่ประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์

ICSI คือ การเลือกอสุจิที่มีรูปร่างหน้าตาและการวิ่งที่ดีที่สุดหนึ่งตัว และใช้เข็มเล็กๆเพื่อนำอสุจิตัวนี้ยิงเข้าไปในฟองไข่แต่ละใบ โดยมีอัตราปฏิสนธิกับไข่สำเร็จอยู่ที่ประมาณ 80-90 เปอร์เซ็นต์
ในทางเทคนิคของห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนของเราใช้วิธีการ ICSI เกือบทั้งหมด เนื่องจากการทำ ICSI มีอัตราการปฏิสนธิสำเร็จสูงสุด

 
การเลี้ยงตัวอ่อนทำได้อย่างไร
หลังจากที่เกิดการปฏิสนธิ ทางห้องปฏิบัติการจะทำการเลี้ยงตัวอ่อนและประเมินการเจริญเติบโตและการแบ่งเซลล์ของตัวอ่อน ในวันที่ 1 ถึงวันที่ 5 ภายหลังการปฏิสนธิ การเลี้ยงตัวอ่อนทำได้ 2 วิธีคือ
  • การเลี้ยงในตู้อบปกติ เป็นวิธีมาตรฐานที่ใช้มานาน การตรวจตัวอ่อนทำได้โดยการนำตัวอ่อนออกมาจากตู้อบเพื่อประเมินการแบ่งเซลล์ของตัวอ่อนเป็นระยะ
  • การเลี้ยงในตู้อบที่มีกล้องส่องดูการเจริญเติบโตของตัวอ่อน (Embryoscope) ทำให้สามารถประเมินการแบ่งเซลล์ของตัวอ่อนได้แบบ real time จากกล้องที่ติดไว้ในตู้อบ โดยไม่ต้องนำตัวอ่อนออกจากตู้อบ ลดปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกที่ส่งผลต่อคุณภาพของตัวอ่อน ทำให้ตัวอ่อนมีคุณภาพดีขึ้นเมื่อเทียบกับการเลี้ยงตัวอ่อนในตู้อบปกติประมาณ 15-20 เปอร์เซ็นต์
 
ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตั้งครรภ์โดยการทำเด็กหลอดแก้วมีอะไรบ้าง
  • อายุของฝ่ายหญิง
  • จำนวนและคุณภาพของไข่ที่กระตุ้นได้และเก็บได้ในแต่ละรอบ
  • คุณภาพของอสุจิ
  • คุณภาพของตัวอ่อน
  • ลักษณะและสารพันธุกรรมหรือที่เรียกว่าโครโมโวม
  • ความหนาและความเรียบของเยื่อบุโพรงมดลูก
  • ปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ท่อนำไข่ที่ตันและบวมน้ำ, สุขภาพของฝ่ายหญิง
 
ความเสี่ยงในการตั้งครรภ์หลังทำเด็กหลอดแก้ว
  • มารดาที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป อาจมีภาวะเบาหวานและความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ได้มากขึ้น
  • มารดาที่มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น เอสแอลอี การแข็งเลือดของตัวผิดปกติ มีโรคทางภูมิคุ้มกันหรือภูมิคุ้มกันต่อเนื้อเยื่อตัวเอง ภูมิคุ้มกันไวเกิน ซึ่งการตั้งครรภ์อาจส่งผลกระตุ้นการดำเนินโรค ทำให้มีโอกาสเกิดภาวะรกเกาะแน่นมากขึ้น
  • เคยมีปัญหาแท้งบ่อย เคยขูดมดลูกหลายครั้งหรือเคยผ่าตัดมดลูกมาก่อน
  • ตั้งครรภ์แฝด อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน เรามีเทคโนโลยีในการตรวจตัวอ่อนที่ละเอียด แม่นยำ รวมถึงการตรวจสารพันธุกรรมตัวอ่อน ทำให้แพทย์มีโอกาสย้ายตัวอ่อนเพียงตัวเดียวแทนที่จะย้ายตัวอ่อนมากกว่าหนึ่งตัวอ่อนต่อรอบ ส่งผลให้อัตราการตั้งครรภ์แฝดลดลง

ศูนย์การเจริญพันธุ์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีทีมแพทย์และสหสาขาวิชาชีพร่วมให้การดูแลรักษาอย่างเนื่องตั้งแต่ก่อนทำ IVF/ICSI ไปจนกระทั่งคลอดบุตร ในกรณีที่ครรภ์ของคุณมีความเสี่ยงสูง เรามีทีมแพทย์ผู้ชำนาญด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกช่วยดูแลคุณอย่างใกล้ชิดเพื่อให้คุณมีโอกาสตั้งครรภ์ได้สำเร็จและมีความปลอดภัยมากที่สุด
 


เรียบเรียงโดย พญ. ณหทัย ภัคธินันท์
 


 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แก้ไขล่าสุด: 17 กรกฎาคม 2567

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs