bih.button.backtotop.text

รักษาโรคลิ้นหัวใจไตรคัสปิดรั่วโดยไม่ต้องผ่าตัด

โรคลิ้นหัวใจรั่ว คือ ภาวะที่ลิ้นหัวใจปิดไม่สนิท ส่งผลทำให้เลือดไหลย้อนกลับทาง ซึ่งภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับลิ้นหัวใจทั้ง 4 ลิ้น ลิ้นหัวใจไตรคัสปิด (Tricuspid valve) เป็นลิ้นหัวใจขวาที่กั้นระหว่างหัวใจห้องบนขวาและห้องล่างขวา มีหน้าที่ช่วยให้เลือดไหลจากหัวใจห้องบนขวาไปยังห้องล่างขวาและป้องกันไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับ หากเกิดภาวะลิ้นหัวใจไตรคัสปิดรั่ว จะทำให้เลือดไหลย้อนกลับไปยังหัวใจห้องบนขวาในขณะที่หัวใจห้องล่างขวาบีบตัว ส่งผลให้ปริมาณเลือดที่ส่งไปยังปอดลดน้อยลงและหัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้นในการส่งเลือดไปยังปอดและอวัยวะอื่นๆในร่างกาย รวมถึงทำให้เลือดจากร่างกายไหลกลับเข้าหัวใจได้ลำบากทำให้เกิดอาการบวมของแขนขา หรือมีภาวะท้องบวมน้ำได้อีกด้วย

 

โรคลิ้นหัวใจไตรคัสปิดรั่วเกิดจากอะไร

โรคหัวใจไตรคัสปิดรั่วเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • หัวใจโต (ได้ทั้งหัวใจห้องบนหรือห้องล่างขวา)
  • โรคหัวใจทางฝั่งซ้าย ไม่ว่าจะเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจ หรือลิ้นหัวใจฝั่งซ้ายผิดปกติ
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดหัวใจห้องบนเต้นระริก (atrial fibrillation)
  • ความดันหลอดเลือดแดงพัลโมนารีที่ไปปอดสูงผิดปกติ
  • ความผิดปกติที่เกิดขึ้นตั้งแต่กำเนิด เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดแบบเอ็บสไตน์ (Ebstein's anomaly)
  • ภาวะการอักเสบทั่วร่างกาย เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์และโรคลูปัส
  • การติดเชื้อ เช่น โรคไข้รูมาติก
  • การใช้ยาลดน้ำหนักบางชนิด เช่น ยาเฟนฟลูรามีนและยาเฟนเทอร์มีน
  • การบาดเจ็บของหัวใจ เช่น จากภาวะหัวใจล้มเหลวหรือจากการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (pacemaker)

 

อาการของโรคลิ้นหัวใจไตรคัสปิดรั่วมีอย่างไรบ้าง

โรคลิ้นหัวใจรั่วเพียงเล็กน้อยอาจไม่ก่อปัญหาหรืออาการใดๆ แต่หากมีอาการรุนแรง อาจทำให้หัวใจโตและทำความเสียหายให้แก่หัวใจอย่างถาวร โดยทั่วไปอาการของผู้ป่วยมีได้ดังนี้

  • เหนื่อย อ่อนแรง
  • ขา ข้อเท้าและเท้าบวม
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ใจสั่น
  • หายใจลำบาก
  • ผิวหนังเย็นผิดปกติ
  • ท้องมาร
  • ตับแข็งเนื่องจากเลือดไหลย้อนมาที่ตับ

 

วินิจฉัยโรคลิ้นหัวใจไตรคัสปิดรั่วได้อย่างไร

  • การตรวจร่างกาย ฟังเสียงหัวใจ
  • เอกซเรย์ทรวงอก
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)
  • การตรวจการทำงานของหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram)
  • การตรวจหัวใจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Cardiac MRI)

 

วิธีใหม่ในการรักษาโรคลิ้นหัวใจไตรคัสปิดรั่ว

ในอดีต การรักษาทำได้ด้วยการรับประทานยาขับปัสสาวะซึ่งอาจจะไม่เพียงพอสำหรับผู้ป่วยบางราย ในผู้ป่วยที่ลิ้นหัวใจชำรุดมาก แพทย์อาจรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเพื่อลดอาการและความเสี่ยงในการเกิดอาการแทรกซ้อน เช่น หัวใจล้มเหลว อย่างไรก็ตามการผ่าตัดลิ้นหัวใจไตรคัสปิดเพียงอย่างเดียว (isolate tricuspid valve surgery) มีความเสี่ยงสูง รวมถึงการกลับมามีลิ้นหัวใจรั่วซ้ำพบได้บ่อยหลังการผ่าตัด จึงทำให้ผู้ป่วยส่วนมากไม่ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด ในปัจจุบัน มีการคิดค้นวิธีการรักษาแบบใหม่อยู่ 2 วิธีที่ได้มีการศึกษาวิจัยแล้วว่ามีความปลอดภัยสูงและสามารถลดรูรั่วของหัวใจได้เป็นอย่างดี ได้แก่

  • การหนีบลิ้นหัวใจโดยใช้คลิปผ่านทางสายสวน (TriClip) เป็นการใช้อุปกรณ์พิเศษ TriClip หรือเรียกว่าแผ่นประกบลิ้นหัวใจไตรคัสปิด หนีบบริเวณช่องว่างระหว่างลิ้นหัวใจไตรคัสปิดที่รั่วให้มาชนกัน เพื่อลดรูรั่ว โดยทำผ่านทางสายสวน ไม่ต้องผ่าตัด
  • การใส่ลิ้นหัวใจเทียม เป็นการใส่ลิ้นหัวใจเทียมที่ตำแหน่งหลอดเลือดดำที่เข้าหัวใจ เพื่อป้องกันเลือดไหลย้อนจากหัวใจยังอวัยวะต่างๆ ช่วยลดอาการขาบวม ลดโอกาสตับเกิดการบาดเจ็บกลายเป็นตับแข็ง

 

ข้อดีของการรักษาโรคลิ้นหัวใจไตรคัสปิดรั่วด้วยวิธีใหม่

  • ความเสี่ยงในการทำหัตถการต่ำกว่าการผ่าตัดมาก
  • โอกาสเสียเลือดต่ำ
  • โอกาสการติดเชื้อน้อยกว่าการผ่าตัด
  • ฟื้นตัวเร็ว
  • ลดความรุนแรงของโรค
  • เพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ป่วย ทำให้มีอาการที่ดีขึ้น

 

ศูนย์ลิ้นหัวใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีทีมแพทย์เฉพาะทางผู้มีประสบการณ์และความชำนาญในการให้คำปรึกษา วินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจทุกชนิด โดยเฉพาะกรณีที่ยากและซับซ้อน พร้อมด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ช่วยในการวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้องแม่นยำและรักษาโรคได้อย่างปลอดภัยเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับผลลัพธ์ในการรักษาที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ข้อมูลเพิ่มเติม

Tricuspid Valve Disease: Causes, Symptoms and Treatment (clevelandclinic.org)
 

เรียบเรียงโดย นพ. กฤษฎา มีมุข 

 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:


แก้ไขล่าสุด: 04 กรกฎาคม 2567

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs