ไตเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากมีหน้าที่กรองของเสียออกจากกระแสเลือดแล้วขับออกทางปัสสาวะ รักษาสมดุลของเหลวในร่างกายด้วยการควบคุมปริมาณน้ำและแร่ธาตุ ควบคุมความดันโลหิต รวมถึงผลิตฮอร์โมนต่างๆ ที่จำเป็นในการสร้างเม็ดเลือดแดงและเสริมสร้างกระดูก หากไตถูกทำลายก็จะส่งผลให้ความสามารถในการทำหน้าที่เหล่านี้ลดลงจนถึงขั้นไม่สามารถทำงานได้อีกต่อไป หรือที่เรียกกันว่าภาวะไตวาย
เมื่อไตไม่ทำงาน
เมื่อเกิดภาวะไตวาย ของเสียและน้ำจะคั่งค้างอยู่ในร่างกายของผู้ป่วยส่งผลให้เกิดอาการต่างๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนแรง เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ผิวแห้ง คัน กล้ามเนื้อเป็นตะคริวตอนกลางคืน ปัสสาวะลดลง ตัวบวม ตาบวม น้ำท่วมปอด หายใจไม่ถนัด นอนราบไม่ได้ ความดันโลหิตสูง มีภาวะซีด เลือดจาง และอาจถึงขั้นหมดสติและเสียชีวิตได้
เมื่อไตไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ การรักษาจำเป็นต้องเริ่มที่สาเหตุของการเกิดโรคเสียก่อน เช่น หยุดการใช้ยาบางชนิดที่มีผลเสียกับไต ควบคุมความดัน ควบคุมเบาหวาน ควบคุมอาหารที่ทำให้ปริมาณเกลือแร่ผิดปกติ นอกจากนี้ยังมีการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เช่น แพทย์อาจให้ยาบางชนิดเพื่อช่วยควบคุมปริมาณน้ำและเกลือแร่ ให้ยาขับปัสสาวะ เสริมวิตามินหรือธาตุเหล็กหากมีภาวะซีด รวมถึงฉีดฮอร์โมนกระตุ้นเม็ดเลือด
แต่หากผู้ป่วยมีภาวะไตวาย ทางเลือกในการรักษามีเพียงการบำบัดทดแทนไตเท่านั้นซึ่งสามารถทำได้ 3 วิธี ได้แก่ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (hemodialysis) การล้างไตทางผนังช่องท้อง (peritoneal dialysis) และการผ่าตัดปลูกถ่ายไต (kidney transplantation)
การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
ปัจจุบัน การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากสามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องรอการปลูกถ่ายอวัยวะ และเป็นการบำบัดในโรงพยาบาลภายใต้การดูแลของบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งจะช่วยลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนลงได้ เช่น ผู้ป่วยอาจได้รับการยาฆ่าเชื้อก่อนในกรณีที่มีโอกาสติดเชื้อ มีการตรวจติดตามความดันโลหิตและปริมาณเกลือแร่ในร่างกายเป็นระยะ มีการตรวจติดตามการเต้นของหัวใจในกรณีที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมเหมาะกับใครบ้าง
• ผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และไม่มีผู้ช่วยสำหรับการล้างไตด้วยตัวเองที่บ้าน
• ผู้ป่วยเคยได้รับการผ่าตัดช่องท้องมาก่อน
• มีโรคปวดหลังเรื้อรัง
• มีภาวะไส้เลื่อนออกมาทางผนังหน้าท้อง
• ผู้ป่วยที่สะดวกจะเดินทางมายังศูนย์ไตเทียม สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง แต่ละครั้งใช้เวลา 4-5 ชั่วโมง
ข้อดีของการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
สามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องรอการเปลี่ยนอวัยวะ เป็นการบำบัดในโรงพยาบาลภายใต้การดูแลของบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งจะช่วยลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนลงได้ โดยแพทย์จะมีการตรวจติดตามความดันโลหิตและปริมาณเกลือแร่ในร่างกายเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง มีการตรวจติดตามการเต้นของหัวใจในกรณีที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
ขั้นตอนการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
ก่อนการฟอกเลือด ผู้ป่วยจะได้รับการเตรียมหลอดเลือดเพื่อใช้ในการฟอกเลือด ซึ่งมี 3 วิธี ได้แก่
- การผ่าตัดนำหลอดเลือดดำต่อกับหลอดเลือดแดงบริเวณแขน หรือการทำ A-V fistula เพื่อให้หลอดเลือดดำใหญ่ขึ้น และมีแรงดันมากพอที่จะฟอกเลือด หลังผ่าตัดต้องรอประมาณ 2-3 เดือน เพื่อให้หลอดเลือดดำขยายตัวและมีความหนามากพอ
- การผ่าตัดต่อหลอดเลือดดำกับหลอดเลือดแดงโดยใช้หลอดเลือดเทียมหรือ AV Graft หลังผ่าตัดอาจต้องรอประมาณ 1-2 สัปดาห์ก่อนการใช้งานหรือจนกว่าจะยุบบวม
- การใส่สายสวนหลอดเลือดเข้าไปในหลอดเลือดดำขนาดใหญ่ เพื่อต่อกับเครื่องไตเทียม สามารถใช้งานได้ทันทีหลังการใส่สาย
การฟอกเลือดไม่น่ากังวลอย่างที่คิด
โดยทั่วไป ผู้ป่วยสามารถเข้ารับบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมได้โดยไม่ต้องเตรียมตัวเป็นพิเศษ ยกเว้นผู้ป่วยบางรายที่แพทย์แนะนำให้งดรับประทานยาบางชนิดก่อน เช่น ยาลดความดัน หรือให้งดอาหารระหว่างการฟอกเลือดเพื่อป้องกันการสำลัก โดยระหว่างการฟอกเลือดผู้ป่วยจะได้รับการดูแลจากแพทย์และพยาบาลอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ การดูแลตัวเองของผู้ป่วยก็นับว่าสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการดูแลเส้นฟอกเลือดตามคำแนะนำของแพทย์ การประเมินร่างกายตัวเองอย่างสม่ำเสมอ การรับประทานอาหารซึ่งต้องลดหวาน ลดมัน ลดเค็ม เน้นโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้อย่างเหมาะสม เพียงเท่านี้ ผู้ป่วยภาวะไตวายก็สามารถมีชีวิตที่ยืนยาวอย่างมีคุณภาพได้ไม่ยาก
เรียบเรียงโดย นพ. ทัตพงศ์ จิตเอื้ออารีย์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไตวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 02 มกราคม 2565