bih.button.backtotop.text

อนาคตอันสดใสที่เส้นขอบฟ้ากับนวัตกรรมการรักษามะเร็งปอดด้วยภูมิคุ้มกันของตนเอง

เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านคงเคยได้ยินคำว่า “ภูมิคุ้มกันบำบัด” กันมาบ้าง ว่าแต่เจ้า “ภูมิคุ้มกันบำบัด” นี่คืออะไรกันแน่

ถ้าจะสรุปกันสั้นๆ แล้ว ภูมิคุ้มกันบำบัดก็คือการใช้ภูมิคุ้มกันของร่างกายเราเองต่อสู้กับมะเร็งร้าย ปัจจุบันนี้ เราสามารถนำหลักการภูมิคุ้มกันบำบัดมารักษาโรคได้หลายชนิด และการศึกษาล่าสุดก็แสดงให้เห็นภูมิคุ้มกันบำบัดสามารถเพิ่มอัตราการรอดชีวิตในผู้ป่วย “มะเร็งปอดระยะแพร่กระจาย” (มะเร็งระยะลุกลามซึ่งมีการกระจายของเซลล์มะเร็งไปยังอวัยวะอื่นๆ นอกเหนือจากอวัยวะต้นกำเนิด) ได้หลายเท่าตัว จึงถือเป็นอาวุธอันทรงประสิทธิภาพในการทำสงครามกับมะเร็งร้าย

“มะเร็งปอด” นับเป็นโรคมะเร็งที่พบได้มากทั่วโลก โดยแบ่งเป็น 2 ชนิดหลักๆ คือ มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (small cell lung cancer [SCLC]) กับมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก (non-small cell lung cancer [NSCLC]) ซึ่งเกือบร้อยละ 80 ของผู้เป็นมะเร็งปอดทั้งหมดจะเป็นมะเร็งชนิดหลัง

ก่อนหน้านี้ การใช้ภูมิคุ้มกันบำบัดอาศัยการกระตุ้นภูมิคุ้มกันผู้ป่วยด้วยยา เพื่อให้ภูมิคุ้มกันทำการโจมตีและฆ่าเซลล์มะเร็งโดยตรงเพียงอย่างเดียว แต่ไม่นานมานี้ นักวิจัยเพิ่งค้นพบโปรตีน PD-1 ซึ่งมีบทบาทในการขัดขวางการทำงานหรือ “ติดเบรก” ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยมะเร็งปอด ทำให้เซลล์มะเร็งเล็ดรอดไปได้

การค้นพบที่ว่านำไปสู่ทางเลือกใหม่ในการรักษาโรคมะเร็งปอด คือแทนที่จะกระตุ้นให้ร่างกายฆ่าเซลล์มะเร็งเองเพียงอย่างเดียว ตอนนี้เราสามารถ “ปิดสวิตช์” โปรตีนที่คอยขัดขวางการทำงานของภูมิคุ้มกันได้อีกด้วย เพื่อเปิดทางให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายเข้าไปจัดการกับเซลล์มะเร็งได้โดยสะดวก

หลักการอันเป็นที่มาของวิธีการรักษาใหม่ล่าสุดที่เรียกว่า Immune Checkpoint Therapy นี้ คือหลักการเดียวกับที่ทำให้ศาสตราจารย์เจมส์ อัลลิสัน แห่งมหาวิทยาลัยเบิร์กลีย์แคลิฟอร์เนีย และศาสตราจารย์ ทาสุกุ ฮอนโจ แห่งมหาวิทยาลัยเกียวโต ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ร่วมกันหมาดๆ เมื่อปีพ.ศ. 2561 นี้เอง

นับแต่นั้น องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ ได้อนุมัติให้ใช้ยาที่มีฤทธิ์ยับยั้ง PD-1 และ PD-L1 (anti PD-1 and PD-L1) ซึ่งใช้หลักการ Immune Checkpoint Therapy นี้ ในการรักษามะเร็งหลายชนิด รวมถึงมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็กด้วย ยกตัวอย่างเช่น pembrolizumab, nivolumab, atezolizumab และ durvalumab

สมาคมมะเร็งวิทยาแห่งสหรัฐฯ ถึงกับประกาศว่ายาเหล่านี้พลิกโฉมการรักษามะเร็งปอดครั้งใหญ่เลยทีเดียว เพราะเมื่อห้าปีก่อนนั้น มีผู้ป่วยมะเร็งปอดในระยะแพร่กระจายเพียงร้อยละ 5 ที่รอดชีวิตโดยปราศจากการลุกลามของโรคได้นานถึงห้าปี ทว่าปัจจุบัน การรักษาแบบ Immune Checkpoint Therapy  เช่น การใช้ยา pembrolizumab สามารถเพิ่มจำนวนผู้ป่วยที่รอดชีวิตดังกล่าวได้สูงถึงร้อยละ 15-20 เลยทีเดียว และหากใช้ควบคู่กับการรักษาแบบเคมีบำบัด หรือวิธีการอื่นที่เหมาะสม ก็จะยิ่งเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยให้สูงขึ้นไปอีก

การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดได้กลายเป็นนิยามใหม่ของการรักษามะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็กอย่างแท้จริง และ Immune Checkpoint Therapy ก็ถือเป็นมาตรฐานใหม่ ที่ทั้งเสริมสร้างคุณภาพชีวิตและสร้างความสุขกายสบายใจให้กับผู้ป่วย รวมถึงเป็นแสงแห่งความหวังที่จะนำทางไปสู่การหายขาดจากโรคร้ายในที่สุด
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แก้ไขล่าสุด: 17 พฤษภาคม 2565

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs