bih.button.backtotop.text

โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ TAVI อีกหนึ่งทางเลือก เพื่อการรักษา

ลิ้นหัวใจ เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ควบคุมการไหลเวียนของเลือดภายในหัวใจให้ไปในทิศทางเดียวไม่ให้ย้อนกลับ นั่นคือส่งเลือดดำไปฟอกยังปอดและส่งเลือดแดงไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย

เมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้นที่ลิ้นหัวใจย่อมส่งผลต่อวงจรการไหลเวียนของเลือดซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต โรคลิ้นหัวใจตีบถือเป็นภัยเงียบอีกโรคหนึ่ง เนื่องจากไม่แสดงอาการจนกว่าลิ้นหัวใจจะเกิดการชำรุดเสียหายส่งผลให้มีเลือดคั่งเพิ่มสูงในหัวใจ นำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวและเสียชีวิตเฉียบพลันตามมา
 

 

โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ 

ลิ้นหัวใจของคนเรามีด้วยกัน 4 ลิ้น มีลักษณะเป็นแผ่นพังผืดแบนยื่นออกมาจากผนังของหัวใจกั้นระหว่างห้องต่างๆ ของหัวใจและระหว่างห้องหัวใจกับหลอดเลือดแดงที่ออกจากหัวใจ

“โรคที่เกี่ยวกับลิ้นหัวใจแบ่งออกได้กว้างๆ เป็น 2 แบบ คือโรคลิ้นหัวใจตีบ และโรคลิ้นหัวใจรั่ว โดยโรคลิ้นหัวใจตีบที่พบบ่อยมักเกิดที่ลิ้นหัวใจเอออร์ติก (aortic valve) ซึ่งกั้นระหว่างหัวใจห้องล่างซ้ายกับหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตา (aorta) มีหน้าที่ป้องกันการย้อนกลับของเลือดเข้ามายังหัวใจ” นพ.วัธนพล พิพัฒนนันท์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ เริ่มต้นอธิบายเกี่ยวกับโรคของลิ้นหัวใจ

ทั้งนี้ นพ.วัธนพล เปรียบเทียบให้เห็นภาพว่าลิ้นหัวใจเอออร์ติกนั้นเปรียบเหมือนกับวาล์วน้ำที่อยู่ระหว่างปั๊มน้ำกับท่อเมนที่ส่งน้ำให้กระจายออกไปยังจุดต่างๆ เมื่อวาล์วน้ำไม่เปิดหรือเปิดได้เพียงเล็กน้อย ก็ทำให้น้ำไหลออกไม่สะดวกและเกิดคั่งค้างอยู่ภายใน ซึ่งหากซ่อมแซมไม่ได้ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนวาล์วใหม่

การตีบของลิ้นหัวใจเอออร์ติกนั้นมีด้วยกัน 3 ระดับ คือ ตีบเพียงเล็กน้อย ตีบปานกลาง และตีบรุนแรงคือแทบไม่เปิดเลยซึ่งเป็นระดับที่จำเป็นต้องเปลี่ยนลิ้นหัวใจ เพราะหากไม่ทำอะไรเลยผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ภายใน 2-5 ปี

สาเหตุและอาการ

สาเหตุการตีบของลิ้นหัวใจเอออร์ติกมักเกิดจากความเสื่อมตามธรรมชาติของร่างกาย ทำให้มีหินปูนจับที่ลิ้นหัวใจจนลิ้นหัวใจหนาขึ้นและเปิดได้น้อยลง โรคนี้จึงพบได้บ่อยในผู้สูงอายุโดยผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยแม้เป็นการทำกิจกรรมทั่วไปในชีวิตประจำวัน บางรายอาจเป็นลมหมดสติ หรือมีอาการแน่นหน้าอก เหมือนน้ำท่วมปอด นอนราบไม่ได้

“ผู้ป่วยจะมาด้วยอาการเหนื่อยซึ่งเป็นอาการโดยรวมของโรคหัวใจ และเราจะยังไม่ทราบว่าเป็นความเหนื่อยจากโรคหัวใจชนิดไหนจนกว่าจะได้วินิจฉัยในรายละเอียด” นพ.วัธนพล กล่าวเพิ่มเติม

การวินิจฉัยโรค

สามารถทำได้โดยซักประวัติผู้ป่วย ตรวจร่างกายทั่วไปและตรวจหัวใจโดยเฉพาะ เช่น ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) และตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (echocardiogram หรือ echo) เพื่อประเมินระดับการตีบแคบของลิ้นหัวใจ หากพบว่าตีบระดับ 1 กับ 2 ผู้ป่วยยังไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนลิ้นหัวใจ แต่ถ้าพบว่าลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบรุนแรงมาก แพทย์จะพิจารณารักษาด้วยการเปลี่ยนลิ้นหัวใจใหม่

แนวทางการรักษา

ปัจจุบัน การรักษาโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบสามารถทำได้ 2 วิธีคือ

  • การเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบโดยการผ่าตัด เป็นวิธีมาตรฐานในการรักษาโดยเป็นการผ่าตัดเปิดหน้าอกเพื่อตัดลิ้นหัวใจเก่าออกและเย็บลิ้นหัวใจเทียมเข้าไปแทนที่
  • การเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบผ่านสายสวน โดยไม่ต้องผ่าตัด (Transcatheter Aortic Valve Implantation หรือ TAVI) เป็นการใส่ลิ้นหัวใจเทียมผ่านสายสวนเข้าไปทางหลอดเลือดแดงใหญ่บริเวณขาหนีบ หรือเจาะผ่านผิวหนังส่วนยอดหัวใจ เมื่อสายสวนไปถึงตำแหน่งของลิ้นหัวใจเอออร์ติก แพทย์จะทำการปล่อยลิ้นหัวใจที่ม้วนพับอยู่ออกจากระบบนำส่ง (delivery system) เพื่อให้กางออกกลายเป็นลิ้นหัวใจใหม่แทนของเดิมที่เสื่อมสภาพ

“ถ้าทีมแพทย์พิจารณาแล้วว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการผ่าตัดแบบเปิดหน้าอก เราจะแนะนำวิธีการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด (TAVI)” นพ.วัธนพล พิพัฒนนันท์

การผ่าตัดไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกคน

แม้การผ่าตัดจะเป็นมาตรฐานในการรักษาโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบที่ให้ผลดีมาก แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยทุกรายจะสามารถผ่าตัดได้ เนื่องจากเป็นการผ่าตัดใหญ่ที่ต้องดมยาสลบ มีการใช้เครื่องปอดหัวใจเทียมและใช้เวลาในการ

ผ่าตัดนาน 3-4 ชั่วโมง ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจทนกับการผ่าตัดไม่ได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอายุมาก ผู้ที่เคยได้รับการผ่าตัดในช่องอกมาก่อน และผู้ที่มีโรคประจำตัวหลายโรค ทำให้มีสถิติผู้ป่วยเสียชีวิตจากการผ่าตัดค่อนข้างสูง

“ถ้าทีมแพทย์พิจารณาแล้วว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการผ่าตัดแบบเปิดหน้าอก เราจะแนะนำวิธีการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด (TAVI) แทนเพื่อลดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งวิธีนี้ใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงเศษและผู้ป่วยจะมีแผลเล็กๆ บริเวณที่เจาะผ่านเท่านั้น ทำให้ฟื้นตัวได้เร็ว ใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 5-7 วันก็สามารถกลับบ้านได้ ขณะที่การผ่าตัดต้องใช้เวลาพักฟื้นนาน 2-3 เดือน” นพ.วัธนพล กล่าวสรุป

ทุกความพร้อมเพื่อการดูแลผู้ป่วย

การเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบผ่านสายสวน (TAVI) นั้นจำเป็นต้องอาศัยความพร้อม ความเชี่ยวชาญ และการทำงานร่วมกันของหลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นอายุรแพทย์โรคหัวใจ ศัลยแพทย์โรคหัวใจ วิสัญญีแพทย์ แพทย์ผู้ทำอัลตราซาวนด์ (echo) พยาบาลผู้เชี่ยวชาญหรือทีมกายภาพบำบัด ซึ่งทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้ผ่านการอบรมหัตถการดังกล่าวจากต่างประเทศมาโดยเฉพาะ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโรค ทางเลือกและขั้นตอนในการรักษากับผู้ป่วยและญาติได้อย่างถูกต้องชัดเจน

ทั้งนี้ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ให้ความสำคัญกับคุณภาพและมาตรฐานการดูแลผู้ป่วย โดยผู้ป่วยจะได้รับการดูแลจากทีมเจ้าหน้าที่นับตั้งแต่วินิจฉัยพบโรค มีการประชุมร่วมกันกับครอบครัวทั้งก่อนและหลังการรักษา และมีการติดตามผลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยจะได้รับการดูแลรักษาอย่างดีที่สุดและกลับมามีสุขภาพแข็งแรงต่อไป
 

TAVI เหมาะกับใครบ้าง?

  • ผู้ป่วยที่มีภาวะโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบรุนแรง
  • มีปัจจัยเสี่ยงสูงจากการผ่าตัด ซึ่งแพทย์ผู้ให้การรักษาจะมีมาตรฐานในการประเมินปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว
  • เป็นผู้ป่วยที่คาดว่าจะมีชีวิตยืนยาวเกิน 1 ปี หรือไม่ได้อยู่ในภาวะของโรคมะเร็งระยะลุกลาม
  • ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด มีภาวะหลอดเลือดแดงเอออร์ตาแข็ง หรือเคยผ่าตัดหัวใจมาก่อน
  • ผู้ป่วยสูงอายุ โดยเฉพาะที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs