โรคหลอดเลือดสมองโป่งพองไม่ค่อยเป็นที่กล่าวถึงมากนัก
แม้จะเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของภาวะสมองขาดเลือด
โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตและภาวะทุพพลภาพอันดับต้น ๆ ของคนไทย ในทุก ๆ ปี ทั่วโลกมีประชากรที่เจ็บป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองราว 15 ล้านคน และเกือบครึ่งไม่รอดชีวิตจากโรค (World Stroke Organization 2555)
ในปัจจุบัน เชื่อว่าเกือบทุกคนต้องเคยได้ยิน หรือมีคนรู้จักเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตกะทันหันจากโรคเลือดออกในสมองบ้าง หลอดเลือดสมองแตกบ้าง โดยที่หลายครั้งยังไม่ทันได้รับมือใด ๆ แต่คุณทราบหรือไม่ว่าในปัจจุบันที่วิวัฒนาการทางการแพทย์ก้าวหน้าไปมาก ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองหลายชนิดไม่จำเป็นต้องกลายเป็นผู้ทุพพลภาพหรือเสียชีวิตเสมอไป
Better Health ฉบับเจาะลึกเรื่องสมองนี้ ขอกล่าวถึงหนึ่งในสาเหตุที่สำคัญของภาวะเลือดออกในสมองอันเกิดจากพยาธิสภาพบางประการของหลอดเลือดสมองเอง ภาวะนั้นได้แก่
ภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพอง หรือ Cerebral Aneurysm
ผนังหลอดเลือดโป่งพองอันตรายอย่างไร
ภาวะผนังหลอดเลือดสมองโป่งพองเกิดจากความผิดปกติของผนังหลอดเลือดในสมองบางตำแหน่งมีลักษณะบางกว่าบริเวณอื่น เมื่อต้องรับมือกับความดันในหลอดเลือดอยู่เรื่อย ๆ อาจส่งผลให้บริเวณที่บางนั้นโป่งพองเป็นกระเปาะและอาจแตกออกส่งผลร้ายแรงต่อสมองในเวลาใดเวลาหนึ่ง
นายแพทย์สมเกียรติ ศิริวิมลมาส รังสีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านรังสีร่วมรักษาทางประสาทวิทยาอธิบายว่า “ภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพองเกิดขึ้นได้อย่างไรนั้น ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าเพราะเหตุใดผนังหลอดเลือดบางบริเวณ
จึงบางกว่าบริเวณอื่น อาจมีสาเหตุมาจากความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดหรือจากโรคบางอย่าง ในประเทศไทยยังไม่มีการรวบรวมสถิติที่แน่นอนแต่คาดกันว่าน่าจะมีอยู่ราว ๆ ร้อยละ 2 ของประชากร”
“ความน่าเป็นห่วงของภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพองอยู่ตรงที่ไม่มีใครทราบได้ว่าผนังหลอดเลือดที่โป่งพองนั้นจะแตกออกมาเมื่อไร”
นพ. สมเกียรติ ศิริวิมลมาส
นายแพทย์สมเกียรติกล่าวว่า ความน่าเป็นห่วงของภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพองอยู่ตรงที่ไม่มีใครทราบได้ว่าผนังหลอดเลือดที่โป่งพองนั้นจะแตกออกมาเมื่อไร และโอกาสที่จะทราบได้ว่าใครบ้างที่มีภาวะผนังหลอดเลือดโป่งพองก็มีไม่มากนัก อีกทั้งตราบเท่าที่หลอดเลือดยังไม่แตกก็จะไม่มีอาการใด ๆ ปรากฏเลย “โดยปกติเราจะพบผู้ป่วยในสามลักษณะ”
นายแพทย์สมเกียรติอธิบาย “กล่าวคือ พบโดยบังเอิญขณะ
ตรวจซีทีสแกนหรือ
เอ็มอาร์ไอ โดยที่ผู้ป่วยเข้ามารับการวินิจฉัยความผิดปกติอย่างอื่น ๆ หรือมีอาการที่เกิดจากการกดทับโดยเส้นเลือดที่โป่งพอง หรือพบตอนที่ผู้ป่วยมาโรงพยาบาลเมื่อหลอดเลือดสมองแตกแล้ว”
ความน่ากังวลของภาวะดังกล่าวได้แก่ความจริงที่ว่า เราไม่สามารถป้องกันได้ นายแพทย์สมเกียรติเสริมว่าที่ผ่านมาแม้จะตระหนักถึงอันตรายที่ไม่ต่างจากการมีระเบิดเวลาอยู่ในตัว แต่ก็ยังไม่มีประเทศใดในโลกระบุให้มีการตรวจคัดกรองภาวะดังกล่าว เนื่องจากการตรวจนั้นมีราคาค่อนข้างสูง อีกทั้งไม่มีใครบอกได้ว่าหลอดเลือดที่โป่งพองนี้จะแตกหรือไม่ และจะแตกเมื่อไร ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจกันว่าไม่ใช่ทุกรายจะลงเอยด้วยหลอดเลือดสมองแตกไปเสียหมด
“หากมีอาการปวดศีรษะชนิดที่ว่า ‘ไม่เคยปวดแบบนี้มาก่อนในชีวิต’ ต้องรีบมาพบแพทย์ทันทีและอย่างน้อยที่สุดควรได้พบแพทย์ทางด้านประสาทวิทยา”
นพ. ฤกษ์ชัย ตุลยาภรณ์โชติ
เมื่อทราบแล้วแพทย์จะทำอย่างไร
ในกรณีที่
ผู้ป่วยมีภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพอง นายแพทย์สมเกียรติบอกว่าต้องแบ่งออกเป็น 2 กรณี กล่าวคือ หลอดเลือดสมองโป่งพองที่แตก และหลอดเลือดสมองโป่งพองที่ยังไม่แตก “ในกรณีของหลอดเลือดสมองโป่งพองที่แตกแล้ว เราต้องพยายามหาทางรักษาโดยเร็วที่สุดด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง ส่วนอีกกลุ่มเจอโดยบังเอิญและยังไม่แตกก็ต้องมาดูกันว่าหลอดเลือดที่โป่งพองนั้นเป็นชนิดที่มีความเสี่ยงสูงหรือไม่ อยู่ในตำแหน่งใด โดยทั่วไปเราจะดูขนาดของกะเปาะที่หลอดเลือด หากใหญ่กว่า 7 มิลลิเมตร ก็ถือว่ามีความเสี่ยงสูง ถ้าเล็กกว่านี้ก็ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูงนั้น มักจะแนะนำให้รักษา ส่วนในกลุ่มความเสี่ยงต่ำคงต้องมีการให้คำปรึกษากับผู้ป่วยในการติดตามความเปลี่ยนแปลงรูปร่างและขนาดของเส้นเลือดโป่งพอง หรือถ้าตัดสินใจรักษาต้องพิจารณาอย่างละเอียด เพื่อเปรียบเทียบระหว่างความเสี่ยงจากการรักษาเทียบกับความเสี่ยงตามธรรมชาติจากการที่ไม่ได้รักษา”
สำหรับ
การรักษาโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง สามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น การผ่าตัด หาตำแหน่งที่หลอดเลือดโป่งพองแล้วใช้คลิปหนีบ ส่วนอีกวิธี คือการใช้ท่อสอดเข้าไปทางหลอดเลือดใหญ่ที่ขาไปยังตำแหน่งที่โป่งพองและใส่ขดลวดอุดตรงตำแหน่งนั้น ๆ ไว้ ทั้งสองวิธีมีหลักการคล้ายกันคือการปิดผนังหลอดเลือดบริเวณที่อ่อนแอไม่ให้ขยายขนาดจนแตกออกและเป็นอันตราย ทั้งนี้ขึ้นกับความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยแต่ละรายมีลักษณะเฉพาะของโรคแตกต่างกันไป ส่งผลให้เหมาะสมกับวิธีการรักษาที่ไม่เหมือนกันด้วย ไม่ว่าจะเป็น ตำแหน่งของรอยโรค สภาวะทางร่างกายของผู้ป่วยเอง ซึ่งแพทย์จะต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเป็นกรณี ๆ ไป
รักษา /ไม่รักษา?
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจเกิดความสงสัยว่า เมื่อไม่มีใครบอกได้ว่าผนังหลอดเลือดที่โป่งพองนั้นจะแตกหรือไม่ การรักษานั้นจะจำเป็นหรือไม่อย่างไร Better Health จึงไปคุยกับ
นายแพทย์ฤกษ์ชัย ตุลยาภรณ์โชติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาหลอดเลือดสมองซึ่งให้ข้อมูลไว้อย่างน่าสนใจ
“การรักษาภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพองนั้นเป็นไปเพื่อลดโอกาสในการเกิดหลอดเลือดแตกในอนาคต เพราะเราไม่มีทางทราบได้เลยว่าเมื่อหลอดเลือดสมองแตกแล้ว จะเกิดผลกระทบอะไรกับผู้ป่วยบ้าง” นายแพทย์ฤกษ์ชัยกล่าว “ข้อมูลที่รวบรวมกันไว้ในต่างประเทศระบุว่าหลอดเลือดโป่งพองขนาดมากกว่า 7 มิลลิเมตรมีโอกาสสูงที่จะแตกในเวลาใดเวลาหนึ่ง ส่วนที่มีขนาดเล็กว่า 7 มิลลิเมตรนั้น โอกาสที่จะแตกมีอยู่ร้อยละ 0.1 ซึ่งดูเป็นตัวเลขที่ไม่มากเลยใช่ไหมครับ แต่สิ่งที่ต้องตระหนักให้ดีคือ เมื่อไรก็ตามที่หลอดเลือดแตกขึ้นมา ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 50 หรือไม่ก็ต้องทนทุกข์ทรมานกับ
ภาวะอัมพฤกษ์อัมพาตไปตลอดชีวิตหากมารับการรักษาไม่ทัน สำหรับผม ผู้ที่มีโอกาสทราบว่าตนเองมีภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพองนั้นนับว่าโชคดี ส่วนจะทำอะไรต่อหรือไม่นั้น ผู้ป่วยแต่ละรายย่อมต้องชั่งน้ำหนักให้ดี”
นายแพทย์ฤกษ์ชัยซึ่งให้การรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทั้งในและต่างประเทศ ตระหนักดีถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตัวผู้ป่วยภายหลังภาวะเลือดออกในสมอง “ไม่มีใครยืนยันได้ว่าผนังหลอดเลือดที่โป่งพองนั้นจะแตกหรือไม่ แตกเมื่อไร หรือแตกแล้วจะส่งผลแก่ผู้ป่วยมากน้อยเพียงใด โดยส่วนตัวผม ถ้าผมมีโอกาสได้ทราบถึงความเสี่ยงของตัวเองและมีทางเลือกที่จะลดความเสี่ยงได้ ผมก็เลือกที่จะทำนะ ต้องบอกตรง ๆ ว่าผมเห็นมามากและผมกลัว” นายแพทย์ฤกษ์ชัยกล่าว
ฝากไว้ให้จำ
ความสำคัญของโรคนี้คือเมื่อไรที่หลอดเลือดแตก ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาทันทีเพื่อป้องกันการแตกซ้ำ “สาเหตุที่ต้องรีบพาผู้ป่วยมาส่งถึงมือแพทย์โดยเร็ว ก็เพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดกับสมองให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด และป้องกันการแตกซ้ำของหลอดเลือด เมื่อไรก็ตามที่หลอดเลือดแตกเป็นครั้งที่สองซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นสูงมากภายหลังจากการแตกครั้งแรกไม่นานนัก โอกาสในการเสียชีวิตของผู้ป่วยก็ยิ่งเพิ่มสูงมากขึ้น” จากประสบการณ์ที่ผ่านมา นายแพทย์ฤกษ์ชัยเผยว่า หากมีอาการปวดศีรษะชนิดที่ว่า ‘ไม่เคยปวดแบบนี้มาก่อนในชีวิต’ ต้องรีบมาพบแพทย์ทันทีและอย่างน้อยที่สุดควรได้พบแพทย์ทางด้านประสาทวิทยา
“เราได้เรียนรู้กันเรื่อยมาว่าผู้ป่วยที่หลอดเลือดสมองแตกแล้ว ท่าทางดูยังดี ๆ พูดคุยรู้เรื่อง เดินได้ตามปกติ พวกนี้มักจะพลาดการรักษาไปมาก และถือว่าเป็นกลุ่มที่อันตราย เนื่องจากมักไม่ค่อยได้รับการตรวจอย่างที่ควรจะเป็น เมื่อหลอดเลือดแตกครั้งที่สองมักจะถึงแก่ชีวิต ตรงกันข้ามกับกลุ่มที่อาการแย่มาเลย หมดสติ แขนขาชา ขยับไม่ได้ พวกนี้มาถึงโรงพยาบาลก็ได้รับการดูแลเลยเพราะอาการชัดเจน”
โรคหลอดเลือดสมองโป่งพองเป็นภัยเงียบที่ไม่อาจทราบได้ล่วงหน้า แต่สิ่งสำคัญที่อยากฝากไว้คือ หากมี
อาการปวดศีรษะที่ผิดปกติ (Unusual Headache) แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หรือปวดศีรษะชนิดที่รุนแรงที่สุดในชีวิต (Worst Headache in My Life) อย่ารอช้าควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยในทันที “แม้ในท้ายที่สุดแล้วคุณจะถูกส่งกลับบ้านโดยที่แพทย์บอกว่าไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงก็ไม่ควรละเลย เพราะคุณบอกเองว่าปวดศีรษะแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แพทย์ก็จะต้องนัดคุณกลับมาติดตามดู เพื่อหาสาเหตุของอาการปวดศีรษะที่ผิดปกตินั้นต่อไป” นายแพทย์ฤกษ์ชัยกล่าวทิ้งท้าย
คุณทราบหรือไม่
การที่หลอดเลือดสมองแตกไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยจะต้องมีอาการมาก เช่น อาการวูบ ปวดศีรษะ หมดสติ เช่นเดียวกันเสมอไป บางรายอาจมีเพียงอาการปวดศีรษะมาก ๆ แล้วหายไป ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของหลอดเลือดสมองที่แตก ตามสถิติแล้วผู้ป่วยร้อยละ 25 อาจเสียชีวิตเมื่อหลอดเลือดสมองแตกครั้งแรก และสูงขึ้นเมื่อมีการแตกครั้งที่สอง
อาการแบบนี้ต้องรีบมาพบแพทย์
- ปวดศีรษะแบบผิดปกติ ชนิดที่ไม่เคยเป็นมาก่อน: เราทุกคนย่อม เคยปวดศีรษะ แต่เมื่อไรก็ตามที่ปวดแล้วรู้สึกว่าคราวนี้ต่างออกไป ไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อน
- อาการอื่น ๆ เช่น ปวดศีรษะร่วมกับแขนขาอ่อนแรง แม้ลงท้ายผู้ป่วยจะดูอาการทุเลาลง พูดคุยได้ เดินได้ตามปกติ
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 17 ธันวาคม 2565