ทำไมต้องใช้ยาสูดหรือยาพ่นในโรคระบบทางเดินหายใจ?
ยาสูดหรือยาพ่นเข้าทางช่องปากเป็นรูปแบบการนำส่งยาเข้าสู่ร่างกายรูปแบบหนึ่งที่ช่วยนำส่งยาเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจได้โดยตรง มีข้อดีคือช่วยลดอาการข้างเคียงจากการรับประทานยาซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระบบอื่นๆ ในร่างกายที่ไม่จำเป็นต้องได้รับยา
โรคอะไรบ้างที่แพทย์มักสั่งใช้ยาสูดหรือยาพ่น?
ยาสูดพ่นมักถูกสั่งใช้ในโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ โดยยาสูดพ่นที่มีการสั่งใช้ได้แก่ กลุ่มยาพ่นเพื่อขยายหลอดลม และกลุ่มยาพ่นที่ช่วยลดอาการอักเสบหรือยาสเตียรอยด์ โรคที่มักมีการสั่งจ่ายยาสูดหรือยาพ่น ได้แก่
ทำไมต้องกลั้วปากและคอหลังสูดยา?
ท่านเคยสงสัยหรือไม่ว่าทำไมเวลาที่เราได้รับยาสูดหรือยาพ่นที่สูดเข้าทางปาก เภสัชกรมักจะแนะนำให้ผู้ป่วยกลั้วคอหรือบ้วนปากทุกครั้งหลังจากสูดยาหรือพ่นยา ทั้งนี้เนื่องจากการสูดหรือการพ่นยาเป็นการนำส่งยาจากภายนอกเข้าสู่ปอดหรือระบบการหายใจโดยตรงจึงอาจทำให้มีผงยาบางส่วนตกค้างในช่องปากโดยที่เราอาจจะไม่รู้สึกว่ามียาตกค้างอยู่ เนื่องจากผงยามีขนาดเล็กมาก ดังนั้นเพื่อไม่ให้มีผงยาตกค้างอยู่ในช่องปากและคอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นยาสูดพ่นในกลุ่มยาลดอาการอักเสบหรือยาสเตียรอยด์ ท่านจำเป็นต้องกลั้วปากและคอหลังสูดยาหรือพ่นยาทุกครั้ง
หากไม่กลั้วปากและคอหลังพ่นยาจะเกิดผลอย่างไร?
หากไม่กลั้วปากและคอหลังสูดหรือพ่นยา อาจทำให้มีผงยาบางส่วนตกค้างอยู่ในบริเวณช่องปาก และผงยาเหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นยาลดอาการอักเสบหรือยาสเตียรอยด์อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆ เช่น เสียงแหบ ระคายคอ ปากแห้ง คอแห้ง อาจเกิดคราบสีขาวที่ลิ้น กระพุ้งแก้ม หรือเพดานปากซึ่งเป็นอาการแสดงของเชื้อราในช่องปากได้
กลั้วปากและคออย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด?
การกลั้วคอเพื่อลดการตกค้างของยาในช่องปาก ควรจะทำทั้งการบ้วนปาก(rinsing) และการกลั้วคอ(gargling) ร่วมกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการลดปริมาณยาที่ตกค้างในช่องปาก โดยสามารถใช้น้ำสะอาดอมบ้วนปากและกลั้วคอไปมาให้ทั่วทั้งปากอย่างน้อย 30 วินาที แล้วบ้วนทิ้งและควรทำซ้ำอย่างน้อย 2 ครั้ง
ยาสูดแบบไหนที่ต้องกลั้วปากและคอ?
ยาสูดที่ต้องกลั้วคอ ได้แก่ ยาสูดที่มีสเตียรอยด์เป็นส่วนประกอบ ซึ่งใช้สำหรับลดอาการอักเสบในทางเดินหายใจในโรคทางเดินหายใจต่างๆ
ควรกลั้วปากและคอหลังสูดยาพ่นนานเท่าไหร่?
การกลั้วปากและคอหลังสูดพ่นยา ควรทำหลังสูดพ่นยาทันที เพื่อช่วยลดการตกค้างของยาในช่องปากได้ดีที่สุด
หากท่านต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตลอด 24 ชั่วโมง
Reference:
- YOKOYAMA H, YAMAMURA Y, OZEKI T, IGA T, YAMADA Y. Influence of Mouth Washing Procedures on the Removal of Drug Residues Following Inhalation of Corticosteroids. Biological and Pharmaceutical Bulletin 2006; 29(3):1923-5
- YOKOYAMA H, YAMAMURA Y, OZEKI T, IGA T, YAMADA Y . Investigation of Mouth Washing after Inhaled Corticosteroids in the Patients'. The Pharmaceutical Society of Japan 2005; 25(5):455-61.
- The Pediatric/Adult Asthma Coalition of New Jersey. WHEN Do I Rinse My Mouth After Taking Asthma Medication [internet] 2016 [cited 2019 Jul 7]. Available from: http://www.pacnj.org/pdfs/mouthrinsing.pdf
(Accessed 7 July 2019).
- Barnes PJ. Inhaled Corticosteroids. Pharmaceuticals 2010; 3(3):514-40.
- Geddes DM. Inhaled corticosteroids: benefits and risks. Thorax 1992; 47(6):404-7.
- Mayo Clinic. Corticosteroid (Inhalation Route) [internet] 2019 [cited 2019 July 7]. Available from: https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/corticosteroid-inhalation-route/proper-use/drg-20070533.
Contact information: Drug Information Service ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
Tel: +66(0) 2 011 3399 Email:
[email protected]
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 17 พฤษภาคม 2565