bih.button.backtotop.text

ข้อสะโพกทำหน้าที่ในการรองรับน้ำหนักตัวเป็นอันดับสองรองจากข้อเข่า  ไม่ว่าเราจะอยู่ในอิริยาบถนั่ง ยืน เดินหรือนอน ต้องอาศัยข้อสะโพกทั้งนั้น  ดังนั้นเมื่อข้อสะโพกเสื่อมจึงถือเป็นเรื่องใหญ่เพราะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันเพราะข้อสะโพกเสื่อมทำให้สะโพกติดขัด เจ็บปวดจนไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆได้เป็นปกติเหมือนเดิม

โรคข้อสะโพกเสื่อมเกิดขึ้นได้อย่างไร

โรคข้อสะโพกเสื่อมเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยดังนี้

  • ไม่มีสาเหตุเด่นชัด (Primary OA Hip)
  • ความผิดปกติของข้อสะโพกที่มีมาแต่กำเนิดหรือในช่วงของการเจริญเติบโตแต่มาแสดงอาการเมื่ออายุมากขึ้น (Developmental Dysplasia of the Hip, DDH)
  • ภาวะหัวกระดูกข้อสะโพกตาย (Osteonecrosis of Femoral head, ONFH)
  • เคยได้รับบาดเจ็บบริเวณข้อสะโพก
  • โรคข้ออักเสบต่างๆ เข่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
  • ภาวะติดเชื้อในข้อสะโพก (Septic Arthritis of Hip Joint)
  • ใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์หรือดื่มแอลกอฮอล์

ปวดอย่างไรให้สงสัยเป็นโรคข้อสะโพกเสื่อม

อาการโรคข้อสะโพกเสื่อมมักค่อยเป็นค่อยไปและแย่ลงเรื่อยๆ อาการโรคข้อสะโพกเสื่อมได้แก่

  • รู้สึกติดขัดที่ข้อสะโพกทำให้เดินหรือก้มตัวลำบาก
  • รู้สึกเจ็บปวดเมื่อเคลื่อนไหวสะโพก เช่น เมื่อเดินหรือทำกิจกรรมต่างๆ มักรู้สึกบริเวณขาหนีบ อาจมีอาการปวดก้น ต้นขาและปวดร้าวลงไปบริเวณหัวเข่าร่วมด้วย แต่มักจะไม่มีอาการชาหรือร้าวลงไปที่ปลายเท้า 
  • อาการอีกอย่างที่สังเกตุได้ง่ายๆคือ ก้มตัวลงใส่ถุงเท้าหรือรองเท้าได้ยากมากขึ้น

เมื่อพบว่ามีอาการเหล่านี้ควรรับมาพบแพทย์เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาการเจ็บปวดจะเพิ่มมากขึ้น จนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ


ตรวจวินิจฉัยโรคข้อสะโพกเสื่อมได้อย่างไร

แพทย์จะเริ่มจากการซักประวัติ เช่น ลักษณะอาการเจ็บ ตำแหน่งและระยะเวลาที่รู้สึกเจ็บ โรคประจำตัว ยาประจำตัวที่ใช้และประวัติการบาดเจ็บ นอกจากนี้แพทย์จะตรวจดูสภาพของข้อสะโพกจากเอกซเรย์ หรืออาจตรวจด้วย CT scan หรือ MRI เพื่อประเมินความรุนแรงของโรคข้อสะโพกเสื่อม


การรักษาโรคข้อสะโพกเสื่อมทำได้อย่างไร

โรคข้อสะโพกเสื่อมสามารถรักษาได้ 2 แนวทาง ได้แก่ การรักษาโดยไม่ผ่าตัดและการรักษาโดยการผ่าตัด

  • การรักษาโดยไม่ผ่าตัด ในระยะเริ่มแรกที่ข้อสะโพกยังไม่เสื่อมมาก แพทย์จะรักษาตามอาการของผู้ป่วยแต่ละราย เช่น การรับประทานยา การทำกายภาพบำบัดและให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การออกกำลังกายที่เหมาะสม เช่น การว่ายน้ำ ลดน้ำหนักตัวในผู้ที่มีน้ำหนักเกิน การประคบร้อน ประคบเย็น หรือการใช้ไม้เท้าช่วยเดิน
  • การรักษาโดยการผ่าตัด สำหรับผู้ป่วยที่มีความเสื่อมของข้อสะโพกที่รุนแรง ข้อสะโพกเทียมที่ใช้และวิธีการผ่าตัดมีอยู่ด้วยกันหลายแบบ ข้อดีและข้อด้อยของข้อเทียมชนิดต่างๆ และการผ่าตัดโดยวิธีต่างๆ สามารถมารับคำปรึกษาจากแพทย์ได้

ศูนย์ข้อสะโพกและข้อเข่าเทียม ประกอบด้วยทีมแพทย์เฉพาะทางที่ชำนาญการและมีประสบการณ์สูงในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมและทีมสหสาขาวิชาชีพที่ชำนาญพิเศษในการดูแลผู้ป่วยโรคข้อ โดยเฉพาะในเคสเฉพาะทางที่ยากและซับซ้อน เราทำงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วยความเอาใจใส่ผู้ป่วยอย่างแท้จริง โดยมีเป้าหมายสูงสุดร่วมกันคือ การทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติเหมือนเดิม

 
บทความและวีดีโอที่เกี่ยวข้อง:



เรียบเรียงโดย นพ. ชาลี สุเมธวานิชย์
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ และข้อเทียม
ศูนย์เวชศาสตร์การกีฬาและข้อ


 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 21 มิถุนายน 2565

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs