คุณไม่สูบบุหรี่เพราะคุณทราบดีว่าบุหรี่ทำลายสุขภาพมากเพียงใด แต่คุณทราบหรือไม่ว่าควันบุหรี่ที่ล่องลอยอยู่ในอากาศก็เป็นอันตรายต่อสุขภาพของคุณได้ไม่แพ้กัน
การสูดดมควันบุหรี่โดยไม่ตั้งใจส่งผลร้ายแค่ไหน? บทความนี้มีคำตอบที่เราเชื่อว่าจะทำให้คุณไม่อยากเข้าใกล้ควันพิษเหล่านี้อีกอย่างแน่นอน
ในควันบุหรี่มีอะไร
ควันบุหรี่มือสอง คือควันบุหรี่ที่ผู้สูบพ่นออกมาทางลมหายใจผสมกับควันจากปลายมวนบุหรี่ที่กำลังเผาไหม้โดยไม่ผ่านตัวกรองสารพิษใดๆ ควันชนิดนี้ประกอบด้วยสารเคมีมากกว่า 7,000 ชนิด เป็นสารพิษนับร้อยชนิดและในจำนวนนี้ราว 70 ชนิดเป็นสารก่อมะเร็งที่สามารถปะปนอยู่ในอากาศได้นานถึง 5 ชั่วโมงโดยไม่มีกลิ่นให้รับรู้ได้เลย
สารพิษในควันบุหรี่เกิดจากการเผาไหม้ของสารเคมีที่มีอยู่ในใบยาสูบตามธรรมชาติ จากสารเคมีที่ใช้ปรุงแต่งกลิ่นและรสในกระบวนการผลิตบุหรี่ และจากกระดาษที่ใช้มวนบุหรี่ ซึ่งตัวอย่างของสารพิษเหล่านี้ ได้แก่
- เบนซีน เป็นสารก่อมะเร็งที่พบในยาฆ่าแมลงซึ่งอาจติดมากับใบยาสูบ
- ฟอร์มาลดีไฮด์หรือฟอร์มาลีน เป็นสารก่อมะเร็งที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อดวงตา เยื่อบุจมูก และเยื่อบุทางเดินหายใจ
- พอโลเนียม-210เป็นสารกัมมันตรังสี เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งปอด
- แคดเมียม เป็นสารโลหะที่เป็นอันตรายต่อไต ตับ และสมอง รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดและอัณฑะ
- สารตะกั่ว เป็นสารโลหะที่ทำลายสมอง ไต ระบบประสาทและเม็ดเลือดแดงอย่างรุนแรง สามารถถูกดูดซึมผ่านผิวหนังได้โดยเฉพาะในเด็ก
- แอมโมเนีย ใช้ปรุงแต่งรสชาติและช่วยให้นิโคตินดูดซึมเข้าสู่สมองและประสาทส่วนกลางเร็วขึ้น มีฤทธิ์ระคายเคืองเนื้อเยื่อ ทำให้แสบตา แสบจมูก หลอดลมอักเสบ
- โครเมียม เป็นสารโลหะที่อาจตกค้างในใบยาสูบหลังจากการพ่นยาฆ่าแมลง
- คาร์บอนมอนอกไซด์ เป็นแก๊สที่เกิดจากการเผาไหม้บุหรี่ ออกฤทธิ์ขัดขวางการลำเลียงออกซิเจนของเม็ดเลือดแดง ทำให้ผู้สูดควันบุหรี่ได้รับออกซิเจนน้อยลง เลือดข้นและหนืดขึ้นจนหัวใจต้องทำงานหนักเพื่อให้เลือดนำออกซิเจนไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายซึ่งนำไปสู่สาเหตุของการเกิดโรคหัวใจ
- สารหนู มีผลต่อระบบทางเดินอาหาร และเชื่อมโยงกับการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด
สารเคมีเหล่านี้ไม่ได้อยู่แค่ในควันที่เราสูดดมเข้าไป แต่ยังติดอยู่บนเส้นผมและเสื้อผ้าของผู้สูบ อยู่บนพรม บนข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่เรียกกันว่าควันบุหรี่มือสามซึ่งเป็นอันตรายต่อคนรอบข้างไม่แพ้ควันบุหรี่มือสองเลย
โรคร้ายที่มาพร้อมควันบุหรี่
ในแต่ละปี มีผู้คนทั่วโลกเสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสองมากถึง 1 ล้านคนโดยประมาณ โดยโรคที่มีความรุนแรงถึงชีวิตนี้ ได้แก่
สารพิษในควันบุหรี่เป็นอันตรายกับทุกคน แต่เด็กๆ มีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากเด็กมีน้ำหนักน้อยแต่มีอัตราการเผาผลาญอาหารสูงกว่าและหายใจเร็วกว่า นอกจากนี้ เด็กยังอยู่ในช่วงวัยที่เนื้อเยื่อต่างๆ กำลังพัฒนา เมื่อได้รับสารพิษในปริมาณเท่ากัน สารเหล่านี้ก็จะเข้าสู่ร่างกายและก่อให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะของเด็กได้ง่ายและมากกว่าผู้ใหญ่
สำหรับปัญหาสุขภาพที่เด็กๆ ต้องเผชิญ เช่น
- น้ำหนักแรกเกิดน้อย การสัมผัสกับควันบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์เพิ่มความเสี่ยงต่อการที่ทารกในครรภ์จะคลอดออกมาด้วยน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
- โรคการเสียชีวิตเฉียบพลันในเด็กทารก (Sudden infant death syndrome หรือ SIDS) คือภาวะที่ทารกเสียชีวิตเฉียบพลันโดยไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด ซึ่งเด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบที่ต้องอยู่ใกล้ๆ กับผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงต่อโรคมากกว่าเด็กที่ไม่ได้สัมผัสควันบุหรี่
- โรคหืดและโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ เป็นกลุ่มโรคที่พบบ่อยในเด็กที่ต้องสูดดมควันบุหรี่อยู่เสมอ
- การติดเชื้อ เด็กทารกที่เกิดจากพ่อแม่ที่สูบบุหรี่มักเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดลมอักเสบและปอดอักเสบมากกว่าเด็กทั่วไปโดยเฉพาะในช่วงขวบปีแรก
จะหลีกเลี่ยงควันบุหรี่มือสองได้อย่างไร
การป้องกันตัวเองด้วยการไม่สูดดมควันบุหรี่มือสองอาจทำได้ยาก เพราะแม้คุณจะไม่เข้าใกล้ผู้ที่กำลังสูบบุหรี่ แต่คุณไม่มีทางทราบเลยว่าอากาศในร้านอาหาร ปากประตูทางเข้าอาคาร หรือบันไดหนีไฟนั้นมีควันบุหรี่มือสองหรือไม่ ยิ่งมีบุคคลในครอบครัวสูบบุหรี่ยิ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหลีกเลี่ยงสารตกค้างจากควันพิษ
ดังนั้น สิ่งที่คุณจำเป็นต้องทำคือ
- ต้องไม่อนุญาตให้มีการสูบบุหรี่ในบ้านหรือรถยนต์ หากมีการสูบบุหรี่ ควรล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสสิ่งของต่างๆ ในบ้าน
- หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนสูบบุหรี่ และไม่อยู่ใกล้เขตสูบบุหรี่
- เพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษสำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีปัญหาสุขภาพหัวใจหรือระบบทางเดินหายใจ
ตรวจสมรรถภาพปอด หากคุณเลี่ยงไม่ได้
การหายใจเอาควันบุหรี่เข้าปอดแม้เพียงช่วงเวลาสั้นๆ ก็เพียงพอที่จะทำให้สารพิษนับร้อยเริ่มต้นทำลายปอดของคุณทันที ด้วยการทำให้กระบวนการปัดกวาดมูกและสิ่งระคายเคืองต่างๆ ออกจากทางเดินหายใจทำงานน้อยลง สารพิษในควันบุหรี่จึงผ่านเข้าสู่ปอดได้ง่ายขึ้นแล้วเริ่มสร้างความเสียหายให้กับระบบทางเดินหายใจโดยคุณไม่รู้ตัว
หากคุณมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจจากควันบุหรี่มือสอง แพทย์แนะนำว่าการตรวจสมรรถภาพปอดจะช่วยให้ทราบถึงความผิดปกติได้แม้ในผู้ที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจระยะเริ่มต้นที่ยังไม่ปรากฎอาการใดๆ และผลการตรวจเอกซเรย์ปอดก็จะยังไม่แสดงความผิดปกติ
การตรวจสมรรถภาพปอด หรือ Pulmonary Function Testings (PFTs) เป็นการตรวจการทำงานของปอดในด้านต่างๆ เพื่อดูความเสื่อมของการทำงานของปอด เพื่อตรวจวินิจฉัยและประเมินความรุนแรงของโรค รวมถึงเพื่อติดตามผลการรักษา
การตรวจสมรรถภาพภาพปอดสามารถทำได้หลายวิธีและด้วยเครื่องมือหลายชนิด โดยแต่ละวิธีจะให้ข้อมูลที่ต่างกันไป สำหรับการตรวจเพื่อดูการทำงานและประเมินความเสียหายของปอดที่สามารถทำได้ด้วยวิธีการต่อไปนี้
- Spirometry (mechanics) เป็นวิธีมาตรฐานในการตรวจประเมินสมรรถภาพปอด โดยวัดปริมาตรและอัตราการไหลของอากาศที่หายใจเข้าและออกจากปอด แล้วนำมาเทียบกับค่าอ้างอิงเพื่อดูว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นในกระบวนการหายใจหรือไม่
- Post bronchodilator spirometry เป็นการตรวจเพื่อประเมินการตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาขยายหลอดลม และดูว่าหลอดลมตีบแก้ไขได้หรือไม่ เป็นการตีบแบบชั่วคราวหรือถาวร
- Complete set of Pulmonary function test เป็นการตรวจเพื่อประเมินภาวะหลอดลมอุดกั้น ปริมาตรปอด และการแลกเปลี่ยนแก๊สภายในถุงลม รวมถึงใช้ในการประเมินภาวะเหนื่อย โรคเนื้อเยื่อในปอดอักเสบ (interstitial lung diseases) ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD)
- Bronchial challenge test เป็นการตรวจเพื่อประเมินภาวะความไวเกินของหลอดลม สามารถใช้สำหรับการหาโรคหืดแฝงได้
ทั้งนี้ แพทย์ผู้ทำการรักษาจะทำการตรวจวินิจฉัยและเป็นผู้เลือกวิธีการการตรวจสมรรถภาพปอดที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย
โรคระบบทางเดินหายใจมักเริ่มด้วยการไอ มีเสมหะมากผิดปกติในเวลาเช้า เจ็บหน้าอก รู้สึกเหนื่อยง่ายกว่าปกติโดยเฉพาะเวลาออกกำลังกาย หายใจมีเสียงหวีดหรือเสียงผิดปกติซึ่งเป็นอาการที่บ่งบอกว่าโรคได้พัฒนาไปมากแล้ว ดังนั้น อย่ารอจนถึงวันที่อาการปรากฏ เพราะอาจสายจนเกินแก้ได้
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 10 ตุลาคม 2566