โรคความดันโลหิตสูงจัดเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยและทั่วโลก จากรายงานขององค์การอนามัยโลกเมื่อปี พ.ศ.2554 พบว่าทั่วโลกมีผู้ที่มีความดันโลหิตสูงมากถึงพันล้านคน โดยประชากรวัยผู้ใหญ่ทั่วโลก 1 คนใน 3 คนมีภาวะความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ยังคาดการณ์อีกด้วยว่าในปี พ.ศ.2568 (ค.ศ.2025) จำนวนผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงในวัยผู้ใหญ่จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.56 พันล้านคน
โรคความดันโลหิตสูง เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของภาวะทุพพลภาพและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดยในแต่ละปีประชากรวัยผู้ใหญ่ทั่วโลกเสียชีวิตโดยมีโรคความดันโลหิตสูงเป็นสาเหตุถึงเกือบ 8 ล้านคน อีกทั้งยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเกือบร้อยละ 50 ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองและโรคหัวใจ (World Health Statistics 2012)
เมื่อหัวใจเต้นผิดจังหวะ
เรื่องของโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สำหรับโรคความดันโลหิตสูงกับ
ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตนั้นกลับได้รับการกล่าวถึงไม่มากนัก “หัวใจเต้นผิดจังหวะเกิดได้จากสาเหตุหลายประการและหลายรูปแบบ โดยเฉลี่ยแล้วอัตราการเต้นของหัวใจในคนปกติจะอยู่ที่ประมาณ 60-100 ครั้งต่อนาที โดยหัวใจห้องข้างบนและข้างล่างจะเต้นในจังหวะที่สัมพันธ์กัน”
นายแพทย์โชติกร คุณวัฒน์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ จาก
ศูนย์หัวใจโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์กล่าว
ส่วนสาเหตุที่อาจทำให้หัวใจเต้นผิดปกตินั้น มีความแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย โดยนายแพทย์โชติกรสรุปสาเหตุสำคัญๆ ดังนี้
- ความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด ผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะที่อายุน้อยๆ มักมีสาเหตุมาจากความผิดปกติมาตั้งแต่กำเนิด
- ความผิดปกติทางร่างกายที่มีผลต่อการทำงานของหัวใจ อาทิ หลอดเลือดหัวใจตีบ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ซึ่งมักพบในผู้ป่วยกลุ่มที่เป็นผู้สูงอายุ รวมทั้งภาวะไทรอยด์เป็นพิษ
- ยา/สาร/สารเสพติดบางชนิด อาทิ ยาที่มีส่วนประกอบของแอมเฟตามีน คาเฟอีนที่อยู่ในชา กาแฟ หรือน้ำอัดลม
- ความเครียดและความวิตกกังวล
“ไม่ใช่ว่า
อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะจะอันตรายไปเสียทั้งหมดนะครับ” นายแพทย์โชติกรกล่าวต่อ “เมื่อเกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะขึ้น แพทย์จะวิเคราะห์ว่าเป็นหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดใด เช่น หากเป็นการเต้นแทรกธรรมดาจากห้องข้างบนหรือห้องข้างล่างของหัวใจ ตรวจแล้วไม่มีอะไรเป็นอันตราย เช่น ไม่มีสัญญาณของหลอดเลือดอุดตัน ก็ไม่เป็นอันตราย ถ้ามีอาการมากรักษาด้วยยาแล้วก็ไม่น่ากังวล ทั้งนี้ในการจะชี้ชัดให้ได้ว่าหัวใจที่เต้นผิดจังหวะนั้นเป็นจากสาเหตุใดก็ต้องดูผลเลือดร่วมด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยไม่มีความผิดปกติอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ อาทิ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ อิเล็กโทรไลต์ในร่างกายผิดปกติ เช่น แมกนีเซียม โพแทสเซียม เป็นต้น แต่ถ้าเป็น
หัวใจเต้นพลิ้ว หรือ atrial fibrillation พวกนี้มีอันตรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพบในผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดัน ก็ถือว่าเป็นอันตรายมากขึ้น”
ความดันโลหิตกับการเต้นของหัวใจ
ที่ผ่านมา อันตรายของโรคความดันโลหิตสูงกับโรคหัวใจมักได้รับการกล่าวเฉพาะในผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องหลอดเลือดหัวใจ แต่สำหรับเรื่องของหัวใจเต้นผิดจังหวะนั้นกลับไม่ได้รับการกล่าวถึงมากเท่าไรนัก สำหรับข้อสงสัยที่ว่าความดันโลหิตสูงเกี่ยวอะไรกับการเต้นของหัวใจ นายแพทย์โชติกรอธิบายว่า “โรคความดันโลหิตสูงส่งผลกระทบหลายประการต่อหัวใจนะครับ เพราะภาวะที่ความดันในหลอดเลือดสูง หัวใจต้องบีบตัวมากขึ้นเพื่อต้านกับความดันในหลอดเลือดที่สูง เพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกาย กล้ามเนื้อหัวใจจึงหนาตัวขึ้น เมื่อหนาตัวมากๆ ในที่สุดหัวใจก็จะอ่อนแรงลง ความผิดปกติเหล่านี้ทำให้เกิดพังผืดขึ้นในหัวใจ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้วงจรไฟฟ้าในหัวใจเกิดความผิดปกติขึ้น เป็นที่มาของปัญหาหัวใจเต้นผิดจังหวะนั่นเอง”
เมื่อการนำไฟฟ้าของหัวใจเกิดความผิดปกติ หากเป็นมากๆ เข้าก็อาจกลายเป็นหัวใจเต้นเร็วและผิดจังหวะที่เรียกว่า
หัวใจเต้นพลิ้ว (atrial fibrillation or A-Fib) มีโอกาสสูงที่จะเกิดเลือดหมุนวนในห้องหัวใจ กลายเป็นลิ่มเลือดหลุดไปอุดตันหลอดเลือดสมองซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ปกป้องตัวคุณวันนี้
อาการของหัวใจเต้นผิดจังหวะอาจมีอาการหรือไม่มีอาการ สำหรับรายที่มีอาการ เมื่อสังเกตและรู้สึกได้ว่าหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาทิ ใจสั่น หัวใจเต้นๆ อยู่แล้วหยุดไปไม่สม่ำเสมอ มีอาการเหนื่อย เจ็บหน้าอก หน้ามืดเป็นลม คำแนะนำในที่นี้คือ ควรรีบไปพบแพทย์
“ผู้ป่วยที่มี
ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางอย่างมีโอกาสทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดสมองอุดตันซึ่งส่งผลให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตสูงกว่าคนปกติประมาณ 5 เท่า” นายแพทย์โชติกรกล่าว “ถึงเวลาที่เราทุกคนควรรู้เท่าทันความเสี่ยงของตัวเอง และเรียนรู้ที่จะป้องกันโรคโดยลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ป่วยหรือผู้ที่ยังไม่เคยป่วยด้วยโรคหัวใจ ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของตัวเอง เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ หมั่นออกกำลังกาย พบแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อติดตามสภาวะสุขภาพของตนเอง หรืออย่างน้อยตรวจสุขภาพปีละครั้ง ร่วมกับการพักผ่อนให้เพียงพอ และผ่อนคลาย
ความเครียด เพื่อสุขภาพหัวใจและสุขภาพโดยรวมของคุณ” นายแพทย์โชติกรกล่าวทิ้งท้าย
ข้อมูลโดย: นายแพทย์โชติกร คุณวัฒน์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ
ศูนย์หัวใจเ้ตนผิดจังหวะ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 02 กุมภาพันธ์ 2564